กลายเป็นมหากาพย์แห่งการเมืองไทยไปแล้ว สำหรับคดีถือหุ้นสื่อ ITV ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นความพยายามปลุกผี ITV ขึ้นมาเพื่อทำลายเส้นทางการเมืองของนักการเมืองเลือดใหม่ แม้ตอนแรกพิธาจะยืนยันหนักแน่นว่าไม่หนักใจ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเอกฉันท์ สั่งพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จนสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลของพิธาในที่สุด
- ประวัติ ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หนุ่มนักเรียนทุนฮาร์วาร์ดคนแรกของไทย
- เปิดไทม์ไลน์หุ้นสื่อ ITV ขวางพิธาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม พิธาจะเข้าฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีถือหุ้นสื่อ ITV ในวันพุธที่ 24 มกราคม 2567 นี้ ซึ่งก่อนที่เราทุกคนจะได้ฟังคำตัดสินของศาล Sanook ก็ขอพาทุกคนย้อน “มหากาพย์ปลุกผี ITV” ไทม์ไลน์คดีถือหุ้นสื่อของพิธา ก่อนศาลจะชี้ชะตาวันที่ 24 มกราคมนี้!
ไทม์ไลน์คดีถือหุ้น ITV ของ “พิธา”
24 เม.ย. 66
กลายเป็นข่าวใหญ่ข่าวร้อนในทันที เมื่อนิกม์ แสงศิรินาวิน อดีตผู้สมัคร สส.พรรคอนาคตใหม่ ปี 2562 และอดีตผู้สมัคร สส.พรรคภูมิใจไทย ปี 2566 ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก พร้อมแนบเอกสารเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า
“นักการเมืองที่กำลังถือหุ้น ITV เตรียมตัวประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และมอบตัว กกต. ด้วยนะครับ หัวหน้าพรรคหนึ่งถือหุ้น 42,000 หุ้น”
- “นิกม์ แสงศิรินาวิน” คือใคร จากคนอนาคตใหม่ สู่ผู้โพสต์เปิดปมหุ้นไอทีวีของ “พิธา”
26 เม.ย. 66
บริษัทไอทีวีจัดประชุมสามัญประจำปี 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในบันทึกการประชุมดังกล่าวที่ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา ระบุว่า ภานุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้น ได้ทำการสอบถามว่าบริษัทไอทีวียังดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารไอทีวี ตอบว่า
“ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”
9 พ.ค. 2566
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือต่อประธาน ปปช. ขอให้ตรวจสอบพิธา ในฐานะ ส.ส. ว่าได้แจ้งเงินลงทุนในบริษัทไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ต่อ ปปช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. หรือไม่
- “เรืองไกร” ยื่น กกต.สอบ “พิธา” เพิ่มปมหุ้นสื่อ ต้องให้ศาล รธน.ตัดสินเหมือนเคสธนาธร
10 พ.ค. 2566
เรืองไกรเดินทางไปยื่นคำร้องต่อประธาน กกต. ให้ตรวจสอบกรณีการถือหุ้นไอทีวีของพิธา ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรมนูญหรือไม่
11 พ.ค. 2566
เรืองไกรยื่นเพิ่มเติมต่อ กกต. ว่ากรณีของพิธา เข้าข่ายต้องพ้นจากสมาชิกพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ ขณะที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าเตรียมจะยื่นหลักฐานเพื่อตรวจสอบพิธา ในกรณีการถือหุ้นสื่อเช่นกัน พร้อมยืนยันว่าตัวเองมีหลักฐานที่แตกต่างจากเรืองไกร
12 พ.ค. 2566
สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ยื่นเรื่องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบพิธา กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ที่อาจเข้าข่ายขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
9 มิ.ย. 2566
กกต. มีมติเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องกรณีพิธา มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. จากการถือหุ้นไอทีวี โดยเห็นว่าคำร้องที่ได้ยื่นมาของทั้ง 3 คน เป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา อย่างไรก็ตาม คำร้องดังกล่าวมีรายละเอียด หลักฐาน และข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนว่า พิธาเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้ง แต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดฝ่าฝืนมาตรา 151 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง
- ด่วน! กกต.ปัดตก 3 คำร้อง “พิธา” ถือหุ้นสื่อ แต่รับพิจารณา 151 รู้ไม่มีสิทธิ์แต่ยังฝืนสมัคร
11 มิ.ย. 2566
รายการข่าว 3 มิติ เผยแพร่คลิปบันทุกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 ของบริษัทไอทีวี วันที่ 26 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นการประชุมแบบออนไลน์ แต่เนื้อหาสำคัญของคลิปดังกล่าวกับบันทุกการประชุมที่เป็นลายลักษณ์อักษร กลับมีเนื้อหาแตกต่างกัน ซึ่งหลักฐานล่าสุดที่ถูกเปิดเผยกลายเป็นเชื้อไฟให้ประเด็นถกเถียงเรื่องพิธาถือหุ้นสื่อยิ่งร้อนแรงในสังคม
ในคลิปวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภาณุวัฒน์ ผู้ถือหุ้น ได้ทำการสอบถามว่าบริษัทไอทีวียังดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารไอทีวี ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ”
- ฐปนีย์ ข่าว 3 มิติ เปิดคลิปที่ประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี นาทีตอบคำถามยังเป็นสื่อหรือไม่
12 มิ.ย. 2566
นิกม์ ให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ยืนยันว่าเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี สิ่งที่ตัวเองได้ยิน ไม่ตรงกับคลิปที่ถูกเปิดเผยในรายการข่าว 3 มิติ โดยยืนยันว่าสิ่งที่บันทึกในรายงานถูกต้อง และเชื่อว่าไอทีวีมีหลักฐานฉบับเต็มเก็บไว้
ด้านบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่ากำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ
12 ก.ค. 66
ที่ประชุม กกต. มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส. ของพิธา ซึ่งเป็น สส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลในขณะนั้น จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ จากเหตุที่พิธามีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัทไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ทั้งนี้ กกต. ยังขอมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พิธายุติการปฏิบัติหน้าที่ สส. ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
19 ก.ค. 66
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อเท็จจริงคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องของ กกต. แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
สำหรับคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พิธาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นั้น ศาลมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
- ศาลรัฐธรรมนูญนัดถกคำร้อง “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี 19 ก.ค. ตรงวันโหวตนายกรอบสอง
15 ก.ย. 66
พิธาโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก แจ้งตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล และเปิดทางให้พรรคได้เลือก สส. ที่สามารถทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านเข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนตนเอง
20 ธ.ค. 66
พิธาเข้ารับการไต่สวนต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนพยานบุคคล โดยพิธาได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า บรรยากาศระหว่างไต่สวนเป็นไปตามที่คาดหวัง รู้สึกพอใจกับกระบวนการ และได้ไต่สวนตามข้อเท็จจริงที่ตั้งใจไว้ทุกประการ ทั้งนี้ ไม่ได้คาดหวังอะไรต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่มั่นใจว่าตนเองจะได้รับความเป็นธรรมและความยุติธรรม ซึ่งหากคำพิพากษาเป็นคุณ พิธสก็หวังว่าจะได้กลับไปทำหน้าที่ สส. ทันที
21 ม.ค. 67
พรรคก้าวไกลได้เผยแพร่วิดีโอชื่อ “เปิดข้อมูลคดีหุ้นสื่อ ทำไมพิธาจะได้กลับเข้าสภา 24 มกราคมนี้” ซึ่งเนื้อหาของวิดีโอแสดงข้อเท็จจริงที่ใช้ในการต่อสู้คดี เช่นเดียวกันกับระบุว่าเพิธาจะไม่ถูกตัดสิทธิ์หรือหลุดจากตำแหน่ง สส. เนื่องจาก ITV ไม่ใช่สื่อมวลชนแล้ว ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
- ITV ไม่มีใบอนุญาตคลื่นความถี่ เนื่องจากถูกรัฐบาลแจ้งยกเลิกสัญญาตั้งแต่ ปี 2550
- เมื่อเกิดสถานี ThaiPBS ขึ้น ส่งผลให้ ITV ต้องยกเลิกประกอบกิจการโทรทัศน์
- ประธานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ยืนยันต่อศาลว่า ITV ไม่มีพนักงาน, ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ, ไม่มีการทำสื่อ และยังไม่มีแผนที่จะทำสื่อ
- ไม่มีหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์ ITV จึงไม่อาจเป็นผู้ประกอบการกิจการหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อื่นได้
- ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วิดีทัศน์ และสื่อโฆษณา
- ศาลปกครองสูงสุดเคยชี้ว่า ITV ไม่ปรากฏหลักฐานการดำเนินการสื่อวิทยุโทรทัศน์แล้ว
ทั้งนี้ หาก ITV ยังเป็นสื่อมวลชนจริง พิธาก็มีหลักฐานว่าไม่ได้ครอบครองหุ้นตั้งแต่วันที่สมัคร สส. ในปี 2562 เนื่องจากพิธาแจ้งชัดเจนว่าถือหุ้นนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกจากพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือถ้าศาลมองว่าเป็นการถือหุ้นจริง แต่ก็มีสัดส่วนเพียง 0.0034% เท่านั้น ไม่สามารถครอบงำ สั่งการ หรือให้ทำการใดๆ หรือไม่ทำการใดๆ ได้
24 ม.ค. 67
วันพุธที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิธาฟังคำวินิจฉัย โดยพิธาจะเดินทางไปฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง