มติเอกฉันท์ ฝ่ายค้านลุยโหวตรับร่างรธน.ประชาชน เฉ่งส.ว.บิดเบือนเนื้อหา

Home » มติเอกฉันท์ ฝ่ายค้านลุยโหวตรับร่างรธน.ประชาชน เฉ่งส.ว.บิดเบือนเนื้อหา



ฝ่ายค้านมีมติเอกฉันท์ โหวตรับร่าง รธน.ฉบับประชาชน ฉะส.ว.บิดเบือนเนื้อหา ยันไม่ได้ล้มโล๊ะเลิกล้างระบบตรวจสอบ จี้ ส.ส.รัฐบาล-ส.ว.ให้เกียรติประชาชน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 15 พ.ย.2564 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำพรรคเพื่อไทย นำโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค. หารือร่วมกับแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ (พช.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ(ปช.) นายวิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ถึงท่าทีต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152

จากนั้นเวลา 12.00 น. นพ.ชลน่าน แถลงหลังประชุมว่า ฝ่ายค้านได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะเข้าที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 16 พ.ย.นั้น เราเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าควรรับหลักการในวาระที่ 1 เราจะมีเหตุผลเพื่ออภิปรายประกอบการรับหลักการ ซึ่งแต่ละพรรคจะมุ่งเน้นประเด็นที่ตนเองสนใจ

สำหรับสาระสำคัญที่เรารับหลักการมี 6 ข้อ คือ 1.มีเจตนาและจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เช่น การยกเลิกหมวดปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 2.ปรับโครงสร้างของระบบรัฐสภา จากเดิมที่มีส.ส. และส.ว. ให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว

3.การสร้างกลไกตรวจสอบที่ยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยประชาชน เช่น ให้มีผู้ตรวจการของสภา 3 คณะ อาทิ ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 4.การปรับโครงสร้างอำนาจและหน้าที่ขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

5.การยกเลิกการสืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้ที่กระทำการยึดอำนาจ ทั้งก่อนปัจจุบันและในอนาคต โดยยกเลิกมาตรา 48 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ซึ่งจะส่งผลต่อมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 60 และ 6.การสร้างกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร แต่เพิ่มกลไกให้เข้มข้นขึ้น โดยเพิ่มเสียงให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ทั้งนี้ ตนมองว่าการรับหลักการในวาระที่ 1 อาจปลดชนวนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็เป็นได้

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เราเห็นว่ามีจำเป็นต้องเปิดอภิปราย ซึ่งเราจะนัดประชุมกันในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือเรื่องเร่งด่วนที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชน ก่อนกำหนดกรอบเวลาอีกครั้ง

นอกจากนี้ฝ่ายค้านห่วงใยสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะหลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา เนื่องจากคำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร หากผู้ที่นำไปบังคับใช้ปฏิบัติมิชอบ หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อาจสร้างความแตกแยกวุ่นวายให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ขอให้ผู้ที่นำไปปฏิบัติ ทั้งกับผู้ชุมนุมหรือไล่ล่าที่จะยุบพรรค ควรปฏิบัติด้วยความชอบธรรมตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม

ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ในวันที่ 17 พ.ย. จะใช้วิธีขานชื่อรายบุคคล ขอวิงวอนส.ส.ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. เล็งเห็นความสำคัญของร่างกฎหมายโดยภาคประชาชน เพราะกว่าเขาจะรวมชื่อกันได้ใช้เวลาหลายเดือน ตนอยากให้เราให้เกียรติประชาชนโดยรับหลักการวาระที่ 1 ถ้าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ใช้กระบวนการแปรญัตติเพื่อแก้ไขในวาระที่ 2 ได้

นายชัยธวัช กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมี ส.ว.หลายคนให้ความคิดเห็นในเชิงบิดเบือนเนื้อหาสาระที่แท้จริงของร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชน ใน 2 ประเด็น คือ 1.กล่าวหาว่าเป็นร่างที่จะล้ม โล๊ะ เลิก ล้าง ระบบการตรวจสอบ แต่เราพิจารณาแล้ว ไม่ได้เห็นว่าร่างนี้จะไปล้ม โล๊ะ เลิก ล้าง ระบบการตรวจสอบหรือถ่วงดุล แต่จะยิ่งทำให้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดโยงกับประชาชนและถูกตรวจสอบได้

หากรัฐธรรมนูญออกระบบการตรวจสอบตามที่ภาคประชาชนเสนอ จะทำให้องค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรตุลาการ รวมถึงกองทัพ จะถูกตรวจสอบถ่วงดุลโดยประชาชนด้วยอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดอย่างในปัจจุบัน

2.การโจมตีกล่าวหาว่าร่างนี้จะทำให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจไปในสภา นั้น ถือว่าเป็นคำกล่าวที่ผิด เพราะสาระสำคัญคือทำให้อำนาจของประชาชนเป็นอำนาจที่สูงสุดสะท้อนผ่านระบบรัฐสภา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ