ภาพล่าสุด “บก.วิติ๊ด” วิธิต อุตสาหจิต เจ้าของการ์ตูนขายหัวเราะ-มหาสนุก อายุเข้าเลข 7 แล้ว ยังดูหนุ่มอยู่เลย
ขายหัวเราะ เป็นนิตยสารการ์ตูนไทยแนวตลกขำขันที่มีอายุยืนนานบนแผงในเมืองไทยกว่า 50 ปี จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น เริ่มตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2516 บริหารงานโดย วิธิต อุตสาหจิต หรือที่แฟนการ์ตูนรู้จักในชื่อ บ.ก.วิติ๊ด ซึ่งเมื่อสมัยที่ยังไม่มีโซเชียลแบบทุกวันนี้ ภาพของ บ.ก.วิติ๊ด ในความทรงจำของทุกคนคือ ชายร่างท้วม สวมชุดสูทสีน้ำเงิน ผูกเนคไทสีแดง หน้าตาเคร่งเครียดอยู่เป็นนิจ
ซึ่งในยุคสมัยนี้ หลายคนอาจเคยเห็นภาพตัวจริงของ บ.ก.วิติ๊ด ผ่านสื่อต่างๆ มาบ้างแล้ว และล่าสุดทางเฟซบุ๊ก ขายหัวเราะ ได้โพสต์ภาพ คุณวิธิต แอคท่าทำหน้าตึงๆ แบบในการ์ตูน ซึ่งในความเป็นจริง ปัจจุบันคุณวิธิตอายุเข้าเลข 7 แล้ว แต่ยังดูแข็งแรงสดใส อ่อนกว่าวัย และไม่ได้อ้วนท้วนสมบูรณ์แบบในการ์ตูนอีกด้วย
ประวัติ บ.ก.วิติ๊ด
วิธิต อุตสาหจิต เป็นบุตรของ นายบันลือ อุตสาหจิต เจ้าของและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น กับนางกนกวรรณ อุตสาหจิต เป็นบุตรคนโตจากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 9 คน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2498 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสตรีจุลนาค ต่อมาย้ายไปเรียนต่อสายวิชาชีพจนได้วุฒิประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ (ปวช.) จากโรงเรียนพณิชยพระนคร ก่อนจะไปตัดสินใจไปเรียนการทำภาพยนตร์ที่ London Film School ประเทศอังกฤษ จนจบการศึกษาระดับ Diploma of Higher Education (DipHE)
วิธิตชื่นชอบงานเขียนการ์ตูน ลายเส้น และคลุกคลีอยู่กับงานโรงพิมพ์ของครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อ พ.ศ. 2516 ขณะมีอายุได้ 18 ปี เขาจึงได้เขียนการ์ตูนแนวสามช่องจบ หรือการ์ตูนแก๊ก และออกหนังสือการ์ตูนของตัวเองฉบับแรกชื่อ ขายหัวเราะ ด้วยเห็นโอกาสในตลาดที่มีการ์ตูนแนวนี้อยู่น้อยมาก และด้วยความเชื่อที่ว่าแนวขายหัวเราะสามารถขายได้
เมื่อขายหัวเราะประสบความสำเร็จ จึงออกหนังสือการ์ตูนเล่มใหม่แนวเดียวกับขายหัวเราะ แต่เน้นเจาะตลาดครอบครัว ชื่อ มหาสนุก ในปี พ.ศ. 2518 และได้รับความนิยมมากตลอดจนถึงทุกวันนี้ ภายหลังจึงได้ออกการ์ตูนชุดมินิซีรีส์ของนักเขียนคนดังๆ ในบรรลือสาส์น เช่น ปังปอนด์ บ้าครบสูตร สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ เรียกข้าว่าพญายม คนอลเวง หนูหิ่นอินเตอร์ เป็นต้น
ปัจจุบัน วิธิต ได้วางมือจากงานบริหารส่วนใหญ่และมี พิมพ์พิชชา อุตสาหจิต ลูกสาวคนโตมารับหน้าที่แทน และปรับเปลี่ยนแนวทางของบรรลือสาสน์ไปทางคอนเทนต์ดิจิตอล และ อีบุ๊ก เป็นหลัก โดยฉบับสุดท้ายที่จัดทำเป็นแบบรูปเล่มวางแผงทั่วไปคือ ฉบับที่ 1515 วางจำหน่ายเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564