"มาซาโยชิ โอตาคิ" : ว่าด้วย "ครูโรงเรียนเทคนิค" ที่ปั้นนักเตะไประดับโลก

Home » "มาซาโยชิ โอตาคิ" : ว่าด้วย "ครูโรงเรียนเทคนิค" ที่ปั้นนักเตะไประดับโลก
"มาซาโยชิ โอตาคิ" : ว่าด้วย "ครูโรงเรียนเทคนิค" ที่ปั้นนักเตะไประดับโลก

“ผมอยากเป็นครู ไม่ได้อยากเป็นบุคลากรทางการศึกษา” มาซาโยชิ โอตาคิ กล่าวกับ NHK

หากพูดถึงชื่อของ มาซาโยชิ โอตาคิ อาจจะไม่ได้เป็นชื่อที่คุ้นหู แม้แต่คนที่ติดตามฟุตบอลญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน เพราะเขาไม่ได้เป็นนักเตะทีมชาติ หรือกุนซือสโมสรดัง แต่เป็นเพียงอดีตครูของชมรมฟุตบอลของโรงเรียนอาชีวะแห่งหนึ่งในจังหวัดชิซุโอกะ 

อย่างไรก็ดี ครูบ้านๆคนนี้ กลับสามารถสร้างนักเตะขึ้นไปติดทีมชาติญี่ปุ่นได้ไม่น้อยกว่า 12 คน ซึ่งล้วนเป็นระดับตำนาน ไม่ว่าจะเป็น ฮิโรชิ นานามิ, โยชิคัตสึ คาวางุจิ หรือ ชินจิ โอโนะ ที่เคยไปค้าแข้งในยุโรป

เขาทำได้อย่างไร? ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

อดีตกัปตันชมรม 

แม้ว่าหากเทียบกับเบสบอล ฟุตบอลอาจจะไม่ใช่กีฬายอดนิยมของคนญี่ปุ่นในยุค 60s แต่อาจจะเป็นข้อยกเว้นสำหรับจังหวัดชิซุโอกะ เมื่อเกมลูกหนังคือกีฬาที่คนจังหวัดนี้เล่นกันทั่วบ้านทั่วเมือง 

1

เช่นกันกับ มาซาโยชิ โอตาคิ ที่ตกหลุมรักในฟุตบอลเหมือนกับคนที่นี่ เขาเริ่มเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะเฉิดฉายในสีเสื้อของโรงเรียนพาณิชย์ชิมิซึ ภายใต้การดูแลของโค้ช ยาสุฟุมิ โทมาเบชิ

เขามีฝีเท้าที่โดดเด่น จนได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันทีมตอน ม.6 และเขาก็ตอบแทนความไว้ใจของโค้ช ด้วยการพาทีมผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติฤดูร้อน หรืออินเตอร์ไฮ รอบสุดท้าย ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในปี 1969 

ไม่ใช่แค่นั้น เมื่อพาณิชย์ชิมิซึภายใต้การนำของกัปตันโอตาคิ ยังสามารถประกาศศักดา หักปากกาเซียนจนทะลุเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายพวกเขาไปไม่ถึงฝั่ง หลังพ่ายให้กับโรงเรียนอุราวะมินามิ จากไซตามะ ไปด้วยสกอร์ 2-4

อย่างไรก็ดี ความพ่ายแพ้ในครั้งนั้นไม่ได้เป็นจุดจบของโอตาคิ เมื่อหลังจากนั้นเขามีโอกาสได้แก้ตัวในฐานะโค้ช หลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลชมรมฟุตบอลต่อจากโค้ชโทเมบาชิ ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เขาถูกบรรจุเป็นครูคนใหม่ของพาณิชย์ชิมิซึในปี 1974

2

โอตาคิ เดินหน้ายกเครื่องชมรมฟุตบอลอย่างจริงจัง เขาเริ่มต้นด้วยการส่งผู้จัดการทั่วไปไปเรียนรู้เมนูการฝึกจากโรงเรียนชิมิซึ ฮิงาชิ มหาอำนาจของจังหวัดในช่วงเวลานั้น พร้อมกับฟังทฤษฎีฟุตบอลจาก มิโนรุ นางาอิเคะ โค้ชดังของโรงเรียน ฟูจิเอดะ ฮิงาชิ

และความพยายามของเขาก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อสามารถปลุกปั้น ยาชิโร คาซามะ ขึ้นไปติดทีมชาติได้เป็นคนแรก หลังถูกเรียกติดธงเยาวชนญี่ปุ่นชุดชิงแชมป์เยาวชนโลกในปี 1979 ก่อนที่ลูกศิษย์ของเขาคนนี้จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติญี่ปุ่นในยุค 80s 

ก่อนที่มันจะจะปูทางไปสู่ความยิ่งใหญ่ของพาณิชย์ชิมิซึ เมื่อสามารถก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ฤดูหนาวได้เป็นครั้งแรกในปี 1985 และอีก 2 ครั้งในปี 1988 และ 1993 เช่นกันกับแชมป์อินเตอร์ไฮอีก 4 ครั้งในปี 1989, 1990, 1994 และ 1996 

3

นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นเหมือนแหล่งบ่มเพาะนักเตะฝีเท้าดี เมื่อสามารถผลิตนักเตะสู่ทีมชาติญี่ปุ่นได้อย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ โทชิยะ ฟูจิตะ, ฮิโรชิ นานามิ, โยชิคัตสึ คาวางุจิ หรือหนึ่งในแข้งอัจฉริยะของญี่ปุ่นที่เคยไปค้าแข้งในยุโรปอย่าง ชินจิ โอโนะ  

เขามีเคล็ดลับอะไร ทั้งที่ไม่ใช่ครูพละหรือโค้ชอาชีพ?

หาคำตอบด้วยตัวเอง 

สมัยก่อน โอตาคิ ก็เหมือนกับโค้ชกีฬาในยุคเก่า ที่ใช้การลงโทษทางร่างกายในการผลักดันลูกศิษย์ แต่การได้พบกับ ยาชิโร คาซามะ ทำให้เขาเปลี่ยนความคิด หลังรู้สึกว่าวิธีของเขาทำให้เด็กขาดความเป็นผู้นำกล้าคิดกล้าทำ

4

“สำหรับกีฬา จังหวะและการหายใจเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับจุดโทษโคโระโคโระของ (ยาสุฮิโตะ) เอ็นโด แน่นอนว่ามันมีพรสวรรค์ตามธรรมชาติ แต่มันก็ต้องอ่านจังหวะให้เก่ง การได้เห็น ยาชิโร ทำให้ผมได้รู้ขีดจำกัดพลังของตัวเอง” โอตาคิย้อนความหลังกับ Sport Navi 

“เพราะว่าเด็กๆมีพรสวรรค์และมีเซนส์ ดังนั้น แทนที่ผมจะสอนจากข้างบนลงมา ควรจะหาวิธีพัฒนาพลังที่ไม่สิ้นสุดพวกเขาจะดีกว่า ผมจึงคิดใหม่เพื่อศึกษาวิธีนั้น”

ทำให้เขาปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกใหม่ โดยเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน ก่อนจะพบว่าวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่เขาใช้สอนนักเรียนในวิชาธุรกิจของเขา นั่นก็คือให้เด็กคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง 

โอตาคิ มักจะโยนคำถามให้ผู้เล่นในระหว่างซ้อม เช่น “จุดอ่อนของแกคืออะไร?” หรือ “ทำไมผู้เล่นอยู่ตำแหน่งนั้น?” แต่ไม่จำเป็นต้องมาตอบให้เขาฟัง เขาบอกว่าถ้าบอกคำตอบทันที มันไม่มีประโยชน์ เพราะพวกเขาจะไม่เรียนรู้ 

และมันก็ทำให้คำว่า “จงคิด” กลายเป็นคำที่นักเรียนของเขาได้ยินอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะในห้องเรียนหรือสนามซ้อม 

“คำตอบที่เราคิดได้ด้วยตัวเอง มันจะทำให้เราเป็นตัวเรา” โอตาคิอธิบายกับ NHK 

5

อย่างไรก็ดี ตอนที่ถามนักเรียน เขาจะไม่ใช้วิธีถามรวมเป็นกลุ่ม แต่จะเรียกลูกศิษย์มาถามเป็นรายบุคคล โอตาคิให้เหตุผลว่า ถ้าถามรวม ผู้เล่นจะไม่ตระหนักถึงปัญหาของตัวเอง

ดังนั้น เพื่อให้สิ่งที่เขาต้องการสื่อไปถึงผู้เล่น การคุยแบบตัวต่อตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น มันคือความละเอียดและพิถีพิถันในการฝึกฝนนักเตะของโอตาคิ ไม่ว่ามันจะใช้เวลามากแค่ไหนก็ตาม

“บางทีผมก็ไม่เข้าใจเท่าไรเวลาเขาสอน แต่มันพึ่งพาได้เวลาแข่ง และทำให้ผมไม่มีวันลืมสิ่งที่คิดได้” โยชิคัตสึ คาวางุจิ ผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่นที่เคยผ่านฟุตบอลโลก 3 สมัยกล่าวกับ NHK 

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้นักเตะของเขาพัฒนา

เรียนรู้จากความผิดพลาด 

สำหรับกีฬาประเภททีม ความสมัครสมานกลมเกลียวกันระหว่างผู้เล่นคือสิ่งสำคัญ เพราะมันอาจชี้เป็นชี้ตายได้ แต่สำหรับโอตาคิ เขามักใช้วิธีที่อาจทำให้เกิดความแตกแยกในทีม นั่นคือการให้ผู้เล่นแต่ละคนมาบอกข้อดีข้อเสียของเพื่อนร่วมทีมต่อหน้าทุกคน

มันคือสิ่งที่สามารถพบเห็นได้เป็นปกติในระหว่างซ้อมของพาณิชย์ชิมิซึ ที่นักเตะจะตะโกนบอกข้อเสียหรือจุดด้อยของเพื่อนร่วมทีมโดยไม่ต้องเกรงใจกัน เพราะยิ่งเห็นข้อผิดพลาดเท่าไร ก็ยิ่งทำให้นักเตะสามารถแก้ไขได้ถูกจุด

โอตาคิ มองว่าถ้าไม่ยอมชี้ข้อผิดพลาด ทีมก็ไม่มีวันที่พัฒนา ในขณะเดียวกันมันยังถือเป็นน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทีม ที่ไม่ปล่อยปัญหาไว้อย่างนั้น เป็นโอกาสให้เขาได้ปรับปรุงตัว 

“ตอนนี้เป็นเวลาที่พวกเขาสามารถเติบโตได้” โอตาคิให้เหตุผลกับ NHK 

6

อย่างไรก็ดี เป็นธรรมดาที่การพูดอะไรตรงๆอาจทำให้เกิดข้อขัดแย้ง และอาจทำให้เกิดความแค้นเคืองหรือถึงขั้นทะเลาะกัน เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถยอมรับข้อเสียของตัวเอง แต่ โอตาคิ ก็คิดว่ามิตรภาพจะเริ่มต้นจากการฝึกอย่างจริงจัง และเผชิญหน้ากันตรงๆ   

แต่ถ้าหากให้ไปคิดแล้ว หรือให้เพื่อนบอกข้อดีข้อเสียแล้ว นักเตะก็ยังหาคำตอบของตัวเองไม่เจอ โอตาคิ ก็ใช้วิธีให้พวกเขาได้เรียนรู้ความผิดพลาดจากประสบการณ์จริงในสนามแข่ง 

เขาเล่าว่าครั้งหนึ่ง นักเรียนของเขาประสบปัญหาเรื่องนี้ในระหว่างรอบคัดเลือกฟุตบอลอินเตอร์ไฮ เขาจึงตัดสินใจส่งนักเรียนคนนั้นลงเล่นในเกมนัดสำคัญ ทั้งที่ไม่ได้ซ้อมมากนัก

7

แน่นอนว่ามันมีโอกาสที่จะทำให้เขาเล่นไม่ออก หรือทำผลงานได้ไม่ดี แต่การสัมผัสสนามจริง ได้ทำให้เขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในเกมนั้นว่าเขามีจุดอ่อนตรงไหน หรือเทคนิคแบบไหนที่ใช้กับคู่แข่งไม่ได้

มันยังสอนให้เขาได้รู้ว่าต้องพยายามอีกแค่ไหน ถึงจะไปถึงจุดนั้นได้ หรือต้องพัฒนาตัวเองในด้านไหน และทำให้นักเตะภายใต้การดูแลของเขาไปได้ไกลกว่าการเป็นแค่นักเตะในชมรมฟุตบอลธรรมดา  

“ในการแข่งขัน คนที่จะชนะคือคนที่ไล่ต้อนตัวเองไปจนถึงจุดที่พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง  และทำให้พวกเขามีค่าพอที่จะสวมยูนิฟอร์มของทีม” โอตาคิกล่าวต่อ

อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้สอนแค่วิธีการเล่นฟุตบอลเท่านั้น

จงเป็นมนุษย์ก่อน แล้วค่อยเล่นฟุตบอล 

แม้ว่า โอตาคิ จะสร้างชื่อจากการเป็นโค้ชที่ปลุกปั้นนักเตะสู่ให้กับฟุตบอลญี่ปุ่นได้อย่างต่อเนื่อง แต่เขาก็พร่ำบอกเสมอว่าตัวเองไม่ใช่โค้ช แต่คือ “ครู” มันเป็นอาชีพที่เขารักและทุ่มเทให้กับมันไม่แพ้งานโค้ช 

“ผมอยากเป็นครู ไม่ได้อยากเป็นบุคลากรทางการศึกษา” โอตาคิอธิบาย 

8

และความเป็นครูนี้ ก็ทำให้เขาเป็นโค้ชที่เคร่งครัดเรื่องกฎระเบียบเป็นพิเศษ ที่ไม่ใช่แค่ในสนามซ้อม แต่ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิตทั้งในและนอกโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายหรือมารยาทการกล่าวคำทักทาย

สำหรับโอตาคิ การรักษากฎคือเรื่องสำคัญ นักเรียนของเขาต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด และจะไม่มีที่ยืนสำหรับคนที่แหกกฎอย่างเด็ดขาด เขาพร้อมที่จะไล่นักเตะออกจากทีมทันที โดยไม่สนว่าเป็นผู้เล่นสำคัญ 

โอตาคิเล่าว่าเขาเคยเฉดหัวนักเตะตัวหลักคนหนึ่งที่ทำผิดกฎออกจากทีม ทั้งที่วันรุ่งขึ้นกำลังจะแข่งอินเตอร์ไฮรอบคัดเลือก เขาบอกว่าหากรักษากฎไม่ได้ ชัยชนะก็ไม่มีความหมาย

“ผมเองเวลามีใครพูดใส่ก็อารมณ์ขึ้นทันที แต่คำพูดและการกระทำของโอตาคิเซนเซไม่เคยขัดแย้งกัน ผมจึงฟังเขาอย่างตรงไปตรงมา” ชินจิ โอโนะ ย้อนความหลัง 

9

หนึ่งในตัวอย่างของกฏที่เคร่งครัดของโอตาคิ คือห้ามใส่รองเท้าเหยียบส้น เนื่องจากตามปกติแล้ว รองเท้านักเรียนญี่ปุ่น จะมีอายุการใช้ที่ค่อนข้างยาวนาน เพราะเป็นรองเท้าที่ใช้ตอนอยู่นอกโรงเรียนเท่านั้น (ในโรงเรียนจะต้องเปลี่ยนเป็นรองเท้าสำหรับเดินในอาคาร) กฎข้อนี้จึงมีขึ้นเพื่อไม่ให้รองเท้านั้นพังเร็ว 

ซึ่งโอตาคิ ก็มีวิธีการตรวจสอบง่ายๆ คือทุกวันก่อนซ้อม นักเรียนจะต้องเอารองเท้ามาให้เขาตรวจ โดยเช็กจากรอยย่นที่ส้นเท้า ซึ่งหากใครทำผิดกฎ เขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมซ้อมในวันนั้นทันที 

มันคือวิธีการสอนผู้เล่นแบบ โอตาคิ ที่ทำให้นักเรียนของเขาได้เรียนรู้ทั้งทักษะฟุตบอลและทักษะในการใช้ชีวิตไปพร้อมกัน จนสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้

“ผมได้เรียนรู้สิ่งสำคัญมากมายอย่าง ความเป็นมนุษย์ จากโอคาคิเซนเซ ทั้งการใช้ชีวิตและวิธีการคิด” คาวางุจิกล่าว

ครูชั่วชีวิต 

มองจากภายนอก โอตาคิ อาจจะเป็นโค้ชมาดดุ ที่ตะโกนว่านักเรียนของเขาจากข้างสนาม แต่ลึกลงไปข้างในมันคือความปรารถนาดีที่จะทำให้ศิษย์เติบโต และมีความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ 

ทำให้ไม่ว่าจะโดนเขาดุด่าแค่ไหน แต่หลายคนก็ยังติดต่อกับเขาอยู่เสมอหลังจากเรียนจบไปแล้ว แถมบางครั้งเขายังคอยให้คำแนะนำเวลาที่ลูกศิษย์ต้องเจอกับปัญหาที่หนักหนา หรือมืดแปดด้านจนหาทางออกไม่เจอ 

ยกตัวอย่างเช่นตอนที่ ชินจิ โอโนะ ได้รับบาดเจ็บหนักตอนเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นในรอบคัดเลือกโอลิมปิก 2000 เมื่อปี 1999 เขารู้สึกเครียดมาก เพราะมันคือการบาดเจ็บหนักครั้งแรกๆนอาชีพของเขา แต่สายจากโอตาคิที่บอกกับเขาว่า “การบาดเจ็บเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว” ก็ทำให้เขาผ่อนคลายลง 

10

“ผมรู้สึกผ่านพ้นช่วงเวลาแย่ๆมาได้ ทำให้ผมสามารถเล่นได้ไม่ว่าจะเจอช่วงเวลาที่ยากลำบากแค่ไหนก็ตาม” โอโนะกล่าวกับ NHK 

เช่นกันกับ โยชิคัตสึ คาวางุจิ ที่ได้คำปลุกใจของ โอตาคิ ช่วยชีวิตเอาไว้ ที่ไม่ใช่แค่เขาคนเดียวแต่ยังรวมถึงทีมชาติญี่ปุ่นที่กำลังหมดหวังในการผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1998 

คาวางุจิ เล่าว่าในตอนที่ทีมชาติญี่ปุ่นกำลังย่ำแย่ หลังคว้าชัยไปแค่เกมเดียวจาก 4 นัดแรกในรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย เขาได้รับแฟ็กซ์จากอาจารย์ของเขา 

“ช่วงเวลาที่ยากเย็น เด็กญี่ปุ่นจะแสดงให้เห็นความแข็งแกร่ง อย่าวิ่งหนี เผชิญหน้าไปตรงๆ เชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมทีม” ข้อความในแฟ็กซ์ระบุ 

เขาบอกว่าข้อความจากโอตาคิ ทำให้เขาและทีมชาติญี่ปุ่นฮึดสู้ จนสามารถจบในอันดับ 2 ของกลุ่ม ก่อนจะเอาชนะอิหร่านได้ในรอบเพลย์ออฟ ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

“ผมอ่านมันทั้งน้ำตา พวกเราลืมสิ่งนี้ไปแล้ว มันยังไม่จบเสียหน่อย มันเป็นคำพูดที่เป็นเอกลักษณ์ของ โอตาคิเซนเซ” คาวางุจิ ย้อนความหลังกับ NHK 

11

แม้ว่าปัจจุบัน โอตาคิ จะเกษียณจากอาชีพครูมาตั้งแต่ปี 2011 แต่เขายังคงอยู่ในวงการฟุตบอลมัธยมปลายญี่ปุ่น หลังรับงานพาร์ตไทม์เป็นโค้ชให้กับโรงเรียนชิมิซึ ซากุระงะโอกะ ที่เป็นการควบรวมระหว่างโรงเรียนพาณิชย์ชิมิซึ โรงเรียนเก่าของเขา และโรงเรียนอิฮาระที่อยู่ในเมืองเดียวกัน 

แต่ถึงอย่างนั้น ปรัชญาของเขาก็ยังคงเดิม นั่นคือไม่ได้สร้างนักกีฬา แต่สร้าง “มนุษย์” ที่มีความแข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้เขาสามารถเอาตัวรอดในสังคมอันเข้มงวดของญี่ปุ่นได้ 

และสิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าจิตวิญญาณความเป็น “ครู” ของเขาไม่เคยเปลี่ยนไปเลย 

12

“สิ่งที่ผมทำคือสอนให้เด็กได้รู้ถึงความสำคัญของการใช้ชีวิต และมุ่งมั่นในช่วงเวลานี้” โอตาคิ กล่าวกับ Sport Navi  

“แต่ถึงอย่างนั้น เด็กในยุคนี้ชอบพูดว่า ‘ผมไม่ชอบตอนนี้เพราะผมมีจุดหมายอยู่แล้ว’ และพยายามทำหลายๆอย่างให้ลุล่วงให้เร็วที่สุด แต่อนาคตที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเท่านั้น”  

“กีฬาคือสัญลักษณ์ของสิ่งนั้น ในช่วงชีวิตการเป็นโค้ชเกือบ 40 ปีของผม มีหลายครั้งที่ผมตะโกนดุผู้เล่น แต่นั่นคือสิ่งที่ผมอยากถ่ายทอดความยอดเยี่ยมของการทำงานหนัก”

“ถ้าคุณอยากจะขึ้นไประดับสูง คุณต้องใช้ความพยายามพอสมควร นานามิ และ คาวางุจิ ได้ขึ้นมาเป็นทีมชาติญี่ปุ่น ก็เพราะตระหนักถึงเรื่องนั้น พวกเขาเล่นฟุตบอลไปพร้อมกับสามารถควบคุมตัวเองได้” 

“ช่วงเวลามัธยมปลายมันแค่ 3 ปีก็จริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น มันมีผลต่อชีวิตหลังจากนั้นอย่างมหาศาล”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ