มหา’ลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยฯ ให้นักศึกษาลองเลี้ยงกุ้งด้วยสารเสริมโบรไบโอติก หวังรองรับการว่างงานหลังจบการศึกษา เลี้ยง 2 เดือน ขายออนไลน์เกลี้ยง
วันนี้ 18 ม.ค.65 ผศ.ดร.ประเสริฐ ทองหนูนุ้ย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง เปิดโอกาสให้นักศึกษาฝึกประสบการณ์ด้านการทำงานด้วยตนเอง รายวิชาสหกิจศึกษา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรายวิชาที่เพิ่มประสบการณ์ด้านการทำงานให้กับนักศึกษา ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการออกไปหาความรู้และประสบการณ์นอกห้องเรียน ทำให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมีพื้นที่นับ 1,000 ไร่ ถือโอกาสเปิดพื้นที่ว่าง หรือบ่อที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยให้นักศึกษารวมกลุ่มกันเลี้ยงกุ้งขาวด้วยสารเสริมโบรไบโอติก ร่วมกับการใช้ยีนส์ ใช้เวลาแค่ 2 เดือน สามารถจับขายทางออนไลน์ได้หมดเกลี้ยง ราคากิโลกรัมละ 200 บาท
โดยสารโบรไบโอติก เป็นสารที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของกุ้งขาว ไม่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ช่วยลดต้นทุนอาหารกุ้ง ลดอัตราการตายและยังทำให้กุ้งโตเร็ว ซึ่งนักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฎิบัติ เมื่อจบการศึกษาออกไปแล้ว จะได้มีงานรองรับ หรือหากนักศึกษาคนใดมีพื้นที่ก็สามารถ เลี้ยงกุ้งขาวออกสู่ตลาดได้เลย
สำหรับการทดลองเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ร่วมกับการใช้ยีสต์ ทดลองเลี้ยงในบ่อพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 8 เมตร ระดับน้ำลึกประมาณ 120 เซนติเมตร ระยะเวลาในการทดลองตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 – วันที่ 12 มกราคม 2565 เป็นระยะเวลารวม 65 วัน ผลการเลี้ยงได้กุ้งขนาด 65 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งได้ผลดีเกินคาด
ด้าน น.ส.เนตรนภา สุจริต นักวิชาการประมง ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า การเลี้ยงพอๆ กับบ่อดินและขึ้นอยู่กับไซส์ของลูกกุ้งด้วยว่าเอาไซส์ประมาณไหนมา ถ้าเอากุ้งจากบ่อทั่วไปต้องใช้เวลาเลี้ยง 3 เดือนขึ้นไป แต่กุ้งซุปเปอร์พีแอลใช้เวลาเลี้ยงแค่ 2 เดือนก็จับขายได้