มะแงว ไม้ป่าหากินยาก รสเปรี้ยวอมหวาน หนึ่งปีออกผลครั้งเดี่ยว ออเดอร์เต็ม มีไม่พอขาย

Home » มะแงว ไม้ป่าหากินยาก รสเปรี้ยวอมหวาน หนึ่งปีออกผลครั้งเดี่ยว ออเดอร์เต็ม มีไม่พอขาย



นครราชสีมา มะแงว ไม้ป่าหากินยาก หนึ่งปีออกผลครั้งเดี่ยว ออเดอร์เต็ม ได้รับความนิยมสูง มีเท่าไรก็ไม่พอขาย ชาวบ้านเริ่มเพาะปลูก

24 เม.ย. 66 – ที่บริเวณข้างบ้านเลขที่ 289 หมู่ที่ 5 ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านของนายยง ไฮกระโทก อายุ 73 ปี มีต้นไม้ป่าหายากชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเพียงต้นเดียว

ซึ่งชาวบ้านแถบนี้เรียกกันว่าต้น “คอแลน” หรือ “มะแงว” หรือ อีกชื่อหนึ่งคือ “ลิ้นจี่ป่า” เป็นไม้ป่าออกลูกเป็นพวงลูกสุกมีสีแดงสดใส ลักษณะคล้ายกับลิ้นจี่ แต่ลูกมีขนาดเล็กกว่ามาก ขนาดประมาณหัวแม่มือต่อลูก มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน

ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงต้นเดียว แต่ก็สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวนี้ปีละหลายพันบาท เนื่องจากแต่ละปีจะติดลูกเพียงครั้งเดียวในช่วงฤดูร้อน เป็นที่นิยมอย่างมากของชาวบ้าน และหากินได้ยากมาก เพราะตอนนี้ต้น คอแลน ลิ้นจี่ป่า หรือ มะแงว นั้น ไม่ได้มีให้เห็นได้ทั่วไป

โดยในแต่ละปี คอแลนต้นนี้ จะมีคนสั่งออเดอร์มาตลอดจนหมดฤดูกาล เรียกได้ว่า มีเท่าไรก็ไม่พอขายกันเลยทีเดียว

นายยง ไฮกระโทก กล่าวว่า คอแลนต้นนี้ เกิดขึ้นมาด้วยความบังเอิญ เนื่องจากตนเองได้ซื้อลูกมากิน แล้วทิ้งเอาไว้ข้างบ้าน ผ่านไปนานหลายปี คอแลนก็เริ่มออกลูกให้กิน จากนั้นเมื่อมีคนเห็นก็เริ่มมาขอซื้อ และมีการบอกต่อจนมีคนมารอสั่งจองกันตลอดทุกปี บางครั้งก็โพสต์ขายตามสื่อออนไลน์ ได้รับความนิยมอย่างมาก

ตอนนี้ผ่านมา 8 ปีแล้ว คอแลนต้นนี้เริ่มเก็บผลผลิตได้ 6 ปี ทำเงินให้ครอบครัวไปแล้วเกือบ 20,000 บาท จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 30 -40 บาท แล้วแต่ความต้องการของตลาด เฉพาะปีนี้คราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท เนื่องจากปีนี้อากาศร้อนและแล้งจัด คอแลน ติดลูกน้อยกว่าทุกปี

คาดว่าน่าจะได้มากกว่า 3,000 บาท ซึ่งแม้ว่าจะเป็นรายได้ที่ไม่มากนัก แต่ก็ถือเป็นรายได้ที่งอกเงยขึ้นมาได้โดยไม่ต้องลงทุน เพราะปล่อยเอาไว้เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องดูแลอะไรมากเป็นพิเศษ

ด้าน นายอุทัย หนูวุ่น เกษตรอำเภอครบุรี กล่าวว่า มะแงว หรือ ภาษาราชการเรียกว่า คอแลน นั้น เป็นผลไม้ประจำถิ่น เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับลิ้นจี่ ปัจจุบันหายาก จึงได้รับความนิยมสูง ราคาจำหน่ายก็สูงตามไปด้วย เพราะแต่ละปีจะมีให้กินเพียงครั้งเดียว เป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้กระแสไม้ป่าหายากเริ่มได้รับความสนใจจากชาวบ้านในชนบทที่เริ่มพากันหามาเพาะปลูกประดับเอาไว้ภายในบริเวณบ้าน เนื่องจากได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภค อีกทั้งช่องทางการจำหน่ายก็สามารถใช้สื่อออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ขายได้ ทำให้ช่องทางการตลาดกว้างกว่าปกติ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ