มติฝ่ายค้าน โหวตคว่ำงบปี 66 ซัดเป็นงบอุปโลกน์ เอื้อการเมือง ยื่นซักฟอก 15 มิ.ย.

Home » มติฝ่ายค้าน โหวตคว่ำงบปี 66 ซัดเป็นงบอุปโลกน์ เอื้อการเมือง ยื่นซักฟอก 15 มิ.ย.


มติฝ่ายค้าน โหวตคว่ำงบปี 66 ซัดเป็นงบอุปโลกน์ เอื้อการเมือง ยื่นซักฟอก 15 มิ.ย.

ฝ่ายค้านมีมติยื่นซักฟอก 15 มิ.ย. โหวตไม่รับร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 66 หมอชลน่าน ชี้งบปี 66 เป็นงบที่อุปโลกน์ ส่งคนเข้าไปเป็นกมธ. เพื่อตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2565 ที่รัฐสภา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน มีมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระแรก ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย. แต่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อติดตามตรวจสอบ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะเดียวกันฝ่ายค้านมีมติยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ด้วย

ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประชุมกันแล้ว และพิจารณารายละเอียดของ ร่างพ.ร.บ.งบฯ ทั้งหมด พบว่าวิธีการจัดงบไม่ตอบสนองในการแก้ปัญหาให้กับประเทศ และสิ่งที่เราเจอเสมือนเป็นทางตัน สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.หนี้สาธารนะ

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ตัวเลขงบที่ตั้งไว้ เหมือนกับเป็นตัวเลขที่อุปโลกน์ เช่น การจัดเก็บรายได้ ที่ตั้งไว้ 2.49 ล้านล้านบาท ถามว่าความสามารถที่จะเก็บได้ ทำไมต้องเพิ่มมาอีก 0.9 ล้านล้านบาท เพราะ 2.4 ล้านล้านบาท ยังเป็นไปไม่ได้แล้ว ดังนั้น การตั้งการจัดเก้บรายได้ไว้ 2.49 ล้านล้านบาท ส่งผลต่ออะไร ซึ่งฝ่ายค้านจะดูว่ามีผลต่อการที่จะวางกรอบของเงินกู้หรือไม่ เพราะถ้าตั้งรายได้ไม่ถึง การจะกู้ชดเชยงบขาดดุล ตัวเลขก็จะต่ำ เพดานกู้จะแคบ ตรงนี้เราจะเห็นว่าเหมือนเป็นทางตัน ที่สำคัญนำไปใช้ไม่ได้ก่อประโยชน์ ผิดที่ผิดทาง ผิดวัตถุประสงค์ และสุ่มเสี่ยง ส่อเอื้อประโยชน์และแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองเนื่องจากใกล้เลือกตั้ง จึงเห็นว่าการจัดทำงบนี้มีลักษณะกระจุกตัวมากกว่า

เมื่อถามว่ายังยืนยันว่าหากงบปี 66 ไม่ผ่าน นายกฯต้องลาออกและยุบสภาใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มีสองทาง เพราะถ้าไม่มีงบไปบริหารประเทศแล้วจะบริหารได้อย่างไร จึงเป็นข้อขัดแย้งที่รุนแรงเป็นอันดับสองรองจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากงบไมผ่าน นายกฯต้องพิจารณาว่าจะใช้โอกาสนี้ว่ายุบสภา หรือลาออก อย่างไรมีประโยชน์กว่าดัน ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของนายกฯ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ