ภาคประชาสังคมที่ประกอบจากหลายภาคส่วน ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร (20 ก.ค.) สนับสนุนองค์การเภสัชกรรมผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ และจัดส่งยาดังกล่าวให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 แม้บริษัทที่คิดค้นยาดังกล่าว คือ ฟูจิฟิล์ม โทยามะ เคมิคอล จำกัด ไม่ยินยอม
การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจาก ฟูจิฟิล์ม เคยขอรับสิทธิ์บัตรยาฟาวิพิราเวียร์เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563 ซึ่งสร้างความกังวลแก่ภาคประชาสังคม ที่ประกอบด้วยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และกลุ่มนักวิชาการเพื่อการเข้าถึงยา ว่าจะทำให้คนไข้ในไทยเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ยากขึ้นและในราคาที่สูงขึ้น จึงเข้าพบอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแสดงความกังวลดังกล่าวเมื่อเดือน ม.ค. 2564
ต่อมากรมทรัพย์สินทางปัญญาปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรของฟูจิฟิล์มเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ปีนี้ ทำให้ฟูจิฟิล์มยื่นอุทธรณ์
ภาคประชาสังคมเผยว่า หลังจากที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาปฏิเสธคำขอของฟูจิฟิล์ม องค์การเภสัชกรรมได้นำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญมาจากอินเดียในราคาที่ถูกว่ายาต้นแบบของฟูจิฟิล์ม ถึง 50% และเร่งวิจัยการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เอง
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติการขึ้นทะเบียนยาให้กับยาฟาวิพิราเวียร์ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม และองค์การเภสัชกรรมพร้อมส่งยาฟาวิพิเราเวียร์ ที่ผลิตเองให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในเดือนสิงหาคมนี้
นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมยังเตรียมยื่นข้อมูลเพื่อให้กรมทรัพย์สินทางบัญญาพิจารณาและปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรยาเรมดิซิเวียร์ ซึ่งเป็นยาสำคัญอีกชนิดที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 และกำลังจะขาดแคลน และเป็นยาที่บริษัทยาในประเทศสามารถผลิตได้ถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องสิทธิบัตร
หวั่นกฎหมายสิทธิบัตรใหม่ จำกัดคนไข้เข้าถึงยา
สถานการณ์โควิด-19 และยาฟาวิพิราเวียร์เป็นตัวอย่างของการผูกขาดตลาดยาด้วยระบบสิทธิบัตรที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะในยามวิกฤต กรมทรัพย์สินทางปัญญายกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตรและเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แต่ข้อเสนอแนะและคำทักท้วงที่ภาคประชาสังคมและนักวิชาการด้านการเข้าถึงยาเกือบ 20 องค์กรที่มีต่อร่างกฎหมายที่แก้ไข กลับไม่ได้รับการพิจารณาและไม่ถูกรวมอยู่ในเนื้อหากฎหมายที่แก้ไขที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
ประเด็นที่ภาคประชาสังคมฯ เป็นกังวลที่สุด คือการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการซีแอล) ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงยา เพราะการผูกขาดด้วยการจดสิทธิบัตรที่ทำให้ไม่มีการแข่งขันและยาราคาแพง ในร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรฉบับแก้ไขที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมยื่นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ได้เสนอให้คำสั่งการใช้สิทธิโดยรัฐที่ออกโดยกระทรวง ทบวง และกรม ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่งก่อน นอกจากนี้ เมื่อประกาศการใช้มาตรการซีแอลไปแล้ว บริษัทยาที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรสามารถยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับหรือยกเลิกคำสั่งประกาศใช้ซีแอลได้อีกด้วย
ในอดีตมาตรการซีแอลช่วยให้ประเทศไทยนำเข้ายาชื่อสามัญสำหรับรักษาเอชไอวี โรคหลอดเลือดอุดตัน และโรคมะเร็งในราคาที่ถูกกว่ายาที่ติดสิทธิบัตร 70-90% และทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศจ่ายยาดังกล่าวให้ผู้ป่วยนับแสนคนผ่านการบริการของโรงพยาบาลต่างๆ ได้ ถ้ามาตรการซีแอลถูกแก้ไขตามที่กรมฯ กำลังจะเสนอ ประเทศไทยอาจไม่มีโอกาสได้ใช้มาตรการซีแอลอีกเลยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตด้านสุขภาพอย่างโควิด 19
ภาคประชาสังคมต้องการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ไขถ้อยความในมาตราที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการซีแอล) ในร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรฉบับแก้ไข โดยตัดการที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและการอนุญาติให้ผู้ทรงสิทธิบัตรฟ้องศาลให้ระงับหรือยกเลิกคำสั่งการใช้สิทธิโดยรัฐออกทั้งหมด และควรเพิ่มหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกระทรวง ทบวง กรมให้สามารถประกาศใช้ซีแอลได้ด้วย รวมไปถึงการต้องไม่แก้ไขให้มีการขอจดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษาและการป้องกันโรคได้