ภัยเงียบฤดูร้อน! 8 ภาวะอันตรายจากอากาศร้อน รู้ตัวช้าถึงตาย พร้อมวิธีป้องกัน

Home » ภัยเงียบฤดูร้อน! 8 ภาวะอันตรายจากอากาศร้อน รู้ตัวช้าถึงตาย พร้อมวิธีป้องกัน


ภัยเงียบฤดูร้อน! 8 ภาวะอันตรายจากอากาศร้อน รู้ตัวช้าถึงตาย พร้อมวิธีป้องกัน

ภัยเงียบฤดูร้อน! 8 ภาวะอันตรายจากอากาศร้อน รู้ตัวช้า-ถึงตาย พร้อมวิธีป้องกันและวิธีปฐมพยาบาล

หน้าร้อนระวัง การเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูงเสี่ยงให้เกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวจนเกิดอันตรายไม่รู้ตัว ทางทีมข่าวสดจะขอแนะนำ 8 ความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อน ให้ประชาชนพึงระวังกันไว้ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ความเจ็บป่วยที่เป็นลักษณะอาการที่เตือนให้ทราบ และอาการที่มีอันตรายถึงขันเสียชีวิต

1.ผิวไหม้แดด (Sunburn) มักมีอาการผิวหนังที่เจ็บปวด แดง และร้อน รวมถึงมีแผลพุพองบนผิวหนัง ดังนั้น สิ่งที่ควรระวัง คือ หลีกเลี่ยงแสงแดดจนกว่าอาการผิวไหม้จากแสงแดดจะหายดี, วางผ้าเย็นบนพื้นที่ที่ถูกแดดเผาหรืออาบน้ำเย็น, ทาโลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นในบริเวณที่โดนแดดเผา แต่อย่าแกะหรือเกาแผลพุพอง

2.การบวมแดด (Heat edema) คือ การบวมและตึงของบริเวณมือและเท้า ซึ่งจะเกิดขึ้นใน 2 – 3 วันแรกที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อน ส่วนใหญ่จะบวมที่เท้าขึ้นมาถึงข้อเท้า มักไม่ลามขึ้นเกินหน้าแข้ง สาเหตุเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณผิวหนังและมีสารน้ำคั่งในช่องระว่างเซลล์ในบริเวณแขนขา ซึ่งอาการนี้มักหายไปในเวลาไม่กี่วัน

3.การเกร็งแดด (Heat tetany) เกิดจากการหายใจเร็ว ตื้น หรือหอบมากเกินไป พร้อมทั้งมีการจีบเกร็งและชาที่ปลายมือ ส่งผลให้เกิดความเป็นด่างในเลือดจากการหายใจ (Respiratory alkalosis) มีอาการเหน็บชา เกร็งกล้ามเนื้อ มักเกิดในสภาวะที่ได้รับความร้อนอย่างมาก ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ

4.ผดร้อน (Prickly heat or Heat rash) คือ อาการตุ่มแดงขนาดเล็กที่ดูเหมือนสิวบนผิวหนัง มักอยู่ที่คอ หน้าอก ขาหนีบ หรือรอยพับข้อศอก ซึ่งมีอาการคันเป็นอาการเด่น เนื่องจากมีอาการอุดตันของต่อมเหงื่อที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบแบบเฉียบพลันของท่อเหงื่อ ดังนั้น ขอแนะนำให้อยู่ในพื้นที่แห้งและเย็น

5.โรคลมแดด (Heat Syncope) เป็นภาวะของความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย การลดลงของการตึงตัวของหลอดเลือด และการพร้องของปริมาตรสารน้ำ ซึ่งภาวะนี้พบบ่อยมากกับผู้ที่ไม่ชินอากาศร้อน โดยจะมีอาการอุณหภูมิร่างกายสูง, ผิวหนังร้อน-แดง, ชีพจรเต้นเร็วและแรง, ปวดศีรษะ, อาการวิงเวียนศีรษะ, คลื่นไส้, สับสน, เป็นลม และหมดสติ โดยมีวิธีแก้หากเกิดอาการ คือย้ายบุคคลนั้นไปยังที่ที่เย็นกว่า ช่วยลดอุณหภูมิของบุคคลด้วยผ้าชุบน้ำเย็นหรืออ่างน้ำเย็น แต่ห้ามให้บุคคลนั้นดื่มน้ำ

6.ตะคริวจากความร้อน(Heat cramp) เป็นการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่บังคับไม่ได้ มักมีอาการเหงื่อออกมากระหว่างออกกำลังกายอย่างหนักและปวดกล้ามเนื้อหรือชัก สิ่งที่ควรทำ คือ หยุดการออกกำลังกายและย้ายไปยังที่เย็น, ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ และรอให้ตะคริวหายไปก่อนค่อยออกกำลังกายต่อไป อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์ หากเกิดตะคริวนานกว่า 1 ชั่วโมงและปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ

กลุ่มที่มีอาการรุนแรง คือ 7.อาการอ่อนเพลียจากความร้อน (Heat Exhuaustion) มีอาการเหงื่อออกมาก, ผิวหนังเย็น ซีด และชื้น, ชีพจรเต้นเร็วและอ่อนแรง, คลื่นไส้หรืออาเจียน, ปวดกล้ามเนื้อ, ความเหนื่อยล้าหรือความอ่อนแอ, อาการวิงเวียนศีรษะ, ปวดศีรษะ และเป็นลม (หมดสติ) โดยมีวิธีแก้หากเกิดอาการ คือ ย้ายไปยังที่เย็น, ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออกให้หมด เช่น แจ็กเก็ตหรือถุงเท้า, เช็ดด้วยผ้าเย็น, อาบน้ำเย็น หรือจิบน้ำ ซึ่งควรไปพบแพทย์หากอาเจียน มีอาการของคุณแย่ลง หรือมีอาการนานกว่า 1 ชั่วโมง

8.โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat stroke) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อนที่ร้ายแรงที่สุด เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้อีกต่อไป อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลไกการขับเหงื่อล้มเหลว และร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ เมื่อฮีทสโตรกเกิดขึ้น อุณหภูมิของร่างกายอาจสูงถึง 106°F หรือสูงกว่านั้นภายใน 10 ถึง 15 นาที โรคลมแดดอาจทำให้พิการถาวรหรือเสียชีวิตได้หากบุคคลนั้นไม่ได้รับการรักษาในกรณีฉุกเฉิน

อาการของโรคลมแดด ได้แก่ สับสน, พูดไม่ชัด, หมดสติ (โคม่า), ผิวหนังร้อน แห้ง หรือเหงื่อออกมาก, อาการชัก, อุณหภูมิร่างกายสูงมาก ซึ่งอันตรายถึงชีวิตหากการรักษาล่าช้า โดยวิธีปฐมพยาบาล คือ ย้ายคนไปยังพื้นที่ร่มและเย็น, ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก, วางผ้าเย็นหรือน้ำแข็งบนศีรษะ คอ รักแร้ และขาหนีบ

การป้องกันความเจ็บป่วยที่เกิดจากความร้อน

  • ดื่มเครื่องดื่มเย็น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำลังเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย
  • สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ และมีสีอ่อน
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดระหว่าง 11.00 น. ถึง 15.00 น
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และเครื่องดื่มร้อน
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่รุนแรงกลางแจ้ง
  • อาบน้ำเย็นหรือเอาน้ำเย็นมาประคบผิว
  • หากอยู่ในบ้านในวันที่อากาศร้อนจัด ให้ปิดม่าน ปิดหน้าต่าง

ขอบคุณที่มาจาก CDC กรมแพทย์ทหารบก กรมควบคุมโรค

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ