ภูเก็ต ประกาศมาตรการป้องกัน COVID-19 ห้ามกิจกรรมดำน้ำทุกรูปแบบ!

Home » ภูเก็ต ประกาศมาตรการป้องกัน COVID-19 ห้ามกิจกรรมดำน้ำทุกรูปแบบ!



ภูเก็ต ประกาศมาตรการป้องกัน COVID-19 ห้ามกิจกรรมดำน้ำทุกรูปแบบ!

อัปเดตสถานการณ์ COVID-19 ในเมืองไทย ล่าสุดที่จังหวัดภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศได้ออกประกาศด่วนมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 เนื้อหาดังนี้

สาระสำคัญ

ข้อ 1 การห้ามการดำเนินการหรือจัดกิจกรรม หรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค

(1) ให้สถานศึกษาทุกแห่งทุกสังกัดในจังหวัดภูเก็ต ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัด และ ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มหาวิทยาลัย และสถาบันกวดวิชา ทุกแห่ง งดการจัดการเรียนการสอน และงดการจัดกิจกรรมใดๆ ที่ต้องมีการรวมกลุ่มของนักเรียน นักศึกษา ยกเว้นการจัดการสอบ ให้มีการจัดการสอบได้ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1982/2564 ลงวันที่ 15 เมษายน 2564 ตั้งแต่วันที่ 19 – 30 เมษายน 2564 ให้คำสั่งดังกล่าวคงมีผลใช้บังคับต่อไป

(2) ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

(3) ห้ามการจัดกิจกรรมดำน้ำ ผิวน้ำ และดำเนินธุรกิจดำน้ำลึก

ข้อ 2 การปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค

(1) สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ทุกแห่งในท้องที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1946/2564 ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 ตั้งแต่วันที่ 9 – 18 เมษายน 2564 ให้คำสั่งดังกล่าวคงมีผลใช้บังคับต่อไป จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2564

(2) สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ โดยให้หมายความรวมถึงกิจการ สปา กิจการนวดเพื่อสุขภาพ กิจการนวดเพื่อเสริมความงาม ตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 สถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด และให้หมายความรวมถึงกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เว้นแต่ เป็นการนวดเพื่อการรักษาในสถานพยาบาล หรือการนวดพื้นบ้านเพื่อการรักษานอกสถานพยาบาล

(3) งดออกใบอนุญาต หรืองดจัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่ กัดปลา ชกมวย และไพ่ผ่องไทย จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 และข้อกำหนดออกตามความในมาตร 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 18) ข้อ 8 กรณีสนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา สนามฝึกซ้อมหรือแข่งขันหรือจัดกิจกรรมอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้สามารถจัดการฝึกซ้อมได้แบบไม่มีผู้ชมและปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T โดยอนุญาตผ่อนคลายกิจกรรมพื้นบ้านได้เฉพาะการซ้อมชนโค ชนไก่ และกัดปลา โดยไม่มีผู้เข้าชมในสนาม

ข้อ 3 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ

(1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มทุกประเภท ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 นาฬิกา ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น

(2) การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารทุกประเภท หรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

(3) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ โรงภาพยนต์ โรงมหรสพ หรือสถานประกอบการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ให้งดบริการ

(4) ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้ ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 นาฬิกา สำหรับร้านหรือสถานที่ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 นาฬิกา

(5) สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายกลางแจ้ง สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา สำหรับสถานที่หรือสนามออกกำลังกายในร่ม เช่น โรงยิม ฟิตเนส แบตมินตัน ห้ามเปิดให้บริการ
.

ข้อ 4 การงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง

(1) ให้บูรณาการสนธิกำลังระหว่างฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาการตั้งจุดตรวจจุดสกัด สำหรับผู้ที่เดินทาง เข้า – ออก จากจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการที่ ศปก.ศบค. กำหนด โดยเฉพาะการเดินทางของบุคคลจากพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

(2) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการคมนาคมตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยต้องมีการจัดระบบและระเบียบต่างๆ เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค และแนวปฏิบัติในพื้นที่สถานการณ์ที่ ศปก.ศบค. กำหนด

ข้อ 5 การจัดกิจกรรมทางสังคม

(1) การจัดกิจกรรมทางสังคม ให้ประชาชนงดการจัดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะที่เป็นงานสังสรรค์ งานเลี้ยง หรืองานรื่นเริงในช่วงเวลานี้ เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยม และมีมาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ

ข้อ 6 การดำเนินรูปแบบการปฏิบัติงาน

(1) ขอความร่วมมือให้เจ้าของกิจการผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณาและดำเนินรูปแบบการปฏิบัติงานของบุคลากรในความรับผิดชอบในช่วงเวลานี้ โดยอาจเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง การสลับวันทำงานหรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ

(2) ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานพิจารณาการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา หรือการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ข้อ 7 มาตรการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ

(1) ให้ผู้ใดที่ออกนอกเคหสถาน ที่พักอาศัย ในบ้าน โรงเรือน อาคารสถานที่ พาหนะ หรืออยู่ในที่สาธารณะ สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง และห้ามกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป เว้นแต่ อยู่ในขณะรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม หรือออกกำลังกาย ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 62/2564 ลงวันที่ 7 มกราคม 2564 ให้คำสั่งดังกล่าวคงมีผลใช้บังคับต่อไป

(2) ให้ผู้ติดเชื้อทุกรายเข้ารับการตรวจรักษาและเข้ารับการแยกกักหรือการกักกันในสถานที่และตามระยะเวลาซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนดจนกว่าจะได้ตรวจทาง การแพทย์แล้วว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค

(3) ให้ผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อรีบแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ทันทีเมื่อทราบว่าตนติดเชื้อหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อดังกล่าวเพื่อรับทราบแนวปฏิบัติตนและเข้ารับการแยกกักหรือกักกันเพื่อเตรียมพร้อมก่อนที่จะเข้ารับการตรวจ หรือรักษาตามขั้นตอนทางสาธารณสุขต่อไป

ข้อ 8 กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ดังนี้

(1) ให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ตาก อุดรธานี สุพรรณบุรี สระแก้ว ระยอง และขอนแก่น หรือตามรายงานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ประกาศเพิ่มเติม ที่มาพำนักในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ปฏิบัติดังนี้

1) ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” บนสมาร์ทโฟน และแสดงเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ

2) ขอความร่วมมือลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.gophuget.com เพื่อแจ้งข้อมูลในการ เดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต หรือกรณีที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้ เมื่อเดินทางถึงพื้นที่ปลายทางให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ ณ เทศบาล หรือ อบต.ในพื้นที่ที่พักอาศัย

3) ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้สถานการณ์ระดับตำบล (EOC ประจำตำบล, เทศบาล, อบต.) พิจารณากำหนดมาตรการควบคุมโรคที่เหมาะสม และให้สังเกตติดตามอาการตนเอง (Self Monitoring) ตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค งดการอยู่ใกล้บุคคลอื่น โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร งดการไปในที่สาธารณะ หรือสถานที่ที่มีประชาชนอยู่หนาแน่น และงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

กรณี ผู้เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต และพักในโรงแรม หรือสถานที่พักอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายโรงแรมที่มีผู้เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) เข้ามาพักอาศัย ให้โรงแรม อพาร์ตเม้นท์ รีสอร์ท ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตต้องดำเนินการ ดังนี้

1) คัดกรองอาการและวัดไข้ให้ผู้เข้าพักเมื่อแรกรับ

2) ตรวจสอบการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” บนสมาร์ทโฟน และการลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.gophuget.com ของผู้เข้าพัก เพื่อแจ้งข้อมูลในการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต

3) จัดทำบันทึกการติดตามผู้เดินทางรายบุคคล COVID – 19 และการเดินทางของผู้เข้าพักตลอดระยะเวลาที่เข้าพัก รวมถึงกรณีที่ออกไปท่องเที่ยว ทำกิจธุระ ทำงาน ประกอบธุรกิจ หรือทำกิจธุระอื่นใด เวลา สถานที่ที่จะไปปฏิบัติภารกิจ ส่งรายงานให้ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้สถานการณ์ระดับตำบล (EOC ประจำตำบล, เทศบาล, อบต.) ที่เป็นที่ตั้งของโรงแรม อพาร์ตเม้นท์ รีสอร์ท เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับตรวจติดตามโรคตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่ชุมชน หรือสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ตามแบบรายงานแนบท้ายคำสั่งนี้

กรณีพักอาศัยในบ้านให้เจ้าบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลบ้าน เจ้าของหรือผู้ควบคุมสถานประกอบการ หรือสถานที่อื่นใดที่มีผู้เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) เข้ามาพักอาศัย จัดทำบันทึกการติดตามผู้เดินทางรายบุคคล COVID – 19 ส่งรายงานให้ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้สถานการณ์ระดับตำบล (EOC ประจำตำบล, เทศบาล, อบต.) ในพื้นที่ที่พักอาศัย ตามแบบรายงานแนบท้ายคำสั่งนี้

ผู้ประกอบการ โรงแรม อพาร์ตเม้นท์ รีสอร์ท เจ้าบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลบ้าน เจ้าของหรือผู้ควบคุม สถานประกอบการ หรือสถานที่อื่นใด ไม่จัดส่งข้อมูลบันทึกการติดตามและการเดินทางของผู้เข้าพัก ตามแบบรายงานแนบท้ายคำสั่งนี้ อาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 49 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(2) ให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 59 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี สระบุรี สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ ชุมพร พิษณุโลก นครศรีธรรมราช นราธิวาส ราชบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ ลพบุรี มหาสารคาม ตราด ชัยภูมิ อ่างทอง สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุทัยธานี นครนายก สมุทรสงคราม ศรีสะเกษ แม่ฮ่องสอน ยะลา ชัยนาท สิงห์บุรี ลำพูน เพชรบูรณ์ กระบี่ ลำปาง กำแพงเพชร สุโขทัย พะเยา หนองคาย เลย พิจิตร ระนอง ร้อยเอ็ด สกลนคร พังงา ยโสธร ปัตตานี แพร่ ตรัง อุตรดิตถ์ น่าน อำนาจเจริญ นครพนม บึงกาฬ พัทลุง กาฬสินธุ์ สตูล และมุกดาหาร หรือตามรายงานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ประกาศเพิ่มเติม ที่มาพำนักในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ปฏิบัติดังนี้

1) ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” บนสมาร์ทโฟน และแสดงเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ

2) ขอความร่วมมือลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.gophuget.com เพื่อแจ้งข้อมูลในการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต หรือกรณีที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้ เมื่อเดินทางถึงพื้นที่ปลายทางให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ ณ เทศบาล หรือ อบต.ในพื้นที่ที่พักอาศัย

3) ปฏิบัติตามคำแนะนำของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้สถานการณ์ระดับตำบล (EOC ประจำตำบล เทศบาล, อบต.) อย่างเคร่งครัด โดยเฝ้าสังเกตอาการตนเอง (Self Monitoring)

ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ด้วย

ข้อ 9 ขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด – 19 (D–M–H–T-T) ได้แก่

D – Distancing = เว้นระยะห่างระหว่างกัน
M – Mask Wearing = สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยเสมอ
H – Hand Washing = ล้างมือบ่อย ๆ
T – Temperature Check = ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และสังเกตอาการ
T – Thaichana = ติดตั้งและสแกนแอปพลิเคชั่นไทยชนะและหมอชนะ

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะจึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำสั่งนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งเพิ่มเติมมาอีก เนื่องจากเกิดความคลาดเคลื่อน ในมติที่ประชุม จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมในคำสั่งข้อที่ 3 จากเดิม

ข้อ 3 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ

(3) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา โดยให้จำกั จำนวนผู้ใช้บริการ และงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ให้งดบริการ โดยให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

(3) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม สวนสนุก ให้งดบริการ

(4) โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ สวนน้ำ รวมถึงสระว่ายน้ำที่มีการให้บริการเครื่องเล่นต่างๆ ให้งดบริการ

อนึ่งเนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะจึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจได้รับโทษ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

คำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2564 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2564

สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมควบคุมโรค 1422 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต โทร 094-5935342, 094-5938876

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ