มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ พรากชีวิต อ๋อม อรรคพันธ์ หมอเผยในไทยพบ 5-7 คนต่อปี พบได้น้อยมากในประชากรทั่วโลก
จากกรณีของ อ๋อม อรรคพันธ์ นะมาตร์ พระเอกชื่อดัง ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ และเข้ารับการรักษามาตั้งแต่ปี 2565 ก่อนอาการทรุดและเสียชีวิตลงด้วยอายุเพียง 39 ปี สร้างความโศกเศร้าให้กับครอบครัว เพื่อนในวงการ รวมถึงแฟนคลับเป็นอย่างมาก
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ก็ได้ออกมาแสดงความเสียใจอย่างยิ่งสำหรับการสูญเสียในครั้งนี้ พร้อมกับเผยด้วยว่า จากสถิติทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก แต่มีโอกาสพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย มีอัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 0.1 ต่อประชากร 1 ล้านคน
สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่ 5-7 คนต่อปี มะเร็งหัวใจส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ผนังหลอดเลือด (Angiosarcoma) ส่วนที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจเรียกว่า Rhabdomyosarcoma ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลแสดงความเชื่อมโยงว่าอาจสัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
อาการของโรคโดยทั่วไปมักจะไม่มีอาการเฉพาะ แต่อาจมีลักษณอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคหัวใจร่วมกับอาการของโรคมะเร็ง โดยเป็นอาการเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไอมีเสมหะมักเป็นเสมหะสีขาว บวมรอบตา ขาและเท้าบวม เป็นต้น
ขณะที่ เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยว่า โดยทั่วไปการตรวจวินิจฉัยโรคมักเจอในระยะที่โรคลุกลามไปมากแล้ว ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะเริ่มทำการซักประวัติอาการของผู้ป่วย ตรวจฟังเสียงเต้นของหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเอคโคหัวใจ ตรวจภาพหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI) ตลอดจนการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง
ในด้านการรักษามะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ พบว่า มักไม่ค่อยตอบสนองต่อการฉายแสงและการให้ยาเคมีบำบัด แพทย์จึงต้องใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกด้วยการผ่าตัดเปิดหัวใจโดยตรง
นอกจากนี้การพยากรณ์โรคมักจะไม่ค่อยดี โดยผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง การลุกลามของโรค การผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด ตลอดจนการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาเคมีบำบัด เป็นต้น
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ พบได้น้อยมากในประชากรทั่วโลก และยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด ส่งผลให้ไม่มีข้อมูลด้านการป้องกันและการตรวจคัดกรองโรค