ภาพลักษณ์ 2 ด้าน : "สนุกเกอร์" เกมที่เป็นได้ทั้งตัวแทนของความหรูและชนชั้นแรงงาน

Home » ภาพลักษณ์ 2 ด้าน : "สนุกเกอร์" เกมที่เป็นได้ทั้งตัวแทนของความหรูและชนชั้นแรงงาน

สนุกเกอร์ คือกีฬาที่ถูกขนานว่า “เกมของสุภาพบุรุษ” ความหรูหราผูกติดตัวกับกีฬานี้ยากจะแกะออก หนุ่มทรงเสน่ห์แนวเพลย์บอยทั่วโลกต้องมีฝีมือหากถูกทายให้โชว์ลีลาการสอยคิว

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของกีฬานี้ในประเทศไทยกลับแตกต่างออกไป สนุกเกอร์อยู่คู่กับชนชั้นรากหญ้ามากกว่าเป็นเกมของชนชั้นสูง สวนทางกับมุมมองของประเทศอื่น

ไม่ว่าจะมองสนุกเกอร์เป็นกีฬาที่มีภาพแทนแบบไหน นี่คือการแข่งขันที่เคยถูกนิยามว่าเป็นเกมของปัญญาชน, ชนชั้นแรงงาน และผู้มีฐานะ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา รวมถึงการนำเสนอของสื่อในแต่ละพื้นที่

เริ่มต้นจากกีฬาปัญญาชน 

สนุกเกอร์ ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1875 ยุคล่าอาณานิคม จากกลุ่มนายพลชาวอังกฤษที่ประจำการอยู่ในอินเดีย โดยดัดแปลงจากกีฬาสองประเภทมารวมกัน

กีฬาแรกคือ “แบล็คพูล” การแข่งขันที่คล้ายกับ “พูล” แต่มีข้อแตกต่างคือเริ่มนำลูกบิลเลียดสีดำมาใช้ ผสมกับ “พูลปิรามิด” การแข่งขันที่วางลูกเป็นปิรามิด ก่อนจะแทงลูกเปิดให้บอลแตกกระจาย และไล่แข่งกันแทงลูกแบบพูลปกติ

1

ไอเดียแรกเริ่มของสนุกเกอร์ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การนำกีฬาทั้งสองชนิดมาร่วมกัน ทำให้ช่วงแรกเกมนี้จะมีลูกบอลแค่สีแดง และสีดำเท่านั้น โดยผู้เล่นจะต้องไล่แทงลูกบอกลสีแดงให้หมด ถึงจะมาแข่งกันยิงใส่ลูกสีดำเพื่อปิดเกม 

ระยะแรกกีฬานี้ไม่ได้ถูกเรียกว่า “สนุกเกอร์” เพราะกติกาแทบไม่ต่างจากพูล หลังจากนั้นไม่นาน เหล่านักเรียนทหารอังกฤษที่ไปประจำในประเทศอินเดีย ตัดสินใจเพิ่มกฎใหม่เข้าไปในเกมนี้

ลูกบิลเลียดสีต่างๆ คือสิ่งที่คนหนุ่มรุ่นใหม่เพิ่มเข้าไป เพราะมองว่าการมาแทงแค่ลูกบอลสีแดง 15 ลูก และสีดำอีก 1 ไม่มีความตื่นเต้นเอาเสียเลย จึงเพิ่มลูกบอลสีเหลือง, เขียว และชมพู เข้ามาเป็นด่านก่อนที่นักสอยคิวจะไปยิงลูกดำ

ความสนุกของเกมเพิ่มอย่างชัดเจน เมื่อนำลูกสีอื่นเข้ามาใส่ ทำให้บอลบิลเลียดสีน้ำเงินและน้ำตาล ถูกใส่เข้ามาอีกในภายหลัง กลายเป็นรากฐานของเกมที่คุ้นชินในปัจจุบัน ซึ่งช่วงเวลาเดียวกัน กีฬาชนิดนี้ถูกเรียกแบบขำขันโดยกลุ่มนักเรียนทหารว่า “สนุกเกอร์” แทนที่จะใช้คำว่า “พูล” แบบในอดีต 

อีกหนึ่งความน่าสนใจของสนุกเกอร์ คือกฎกติกาที่แตกต่างจากพูล เพราะเหล่าผู้สรรค์สร้างในยุคแรกเริ่ม ตั้งใจทำให้การแข่งขันมีความซับซ้อนมากขึ้น ต้องใช้สมองมากกว่าเดิม ไม่ใช่จะแค่ยิงบอลให้ลงหลุมอย่างเดียว 

ดังนั้น การแทงลูกเพื่อเก็บคะแนนจึงเข้ามามีบทบาทในการเล่นสนุกเกอร์ รวมถึงกฎที่หากจะยิงลูกสี ต้องยิงลูกแดงให้ได้ก่อน แต่ลูกที่ลงแล้วใช่ว่าจะหายไป สามารถกลับมาเล่นต่อได้ ตราบใดที่ลูกแดงยังเหลืออยู่บนโต๊ะ 

กฎเหล่านี้ช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการเล่นมากขึ้น ผู้แข่งขันสามารถชิงไหวชิงพริบ พลิกเกมกันได้ตลอดเวลา ต้องใช้ความคิดมากขึ้น กับการวางแผนเพื่อเอาชนะคู่แข่ง

เดินทางสู่อังกฤษเพื่อชนชั้นแรงงาน

จากการเป็นกีฬาของทหารอังกฤษพลัดถิ่นในประเทศอินเดีย สนุกเกอร์เดินทางสู่ดินแดนผู้ดีในปี 1885 โดย จอห์น โรเบิร์ต นักบิลเลียดชื่อดังชาวอังกฤษที่เดินทางไปยังอินเดีย

เขามีโอกาสพูดคุยกับนายพลท่านหนึ่งถึงเกมสนุกเกอร์ ซึ่งยอดนักสอยคิวรายนี้มองว่ากติกาของเกมรูปแบบใหม่มีความน่าสนใจ เขาจึงพากลับไปเผยแพร่ที่ดินแดนบ้านเกิด

2

ระยะแรก สนุกเกอร์ไม่เป็นที่นิยมของชาวอังกฤษ เพราะพวกเขามีกีฬาลักษณะนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองอยู่แล้ว คือ บิลเลียด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนจะหันมาเล่นเกมแบบใหม่ 

กระทั่งช่วงปี 1900-1901 บริษัทผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับกีฬาสอยคิวได้เล็งเห็นว่า กติกาที่แตกต่างของสนุกเกอร์ จะช่วยให้การแข่งขันประเภทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเริ่มโปรโมทเกมนี้ ให้เข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น

ย้อนไปในเวลานั้น เกมสอยคิวอย่าง “บิลเลียด” คือกีฬาของคนชั้นสูง ผู้มีอำนาจในการควบคุมความเป็นไปต่างๆของการแข่งขันรูปแบบนี้ ล้วนเป็นคนชนชั้นนำในสังคม การแข่งขันส่วนใหญ่คนที่เข้ามาชมก็เป็นคนมีฐานะ

ขณะที่นักกีฬาส่วนใหญ่เป็นผู้ดี มีการศึกษา อาจจะมีคนจากชนชั้นแรงงานบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ไต่เต้ามาจากระดับล่างสุดของสังคม นอกจากนี้การเป็นนักบิลเลียดในอังกฤษ คือใบเบิกทางชั้นดี ต่อการยกระดับทางสังคม เพราะได้เจอกับคนชนชั้นสูงอยู่บ่อยครั้ง

สนุกเกอร์ จึงต้องเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อไม่ให้ไปทับรอยกับบิลเลียด นั่นคือ เจาะตลาดชนชั้นแรงงาน เปลี่ยนให้สนุกเกอร์เป็นเกมที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นกิจกรรมยามเลิกงานใช้ในการพักผ่อน สำหรับคนชนชั้นล่าง 

แต่กว่าสนุกเกอร์จะกลายเป็นกีฬาของชนชั้นแรงงานอย่างเต็มตัว ต้องรอถึงปี 1925 อันเป็นช่วงเวลาที่ โจ เดวิส นักสอยคิวหนุ่มที่เติบโตมาจากครอบครัวกรรมกรขุดเหมือง กำลังร้อนแรงสุดขีดในฐานะนักสนุ๊ก กลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้คนชนชั้นล่างหันมาเล่นเกมเดินตามรอยชายผู้นี้

ภายในระยะเวลาอันสั้น สนุกเกอร์ กลายเป็นกิจกรรมหลังเลิกงานที่เหล่าแรงงานจะขาดไม่ได้ ด้วยเป็นเกมที่มีความสนุก แต่ไม่ได้ออกแรงทางร่างกายเยอะ แถมจิบเบียร์ระหว่างเล่นไปด้วยได้อีก

นอกจากนี้ การประสบความสำเร็จเป็นแชมป์โลก 15 สมัยของ โจ เดวิส ยิ่งทำให้คนชนชั้นแรงงานรุ่นใหม่ หันมาเล่นสนุกเกอร์ เพื่อหวังตามรอยชายผู้เป็นความภูมิใจของคนชนชั้นล่าง ในประเทศอังกฤษ

ภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ภายใต้โลกทุนนิยม

โจ เดวิส ไม่ได้นำพาเพียงความภาคภูมิใจ แรงบันดาลใจให้ชนชั้นแรงงานผ่านสนุกเกอร์ แต่เขาสร้างความนิยมให้เกมนี้อย่างมหาศาล 

แม้ว่าสนุกเกอร์จะเป็นกีฬาที่เล่นในหมู่ชนชั้นแรงงาน แต่คนที่ตีตั๋วเข้าไปดูเกมในสนาม คือกลุ่มคนที่มีฐานะมาตลอด คนชนชั้นนำในอังกฤษเท่านั้นที่จะมีเงินมากพอ ใช้จ่ายไปกับกิจกรรมดูกีฬา ใส่สูทนั่งชมเกมในฮอลล์หรูกลางกรุงลอนดอน 

3

รากฐานต่าง ๆ ของกีฬาสนุกเกอร์ ยังคงสืบทอดมาจากกีฬาสอยคิดรูปแบบอื่น นั่นคือมีกลิ่นอายของการเป็นเกมสำหรับอีลีตชนมาตั้งแต่แรก ดังนั้นการจะพลิกกีฬานี้ ให้กลายเป็นกีฬาสะท้อนภาพของคนมีเงิน แทนที่จะเป็นชนชั้นแรงงาน เกิดขึ้นง่ายดายกว่าที่หลายคนนึกถึง

วิธีการที่ง่ายคือ การอัดเงินเข้าไปในสนุกเกอร์ ความนิยมที่พุ่งสูงเสียดฟ้าจากยุค 50’s และ 60’s ทำให้เกมสอยคิวมีเงินตอบแทนรางวัลที่สูง ไม่ได้มีแค่คนชนชั้นแรงงานที่อยากเป็นนักสนุกเกอร์ แต่รวมถึงคนจากชั้นชั้นกลาง หรือผู้มีฐานะที่อยากจะเข้าแข่งขันด้วยเช่นกัน

นอกจากนักแข่งที่เพิ่มมากขึ้น สปอนเซอร์ก็เข้ามามากขึ้นตามไปด้วย ทั้ง เบียร์ยี่ห้อหรูหรา, เสื้อผ้าราคาแพงที่หันมาให้นักกีฬาสวมใส่ ทุกอย่างกลายเป็นเงินเป็นทองไปหมด

พอเงินเข้ามามีบทบาทในกีฬามากขึ้น ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชนชั้นนายทุน จะเข้ามาเป็นหัวใจหลักแทนที่คนชนชั้นแรงงาน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วคนรากหญ้าไม่ได้เลิกเล่นสนุกเกอร์ แต่กลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ

แต่คนที่สร้างภาพลักษณ์ให้สิ่งต่าง ๆ คือผู้ควบคุมสื่อ นั่นคือกลุ่มนายทุน ท่ามกลางความนิยมที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่ในอังกฤษ แต่โด่งดังไปทั่วโลก ผู้มีอำนาจย่อมไม่อยากให้สนุกเกอร์มีภาพลักษณ์ เป็นกีฬาของแรงงานดื่มเบียร์ เฮฮา เสียงดัง และเลยเถิดจนเกิดการทะเลาะวิวาท ทั้งที่สามารถทำให้เป็นเกมของผู้ดีได้

เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับสนุกเกอร์ แต่รวมถึงฟุตบอลในอังกฤษด้วยเช่นกัน สถานที่เล่นกีฬาบางครั้งกลายเป็นที่อาละวาทของชนชั้นแรงงาน นำความเครียดที่ได้รับจากการทำงาน มาปลดปล่อยที่โต๊ะสนุก สวมทางกับมูลค่าที่กำลังเพิ่มขึ้น

ภาพที่คนมีอำนาจพยายามฉายภาพของเกมนี้ออกไป คือนักกีฬาที่มีความเป็นสุภาพบุรุษ มีน้ำใจนักกีฬา สุขุมนุ่มลึก แต่ขณะเดียวกันก็กล้าได้กล้าเสีย 

นอกจากนี้ บรรยากาศรอบข้างกลายเป็นส่วนผสมอย่างดี ที่ทำให้สนุกเกอร์เป็นกีฬาที่มีฐานะ การแข่งขันในฮอลล์หรู คนดูแต่งตัวดี นั่งนิ่งเงียบชมเกมการแข่งขัน พร้อมกับการจิบเครื่องดื่มเบา ๆ ทั้งผู้เล่น และผู้เข้าชม ยิ่งทำให้กีฬานี้ดูมีคลาสแตกต่างกว่ากีฬาอื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่ากีฬาสุภาพบุรุษ คือสิ่งที่ถูกปลูกฝังกันมาต่อเนื่องว่า สนุกเกอร์คือกีฬาที่คนเล่นจะต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ รู้จักมารยาท แต่ก็สามารถใช่ชีวิตที่ดูหรูหรา แต่งกายอย่างมีเสน่ห์ พร้อมกับไล่ล่าคว้าชัยชนะในการแข่งขัน อันเป็นชีวิตที่ผู้ชายจำนวนมากถวิลหา

สนุกเกอร์จึงแปรเปลี่ยนภาพ กลายเป็นกีฬาของผู้ชายที่มีคลาส ออกแนวเพลย์บอย รักสนุก แทนที่จะเป็นกิจกรรมของคนชนชั้นล่าง เหมือนในอดีต

มุมมองที่ต่างออกไปในประเทศไทย

ภาพจำของสนุกเกอร์โลก จึงเป็นตัวแทนของกีฬาที่หรูหรา มีคลาส ถูกผลิตซ้ำมาจนถึงปัจจุบัน ตามที่ผู้มีอำนาจต้องการให้เป็น ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป

หลายประเทศได้รับอิทธิพลจากสนุกเกอร์ในยุครุ่งเรืองของ โจ เดวิส ภาพของกีฬาสอยคิวในฐานะเกมของชนชั้นแรงงานแผ่ขยายไปทั่วโลก ประเทศไทย คือหนึ่งในนั้น

4

สนุกเกอร์ ได้รับความนิยมอย่างช้านานในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1927 เป็นต้นมา กลายเป็นเกมที่คนรากหญ้าใช้หาความสนุกได้ง่าย เพราะไม่ใช่แค่ออกกำลังทางร่างกายน้อย แต่ใช้เป็นเครื่องมือเดิมพันได้เป็นอย่างดี

สนุกเกอร์ในประเทศไทย คือกีฬาที่มีความขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะกลุ่มคนที่มีอำนาจ ควบคุมความเป็นไป คือคนชนชั้นนำที่มีอำนาจ สามารถทำให้กีฬานี้มีความเกี่ยวข้องกับคนชั้นสูง ดูได้จากการใช้ ราชตฤณมัยสมาคม หรือ สนามม้านางเลิ้ง เป็นสถานที่จัดการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี 1957

รวมถึง มอริส เคอร์ ชายชาวอังกฤษที่ผลักดันสนุกเกอร์ในช่วง 50’s-60’s มีความเกี่ยวข้องกับ ราชกรีฑาสโมสร สถานที่เล่นกีฬาสุดหรูของชนชั้นนำไทยในอดีต เห็นได้จากการที่ตำแหน่งที่ตั้งของคลับแห่งนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วงการสนุกเกอร์ไทยมีความตั้งใจไม่ต่างจากที่อังกฤษ กับการพลิกโฉมเกมสอยคิวให้กลายเป็นกีฬาที่มีคลาส ไม่ต่างจาก ว่ายน้ำ, เทนนิส, กอล์ฟ, ขี่ม้า ซึ่งถูกจำกัดการเข้าถึงในหมู่คนมีฐานะ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนกลุ่มหลักที่เล่นสนุกเกอร์ยังเป็นชนชั้นรากหญ้า โต๊ะสนุกสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ตามสถานบันเทิงสำหรับคนชั้นล่าง ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร, บาร์, ตามโต๊ะสนุ๊ก ฯ 

5

ภาพสองด้านของสนุกเกอร์ในไทย จึงขึ้นอยู่กับสื่อที่จะเป็นคนฉายภาพว่า จะสร้างความจำของคนอย่างไร สุดท้ายสิ่งที่ฉายออกมา คือเกมสอยคิวกลายเป็น ภาพแทนของการมั่วสุมอบายมุข ทั้งเครื่องดื่มมึนเมา, การพนันที่มากับกีฬานี้ กลายเป็นพื้นที่ปลดปล่อยอารมณ์ของชนชั้นแรงงาน บอกย้ำภาพที่แย่ของการกลุ่มนี้ ผ่านการทะเลาะวิวาท ณ โต๊ะสนุกเกอร์ 

สนุกเกอร์ในไทยมีภาพลักษณ์แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับต่างประเทศ กลายเป็นกีฬาที่ชวนนึกถึงเกมของชนชั้นแรงงาน มากกว่าจะเป็นเกมของสุภาพบุรุษสุดหรูหรา แบบที่ทั่วโลกเข้าใจ

ความเป็นจริงแล้ว การกำหนดภาพลักษณ์ให้กับสนุกเกอร์ คือสิ่งที่สื่อผลิตซ้ำ ฉายภาพที่อยากให้คนเห็นออกมา และเชื่อในสิ่งนั้น ไม่ว่าการเป็นกีฬาคู่ชนชั้นล่าง และอบายมุขที่ประเทศไทย หรือเกมที่มีคลาสแบบต่างประเทศ

หากจะนิยามตัวตนที่แท้จริง สนุกเกอร์ถือเป็นกีฬาที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นคนรวย หรือชนชั้นแรงงาน ล้วนมีแฟนคลับของเกมนี้อยู่ทั่วทุกมุมโลก เพราะนี่คือกิจกรรมที่สร้างความผ่อนคลายได้ดีเป็นอย่างมาก ทุกคนสนุกกับเกมนี้ โดยไม่เกียวกับภาพลักษณ์ หรือฐานะทางสังคม

6

แม้กระทั่ง การเรียกสนุกเกอร์ว่าเป็นกีฬาของสุภาพบุรุษ ดูเหมือนจะตกยุคด้วยซ้ำ เพราะนี่คือการแข่งขันที่ผู้หญิงให้ความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนการที่มาบอกว่า สนุกเกอร์เป็นกีฬาของผู้ชาย ไม่ใช่สิ่งที่สมเหตุสมผลแล้ว

สนุกเกอร์คือกีฬาแห่งเสรีภาพ หากดูจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เกมนี้คือกีฬาของทุกคน เพียงแต่ขึ้นอยู่กับสังคมจะกำหนดภาพให้ออกมาเป็นแบบไหนเท่านั้นเอง 

ถ้าคุณรักสนุกเกอร์ นี่คือกีฬาของคุณ ไม่ว่าจะเป็นคนแบบไหนก็ไม่สำคัญ เพราะเกมแทงลูกคิวยอดนิยมนี้ คือการแข่งขันที่พร้อมมอบความสุขให้กับทุกคน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ