ภูมิศาสตร์และทุนนิยม : ทำไมชาติเมืองหนาวประสบความสำเร็จด้านกีฬามากกว่าชาติเมืองร้อน ?​

Home » ภูมิศาสตร์และทุนนิยม : ทำไมชาติเมืองหนาวประสบความสำเร็จด้านกีฬามากกว่าชาติเมืองร้อน ?​

โอลิมปิก เกมส์ 2020 สิ้นสุดลงเป็นที่เรียบร้อย ด้วยบทสรุปแบบเดิมที่เราคุ้นเคย ด้วยตำแหน่งเจ้าเหรียญทองของสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจจากโลกตะวันตก ตามด้วยอันดับสอง จีน มหาอำนาจแห่งโลกตะวันออก ที่เป็นรองเพียงแค่เหรียญเดียว

หากมองผ่าน ๆ หลายคนอาจเห็นว่า “ตะวันออก = ตะวันตก” จากการต่อสู้กันอย่างสูสีของสหรัฐอเมริกาและจีน แต่เมื่อเรามองไปที่ประเทศอื่นในยุโรป ที่ส่วนใหญ่ล้วนกวาดเหรียญรางวัลกลับบ้านไปไม่น้อย แต่พอหันมามองเพื่อนร่วมทวีปเอเชียกับจีน เช่น หลายประเทศในอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับไม่มีเหรียญรางวัลติดมือเลย

ความแตกต่างระหว่าง ไทย, เมียนมา และอินโดนีเซีย กับ จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คืออะไร ? บางทีคำตอบที่เราเห็นจาก “สภาพอากาศ” อาจพาคุณไปสู่คำตอบที่หลายคนสงสัยมานาน ว่าทำไมชาติเมืองหนาวถึงประสบความสำเร็จด้านกีฬามากกว่าชาติเมืองร้อน ?​

 

Main Stand ขุดค้นถึงคำตอบที่สามารถย้อนกลับไปถึงหมื่นปีก่อน ที่เอื้อประโยชน์ให้ชาวยุโรปก้าวหน้าทางอารยธรรมกว่าผู้คนในอเมริกาใต้ และการถือกำเนิดของเศรษฐกิจทุนนิยมที่ช่วยให้เกาะขนาดเล็กแบบอังกฤษ แซงหน้าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอินเดีย…

ไม่ใช่พันธุกรรม แต่เป็นภูมิศาสตร์

สิ่งแรกที่ผู้อ่านควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ คือความแตกต่างทางพันธุกรรม “ไม่ใช่เหตุผลหลัก” ที่ทำให้นักกีฬาจากแต่ละภูมิภาคประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน นั่นจึงเป็นเหตุผลให้บทความนี้ตั้งโจทย์เริ่มต้นที่ นักกีฬาในเมืองหนาว กับ นักกีฬาในเมืองร้อน ไม่ใช่ความแตกต่างทางกายภาพระหว่าง คนขาว และ คนดำ

“ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า” หนังสือรางวัลพูลิตเซอร์ปี 1998 จากปลายปากกาของ ศ.ดร.จาเร็ด ไดมอนด์ ปฏิเสธแนวคิดเดิมที่เชื่อว่าผู้คนจากภูมิภาคยูเรเชีย (ทวีปยุโรปและเอเชีย) มีความเจริญเหนือกว่าพื้นที่อื่น เพราะความเหนือกว่าของระดับสติปัญญา, ศีลธรรม หรือลักษณะทางพันธุกรรม แต่เป็นเพราะความแตกต่างของสิ่งแวดล้อม หรือ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์

 

ประโยคซึ่งเป็นคำถามหลักของ ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า ถูกกล่าวโดยนักการเมืองท้องถิ่นชาวปาปัวนิวกินี ที่ถามผู้เขียนว่า “ทำไมคนขาวสามารถผลิตสินค้าได้มากมาย ขณะที่คนดำมีสินค้าของตัวเองอยู่แค่ไม่กี่อย่าง ?” หากเราเปลี่ยนคำถามนั้นให้เข้ากับความสงสัยด้านกีฬา คงจะได้ประมาณว่า “ทำไมสหรัฐอเมริกาสามารถคว้าเหรียญทองได้มากมาย ขณะที่เอธิโอเปียมีเหรียญทองเพียงแค่หยิบมือ ?”

หากจะตอบว่า เป็นเพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ทันสมัยกว่า มีความเจริญมากกว่า และมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬามากกว่า ย่อมเป็นคำตอบที่สามารถสร้างความเข้าใจได้ง่ายในศตวรรษที่ 21 แต่ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของโอลิมปิก เกมส์ ยุคใหม่ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 1896 ไม่เคยมีชาติจากเมืองร้อนคว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในโอลิมปิก เกมส์ ได้เลยสักครั้ง

ส่วน 68 ชาติ ที่ไม่เคยคว้าเหรียญรางวัลจากโอลิมปิก ส่วนใหญ่เป็นประเทศเมืองร้อนทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น เมียนมา ที่เข้าร่วมโอลิมปิก เกมส์ มาแล้ว 18 ครั้ง แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ หรือ ชาด, คองโก, ไลบีเรีย, มาดากัสการ์ และนิการากัว ที่ร่วมแข่งขันในโอลิมปิกมา 13 ครั้งเท่ากัน และไม่เคยมีชาติไหนได้เหรียญรางวัล

ศ.ดร.จาเร็ด ไดมอนด์ เขียนในหนังสือ ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า พูดถึงความฉลาดของชาวปาปัวนิวกินีที่ไม่แตกต่างจากคนยุโรป เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เราเห็นในวงการกีฬา นักกีฬาจากแอฟริกาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สรีระของพวกเขาไม่ได้เป็นรองชาวยุโรป และยอดเยี่ยมกว่าชาติเอเชียเขตหนาว อย่าง จีน, ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ ค่อนข้างชัด แต่จนแล้วจนรอด ประเทศจากเขตร้อนกลับไม่สามารถนำข้อได้เปรียบตรงนี้ไปคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกมาได้เลย

ความแตกต่างทางพันธุกรรม จึงไม่สามารถตอบคำถามถึงความแตกต่างระหว่างนักกีฬาจากสองซีกโลกได้ แต่กลับเป็น “ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์” ที่ส่งผลให้ประเทศจากเมืองหนาว ก้าวไปได้ไกลกว่าประเทศในเขตร้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปศุสัตว์, เทคโนโลยี, การเมืองการปกครอง, ภาษา และ วัฒนธรรม รวมถึงการรับมือกับเชื้อโรค

 

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ทั้ง สายลม, แสงแดด หรือ ดินฟ้าอากาศ ล้วนส่งผลและกำหนดพฤติกรรมของเราในแต่ละวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลองจินตนาการภาพชาวไทยที่ต้องทนกับการตากผ้าในร่มช่วงฤดูฝน แต่ไม่ต้องวิตกกับพายุหิมะเหมือนกับชาวตะวันตก นี่คือตัวอย่างความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลต่อชีวิตของเรา

เนื้อหาในหนังสือ ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า นำเสนอแง่มุมในเรื่องความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ที่ไปไกลกว่าการเก็บผ้า แต่เป็นอิทธิพลซึ่งส่งผลต่อชีวิตมนุษย์ตั้งแต่หมื่นปีก่อน นั่นคือ “การเกษตร” ซึ่งภูมิศาสตร์ของประเทศในเขตยูเรเชีย เหมาะสมกับการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์มากกว่าภูมิภาคอื่น และเมื่อการเกษตรดี ผู้คนในพื้นที่จึงสามารถพัฒนาอารยธรรมและความรู้ของตนโดยไม่ต้องคอยกังวลเรื่องการหาอาหาร แตกต่างจากผู้คนในแอฟริกา ที่ไม่สามารถทำการเกษตร และต้องดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์แบบย้ายถิ่นฐานมานานหลายพันปี

ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ของยูเรเชียที่ยาวเป็นแนวนอน ยังช่วยในการเผยแพร่ความรู้เรื่องการเพาะปลูก หรือ การเลี้ยงสัตว์ ไปยังพื้นที่อื่นในทวีปได้ง่ายกว่า เนื่องจากภูมิศาสตร์ที่วางตัวในแนวนอน จะส่งผลให้พื้นที่นั้นมีสภาพอากาศ “แบบเดียวกัน” และเมื่อผู้คนจากเนเธอร์แลนด์สามารถปลูกพืชแบบเดียวกับชาวนาในรัสเซียได้ จึงเกิดการค้าขายและแลกเปลี่ยนความรู้ นำไปสู่การพัฒนาวัฒนธรรมในที่สุด

ในทางกลับกัน ประเทศเขตร้อนในทวีปแอฟริกา นอกจากจะเสียเปรียบเรื่องการเกษตร ยังต้องเจอความเสียเปรียบที่ทวีปมีลักษณะแนวตั้ง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อารยธรรมอียิปต์ ไม่เคยลงไปถึงประเทศกาบอง นั่นเพราะสภาพอากาศของแอฟริกาเหนือ และแอฟริกากลาง มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก จนไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ หรือแลกเปลี่ยนอารยธรรมกันได้ง่ายเลย

 

ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ที่เริ่มต้นตั้งแต่หมื่นปีก่อน ส่งผลให้วิถีชีวิตและความเจริญของชาวยุโรปกับเอเชียแตกต่างจากชาวแอฟริกาอย่างสุดขั้ว เหตุผลที่นักกีฬาจากเมืองร้อนไม่สามารถประสบความสำเร็จเท่านักกีฬาจากเมืองหนาว จึงไม่ใช่เรื่องของพันธุกรรม แต่มีจุดเริ่มต้นจากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ที่ช่วยให้ผู้คนในเมืองหนาวมีชีวิตที่ดีกว่าผู้คนจากเมืองร้อน

พัฒนาด้วยทุนนิยม ระเบียบใหม่ของโลกยุคปัจจุบัน

หนังสือ ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า ยังเสนออีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ โดยกล่าวไว้ว่า ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ไม่เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตคน 2 ซีกโลกต่างกันอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่รวมถึงผลกระทบสืบเนื่องกัน ที่ทำให้เกิด “สถาบันอันซับซ้อน” ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมไปในทางที่ดี

ศ.ดร.จาเร็ด ไดมอนด์ อธิบายว่า ประเทศที่เกิดการรวมตัวของกลุ่มคนเป็นชุมชนเกษตรกรรม จะก่อให้เกิดอาชีพอื่นที่ช่วยพัฒนาสังคมให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ หรือ นักปรัชญา ก็เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาให้รัฐมีการปกครองที่ดี, สร้างการรวมศูนย์อำนาจ และทำให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้

 

เมื่อภูมิภาคหนึ่ง เช่น ยุโรป หรือ เอเชียตะวันออก ผ่านการใช้ชีวิตภายใต้สถาบันอันซับซ้อนมานานนับพันปี กับบางพื้นที่เช่น แอฟริกา ที่เพิ่งมีการปกครองอย่างเป็นรูปเป็นร่างไม่ถึง 100 ปี หนังสือเล่มดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า การพัฒนาเพื่อตามหลังสังคมที่มีความเจริญและที่มีโครงสร้างอารยธรรมมายาวนาน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วอายุคน

เมื่อเราโยงทฤษฎีนี้กับวงการกีฬา เพื่อเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ประเทศที่มีความเจริญและรวมตัวกันเป็นสังคมเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรมในยุคทุนนิยม ก่อให้เกิดอาชีพอื่นมากมายตามมา ซึ่งหนึ่งนั้นคือ “อาชีพนักกีฬา” ที่มีรากฐานมาจากการเติบโตของทุนนิยมด้วยเช่นกัน

ย้อนกลับไปในปี 1900 ระบบทุนนิยมกำลังเติบโตในอังกฤษ ส่งผลให้ผู้คน 75 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศอาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยมี 30 เปอร์เซ็นต์ ที่ย้ายจากชนบทเข้ามาทำงานในเมือง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เริ่มมีการพัฒนาวิธีผ่อนคลายจากการทำงานแบบ “อุตสาหกรรม” นั่นคือการก่อตั้งทีมฟุตบอลประจำที่ทำงาน ยกตัวอย่าง สโมสรฟุตบอลอาร์เซน่อล ที่มีจุดเริ่มต้นจากทีมฟุตบอลประจำโรงคลังแสงในกรุงลอนดอน

ขณะเดียวกัน ประเทศที่ยังติดหล่มในระบบเดิม ๆ จนไม่สามารถพัฒนาสังคมที่เอื้อต่อการกำเนิดของอาชีพใหม่ ย่อมไม่สามารถพัฒนาทักษะที่แตกต่างออกไปจากเดิมให้กับประชาชนในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทย ที่ต้องรอถึงช่วงปี 1870s จึงได้รู้จักกับระบบทุนนิยมโลก ผ่านการเข้ามาของลัทธิอาณานิคม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบศักดินาสู่ระบบทุนนิยม

 

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ในช่วงเวลานี้ เพราะประเทศไทยอ้าแขนรับแนวคิดทุนนิยมในช่วงเวลาเดียวกับที่เศรษฐกิจรูปแบบนี้เดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น หลังการปฏิวัติเมจิ ช่วงท้ายทศวรรษ 1860s ซึ่งผู้นำปฏิวัติเหล่านี้สร้างรัฐรวมศูนย์ที่เข้มแข็ง และยกเลิกระบบซามูไรเก่า แทนที่ด้วยการผลักสังคมไปข้างหน้า เพื่อเปิดทางให้กับการพัฒนาทุนนิยม จึงมีการใช้งบประมาณของรัฐในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และเริ่มมีแนวคิดของธุรกิจเอกชน

สวนทางกัน การปฏิวัติทุนนิยมในไทย แตกต่างออกไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เพราะรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยไม่มีการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรม เนื่องจากกลัวว่าบริษัทต่างชาติจะเข้ามาควบคุมกิจการ และลดอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ไทย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความอ่อนแอของรัฐไทยในเวลานั้น

หาก ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า กล่าวว่าความแตกต่างระหว่างสองซีกโลกเริ่มจากสังคมเกษตรกรรม อันมีรากฐานจากความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าผลที่สืบเนื่องมาจนกลายเป็นสถาบันอันซับซ้อนได้ถูกพัฒนาครั้งใหญ่อีกครั้ง ผ่านการถือกำเนิดของแนวคิดทุนนิยม หลังยุคเรืองปัญญา ซึ่งมีส่วนทำให้โลกกลับหัวกลับหาง บางประเทศที่เคยเป็นอาณาจักรมีอำนาจยิ่งใหญ่ต้องล่มสลาย เพราะเข้าไม่ถึงแนวคิดทุนนิยมและกลไกการตลาด ซึ่งหลายคนยกให้เป็น “ระเบียบใหม่” ของโลกใบนี้

ตัวอย่างที่ดีคือ อังกฤษ ซึ่งเคยเป็นประเทศล้าหลัง แต่ชัยชนะของนายทุนเหนือระบบฟิวดัล ในการปฏิวัติอังกฤษเมื่อปี 1649 ส่งผลให้ระบบทุนนิยมก้าวขึ้นมามีอิทธิพลเหนือเกาะบริเตนและทั่วยุโรปในเวลาต่อมา ส่วนอาณาจักรที่รุ่งเรืองกว่าอย่าง อินเดีย ที่ยังติดกับโครงสร้างรัฐแบบเก่า ชนชั้นนำหาผลประโยชน์จากการขูดรีดผู้คนภาคเกษตรกรรม จนท้ายที่สุด อินเดีย ต้องกลายมาเป็นชาติใต้อาณานิคมของอังกฤษในศตวรรษถัดมา

ทุนนิยม คือ สถาบันอันซับซ้อนใหม่ ที่เข้าไปผลักดันสังคมให้เดินหน้า และสร้างอาชีพใหม่ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หนึ่งในนั้นคือ อาชีพนักกีฬา เหมือนกับสโมสรอาร์เซน่อลที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น และทุนนิยมได้แพร่กระจายไปแบบไฟลามทุ่งในกลุ่มประเทศเมืองหนาว ทั่วภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ

แต่ประเทศในเขตร้อน ไม่ว่าจะเป็น อเมริกาใต้ หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเคยเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมนานนับพันปี กลับไม่สามารถเข้าถึงแนวคิดทุนนิยมในเวลาเดียวกันกับยุโรป ในไม่ช้าประเทศเหล่านี้จึงตามหลังและตกเป็นเมืองใต้อาณานิคมของชาติตะวันตก อาชีพเดียวที่เจ้าอาณานิคมต้องการจากประเทศเหล่านี้คือ “แรงงาน” ไม่ใช่นักกีฬา หรือ ศิลปิน

กว่าประชาชนของประเทศอาณานิคมจะได้สัมผัสกับรสชาติของ “อาชีพนักกีฬา” ต้องรอให้เจ้าอาณานิคมถอนกำลังของตนออกไปในศตวรรษที่ 20 แต่ในวันที่ประเทศเขตร้อนเพิ่งเริ่มต้น สังคมกีฬาในยุโรป หรือ อเมริกาเหนือ ก็พัฒนาไปไกลมาก มีการรวมศูนย์อำนาจ พัฒนาองค์กรส่วนกลางเพื่อดูแลนักกีฬา และกำหนดกฎกติกาการแข่งขัน รวมถึงให้ความสำคัญกับการเล่นกีฬาในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ที่ช่วยพัฒนาทักษะตั้งแต่ในระดับเยาวชน

กลับมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราอีกครั้ง ฟุตบอลไทยลีก จมปลักกับการเป็นฟุตบอลของพนักงานประจำองค์กรมาหลายสิบปี นับตั้งแต่ สโมสรกรมมหรสพ ชนะฟุตบอลถ้วย ก.เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2459 ฟุตบอลไทยยังคงวนเวียนกับฟุตบอลถ้วย ก.
มาจนถึงปี 2538 นี่คือหลักฐานที่ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่เคยพัฒนากีฬาสู่ระบบลีกอาชีพตามกลไกทุนนิยม และล้าหลังกับฟุตบอลสมัครเล่นมานาน 80 ปี

หากอ่านมาตั้งแต่ต้นคงพอเห็นภาพแล้วว่า ความสำเร็จของนักกีฬา คือผลสืบเนื่องจากการพัฒนาสถาบันอันสลับซับซ้อนซึ่งรุดหน้ากว่าที่เคยเป็นเนื่องจากระบบทุนนิยม ส่วนประเทศไหนที่ยังคงยึดมั่นกับโครงสร้างอำนาจเก่า จะไม่สามารถพัฒนาสังคมให้เตรียมพร้อมกับการสร้างอาชีพใหม่ได้เลย

และถึงแม้ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยจะเปิดรับแนวคิดเสรีนิยมใหม่เข้ามาสู่ประเทศอย่างเต็มตัว แต่อย่างที่หนังสือ ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า สรุปไว้ว่า “การพัฒนาเพื่อตามหลังสังคมที่มีความเจริญและที่มีโครงสร้างอารยธรรมมายาวนาน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วอายุคน” เนื่องจากการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาในประเทศเมืองร้อนตามหลังประเทศเมืองหนาวอยู่หลายสิบปี ทำให้ความสำเร็จไม่อาจสร้างให้เกิดขึ้นในเร็ววัน

ความสำเร็จของนักกีฬาไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่มันสะท้อนภาพกว้างของโครงสร้างสังคมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การทุ่มงบประมาณของภาครัฐ, โครงสร้างองค์กรกีฬารวมศูนย์ที่ตรวจสอบได้ การบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับโครงสร้างสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่เอื้ออำนวยให้นักกีฬาได้โฟกัสกับการฝึกซ้อม มากกว่าจะต้องพะวงกับปัญหาอื่น ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการจัดการไวรัสโควิด-19 และการนำเข้าวัคซีนในปัจจุบัน

“ภูมิศาสตร์และทุนนิยม” จึงเป็นสองสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักกีฬาจากเมืองหนาว ประสบความสำเร็จมากกว่านักกีฬาจากเมืองร้อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่า ประเทศจากอเมริกาใต้, แอฟริกา หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะไม่มีวันไล่ตามประเทศจากโลกทางตอนเหนือได้ทัน

ถ้าหากประเทศที่เคยล้าหลังสามารถพัฒนาสังคมให้เตรียมพร้อมต่อการพัฒนาศักยภาพและอาชีพของคนในทิศทางใหม่ได้ สังคมที่เจริญเติบโตไปข้างหน้า ย่อมช่วยให้ศักยภาพของมนุษย์ก้าวหน้าไปด้วยเช่นกัน เหมือนอังกฤษที่เคยแซงหน้าอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 17 ประเทศไทยอาจจะขึ้นไปทัดเทียมยุโรปได้ในสักวัน … แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น สถาบันที่ทำหน้าที่ปกครองและดูแลประเทศ ต้องพร้อมจะผลักดันสังคมไปข้างหน้า เปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ และลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้เสียก่อน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ