"ฟิเดล คาสโตร" : ผู้นำคลั่งรักในเบสบอล จนสั่งยึดทีมของอเมริกามาเป็นของตัวเอง

Home » "ฟิเดล คาสโตร" : ผู้นำคลั่งรักในเบสบอล จนสั่งยึดทีมของอเมริกามาเป็นของตัวเอง
"ฟิเดล คาสโตร" : ผู้นำคลั่งรักในเบสบอล จนสั่งยึดทีมของอเมริกามาเป็นของตัวเอง

ฟิเดล คาสโตร นี่คือชื่อที่ใครหลายคนคงคุ้นหูเป็นอย่างดี เพราะนักปฏิวัติผู้ล่วงลับรายนี้ คือผู้เปลี่ยนประเทศคิวบาให้กลายเป็นชาติสังคมนิยมที่แข็งแกร่ง ที่แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังเข้าไปแผ่อิทธิพลไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้นำผู้ทรงอิทธิพลอย่างมาก ในศตวรรษที่ 20

ถึงจะถูกจดจำในฐานะผู้นำสุดโหด ภาพลักษณ์ที่ดูรุนแรง แต่คาสโตรก็มีด้านที่หลายคนไม่รู้เกี่ยวกับตัวเขา นั่นคือการเป็นแฟนเบสบอลตัวยง จนถึงขนาดที่ว่า เคยเกือบไปเล่นเบสบอลอาชีพที่สหรัฐอเมริกา

เท่านั้นยังไม่พอ เขายังเคยฝากวีรกรรมสุดระห่ำ ทั้ง ยึดทีมเบสบอลมาเป็นของตัวเอง, สั่งยิงปืนในสนามแข่ง จนถึงยึดทีมภายใต้การครอบครองของสหรัฐอเมริกา และเป็นหัวหอกคนสำคัญที่ส่งให้เบสบอลคิวบา กลายเป็นสุดยอดของวงการอีกชาติหนึ่งในปัจจุบัน

รู้จักกับ ฟิเดล คาสโตร

ฟิเดล คาสโตร คือหนึ่งในชื่อผู้นำประเทศที่มีอิทธิพลอย่างมาก ในช่วงศตวรรษที่ 20 ชื่อเสียงเรียงนามของเขายังคงถูกส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน แต่หากคุณยังไม่รู้จักเขา เราจะพาคุณไปทำความรู้จักผู้นำชื่อดังของประเทศคิวบาแบบกระชับได้ใจความ

1เหตุผลที่ ฟิเดล คาสโตร โด่งดังอย่างมาก เป็นเพราะว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศคิวบา ให้กลายเป็นรัฐสังคมนิยมที่ใกล้เคียงกับแนวคิดดั้งเดิมของหลักการทางการเมืองสายนี้มากที่สุด นั่นคืออุตสาหกรรมในประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ เอกชนไม่มีบทบาททางเศรษฐกิจ และไม่ขับเคลื่อนประเทศด้วยทุนนิยม แต่ใช้แนวคิดของระบอบคอมมิวนิสต์เป็นแกน โดยมีรัฐเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนประเทศ

ฟิเดล คาสโตร ถือเป็นบุรุษที่ให้ความสนใจในการเมืองมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพราะตัวเขาไม่ชอบการรุกรานของสหรัฐอเมริกา ที่พยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาในคิวบา จนทำให้เกิดความชิงชังชาติมหาอำนาจแห่งโลกเสรีอยู่ในใจ และทำให้เขาเลือกไปซื้อแนวคิดจากขั้วตรงข้าม นั่นคือ คอมมิวนิสต์

ด้วยวัย 21 ปี คาสโตรเริ่มกิจกรรมทางการเมืองด้วยการเป็นเหมือนหน่วยใต้ดิน คอยโค่นล้มรัฐบาลฝ่ายขวาของคิวบาที่สนับสนุนสหรัฐฯ ซึ่งวิธีที่ใช้ก็ไม่ได้สันติเสมอไป คาสโตรเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเคยบุกสถานีตำรวจ เพื่อขโมยปืนไรเฟิลมาเป็นของตัวเอง

ความกล้าไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คาสโตรก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมือง แต่เขาเป็นคนที่เฉลียวฉลาดอย่างมาก ชื่นชอบการอ่านหนังสือ และชอบการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับปัญญาชนฝ่ายซ้าย หาความรู้ทุกวิถีทางที่จะนำมาเปลี่ยนแปลงประเทศคิวบา จนกลายเป็นหนึ่งในผู้รู้ลึก และเข้าถึงแนวคิดมาร์กซิสต์ ที่เป็นรากฐานของแนวคิดแบบสังคมนิยมทั้งปวง

2“มาร์กซิสต์สอนให้ผมรู้ว่า สังคมที่ดีควรเป็นอย่างไร หากคุณไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของความขัดแย้งระหว่างชนชั้น หรือรับรู้ถึงการแบ่งแยกระหว่างคนจนและคนรวย คุณก็เหมือนกับคนที่หลงทางอยู่ในป่า นั่นคือคุณไม่รู้อะไรเลย” คาสโตร เล่าถึงความคิดที่สนับสนุนเขา จนอยากเปลี่ยนแปลงประเทศคิวบา

คิวบาในช่วงปลายยุค 1940s มีความขัดแย้งอยู่ในสังคมอย่างมาก ทั้งทางการเมือง และเรื่องชนชั้น ทำให้ในสายตาของเขามองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก “ทุนนิยม” ที่ทำให้ชนชั้นนำในประเทศ หลงใหลในอำนาจ คอรัปชั่นงบประมาณประเทศ ไปจนถึงโกงเลือกตั้ง ปล่อยให้ประชาชนต้องเจอปัญหาทางสังคม โดยไม่ได้รับการแก้ไข

ฟิเดล คาสโตร เลือกใช้ปริญญาด้านกฎหมายเป็นใบเบิกทางให้เขาลงเล่นการเมือง ก่อนจะพบว่าเปล่าประโยชน์ กับการเล่นตามเกมปกติ เพราะคิวบาปกครองโดยระบอบเผด็จการ ที่แสร้งว่าเป็นประชาธิปไตย สามารถล้มการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้เพียงดีดนิ้ว และตัวของเขาเอง ก็ถูกรัฐบาลใช้ข้อหาต่าง ๆ เล่นงาน จนต้องขึ้นศาลอยู่บ่อยครั้ง

ใช้ไม้อ่อนไม่ได้ ก็ต้องใช้ไม้แข็ง … คาสโตรเปลี่ยนจากการสู้ในสภา ลงมายังท้องถนน เขาเตรียมแผนการปฏิวัติไว้แต่ก็พลาดจนถูกจับได้ และสุดท้ายต้องลี้ภัยไปยังเม็กซิโก ซึ่งทำให้เขาได้พบกับสหายคู่ใจ อย่าง เช เกวารา

คาสโตรเดินทางกลับมาที่คิวบาอีกครั้ง และทำการปฏิวัติจนสำเร็จ ต้องขอบคุณรัฐบาลฝ่ายขวาของคิวบา ที่ไม่ยอมพัฒนาประเทศ จนปล่อยให้เศรษฐกิจตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำสูง มาเฟียปกครองบ้านเมือง จนประชาชนหันมาร่วมกับกลุ่มปฏิวัติฝ่ายซ้าย 

3นับตั้งแต่ปฏิวัติสำเร็จในปี 1959 คาสโตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 1976 และมีส่วนสำคัญกับการเปลี่ยนคิวบาให้กลายเป็นรัฐสังคมนิยม และต่อต้านทุนนิยมของสหรัฐอเมริกาอย่างหนัก

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้ คือการพาคิวบาเป็นประเทศในทวีปอเมริกาเพียงประเทศเดียว ที่ไม่ถูกสหรัฐฯ ครอบงำด้วยอิทธิพลของทุนนิยม แต่ยังยืนหยัดผ่านระบอบคอมมิวนิสต์ที่ยึดถือ และได้รับการยกย่องว่า เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ที่มีความเป็นสังคมนิยมมากที่สุด ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ปลอม ที่ฝักใฝ่ทุนนิยม เช่น จีน ในปัจจุบัน 

“สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คาสโตรทำไว้กับคิวบา คือการเป็นตัวอย่างให้ชาติอื่นในลาตินอเมริกา เห็นว่าสามารถก้าวข้ามผ่านปัญหาต่าง ๆ ได้ … คิวบากลายเป็นดินแดนแห่งความฝันของสังคมแบบคอมมิวนิสต์” วอลเตอร์ ลิปมันน์ นักเขียนชื่อดังชาวสหรัฐอเมริกา เขียนถึงสิ่งที่คาสโตรฝากไว้ให้โลกใบนี้

เบสบอลในดวงใจ 

ทั้งที่ ฟิเดล คาสโตร มีความเป็นปรปักษ์อย่างมากกับสหรัฐอเมริกา แต่มีสิ่งหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศแห่งนี้ ที่คาสโตรกลับหลงรักสุดหัวใจ นั่นคือ กีฬาเบสบอล 

4เบสบอลเข้ามาฝังตัวอยู่ในคิวบา ตั้งแต่ช่วงปี 1864 จากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองชาติในอดีต จนกลายเป็นกีฬายอดนิยมของประเทศ ถึงขนาดที่ว่า ทีมใน Major League Baseball (MLB) ของสหรัฐฯ ต้องส่งแมวมองมาประจำการอยู่ในคิวบา เพื่อหานักกีฬาฝีมือดี ไปเล่นในลีกอาชีพอันดับหนึ่งของโลก

ฟิเดล คาสโตร เป็นอีกคนที่คลั่งไคล้เบสบอลเป็นอย่างมาก หนึ่งในความฝันของเขา คือการได้เป็นนักกีฬาเบสบอลอาชีพ มีคำกล่าวอ้างว่าในช่วงวัยหนุ่ม เขาเคยเป็นนักกีฬาเบสบอลในลีกสมัครเล่น และตัวเขาเอาจริงเอาจังด้านเบสบอลอย่างมาก จนเคยถูกแมวมองจากทีมใน MLB เรียกไปทดสอบฝีมือมาแล้ว

นิวยอร์ก ไจแอนท์ส (ซานฟรานซิสโก ไจแอนท์ส ในปัจจุบัน) และ วอชิงตัน ซีนาเตอร์ส (มินเนโซตา ทวินส์ ในปัจจุบัน) คือสองทีมที่เรียกตัวคาสโตรไปทดสอบฝีมือด้วย ซึ่งเราคงไม่ได้เห็นนักปฏิวัติผู้โด่งดัง และการเปลี่ยนแปลงประเทศคิวบาเป็นคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นจริง หากคาสโตรผ่านการเทสต์จากทั้งสองทีม

5มีการกล่าวอ้างว่า คาสโตรเคยเกือบเป็นสมาชิกของ วอชิงตัน ซีนาเตอร์ส ในฐานะพิทเชอร์ (หรือคนขว้างบอล) ของทีม ด้วยศักยภาพที่สามารถพัฒนาเป็นสตาร์ของลีก MLB แต่สุดท้ายการเซ็นสัญญาก็ไม่เกิดขึ้น

ถึงจะไม่ได้เป็นนักเบสบอลอาชีพ แต่ความฝันในการเล่นเบสบอลของคาสโตร ไม่เคยจางหายไปไหน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจปฏิวัติประเทศ และก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง เขาได้ตั้งทีมเบสบอลสมัครเล่นของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Los Barbudos ร่วมกับสหายคณะปฏิวัติที่ใช้กีฬาเป็นกิจกรรมยามว่าง หากว่างจากงานทางการเมือง

6แน่นอนว่า นอกจากจะเป็นนักกีฬาเบสบอล เขายังถือเป็นแฟนตัวยงของเกมกีฬานี้เช่นกัน โดยทีมโปรดของเขาคือ ฮาวาน่า ชูการ์ คิงส์ ที่อยู่ในคิวบา ซึ่งถึงจะไม่ใช่ทีมใหญ่ แต่ก็เป็นทีมที่คาสโตรผูกพันอย่างมาก จนต้องเป็นอันเข้าไปดูเกมในสนามเวลาว่าง

ด้วยอำนาจที่มีอยู่ในมือ จึงนำมาสู่ความคิดที่ว่า ทำไมเขาไม่เป็นเจ้าของทีมเบสบอลทีมนี้เสียเอง?

เบสบอลที่มาพร้อมกับกระสุนปืน

ถึงจะอยากได้ทีมในดวงใจมาเป็นของตัวเองมาก แต่เหตุผลที่ ฟิเดล คาสโตร จะยึดทีม ฮาวาน่า ชูการ์ คิงส์ ถือว่ามีเหตุผลอยู่ไม่น้อย เพราะในปี 1959 แฟรนไชส์นี้ติดหนี้อยู่มหาศาล เนื่องจากคนที่มาเริ่มต้นลงทุน คือแฟรนไชส์ใน MLB ที่สร้างทีมนี้มาเพื่อเป็นที่ฝึกปรือ และหาผู้เล่นอนาคตไกลในคิวบา แต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มจะถูกละเลย ไร้การดูแล

7ข้ออ้างที่มาจากความล้มเหลวด้วยระบบทุนนิยม จึงกลายเป็นเหตุผลชั้นดี ที่ทำให้คาสโตรยึดทีมเบสบอลทีมนี้มาเป็นของตัวเองได้ง่าย ๆ

ไม่ใช่แค่การเป็นเจ้าของทีมเบสบอล ที่เป็นการทำตามฝันของนักปฏิวัติรายนี้ แต่เขายังสามารถใช้สนามของทีมชูการ์ คิงส์ เป็นพื้นที่แข่งขันของ Los Barbudos ทีมส่วนตัวของเขา โดยมีผู้ชมเต็มสนาม เพราะเขาพาทีมของตัวเองลงแข่งขัน ในช่วงพักเบรกของเบสบอลอาชีพ

อย่างไรก็ตาม ฟิเดล คาสโตร ที่คลั่งเบสบอลอย่างมาก ได้ใช้เกมของทีมฮาวาน่า ชูการ์ คิงส์ เป็นสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองวันประกาศเอกราชของประเทศ 

วิธีฉลองของนักปฏิวัติรายนี้ คือการให้ทหารเอาปืนไรเฟิลมายิงขึ้นฟ้าแบบไม่ยั้ง จนคนวิ่งหนีตายกันอลหม่าน แน่นอนว่ามีคนถูกยิง หนึ่งในนั้นคือ นักเบสบอลนามว่า แฟรงค์ เวอร์ดี ที่โดนยิงบริเวณหัวไหล่ และเกือบตายเพราะกระสุนพุ่งไปที่หัวของเขา แต่โชคดีที่เขาใส่หมวกพลาสติกที่ใช้ป้องกันลูกเบสบอลเอาไว้อยู่ จึงรอดตายมาแบบฉิวเฉียด

“อยู่ดี ๆ ผมก็ได้ยินเสียงปืนดังสนั่น มาจากทั้งในและนอกสนาม เหมือนกับนรกแตก กระสุนปืนบินไปทั่วท้องฟ้า เป็นพันลูก ตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่ามันเกิดเรื่องบ้าอะไรขึ้น” แฟรงค์ เวอร์ดี เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเกือบตาย

8ข่าวนี้โด่งดังมาก ไปไกลจนถึงสหรัฐอเมริกา ส่วนฮาวาน่า ชูการ์ คิงส์ ของคาสโตร โดนสั่งห้ามเล่นในบ้านตลอดทั้งปี แต่ก็ไม่สามารถหยุดความยิ่งใหญ่ของทีมนี้ได้ เพราะพวกเขาคว้าแชมป์ถ้วยรัฐบาล (Governors’ Cup) ซึ่งถือเป็นถ้วยใหญ่ที่สุดของประเทศคิวบาในปีนั้น

เข้าสู่ปี 1960 ทุกอย่างยิ่งหนักขึ้นกว่าเดิม เมื่อ ฟิเดล คาสโตร ประกาศว่าทุกอย่างที่เป็นของสหรัฐอเมริกาในคิวบา จะต้องถูกรัฐบาลคิวบายึดครอง หมายความว่า ทีมเบสบอลทุกทีมในลีกอาชีพของคิวบา จะต้องเป็นของคาสโตร เพราะทุกแฟรนไชส์ล้วนมีความสัมพันธ์กับทีมเบสบอลในสหรัฐฯ

ขึ้นชื่อว่าสหรัฐฯ พวกเขาไม่ยอมให้ใครมาขโมยทรัพย์สินของตัวเองไปง่าย ๆ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จึงบีบให้ทาง MLB โอนสิทธิ์แฟรนไชส์ทุกสิทธิ์ ที่ยังมีความเกี่ยวข้องกับลีก ให้ย้ายฐานที่ตั้งกลับมาอยู่ในอเมริกา เพื่อให้คิวบาไม่สามารถยึดครองได้ เพราะตามเอกสารจะถือว่าทีมอยู่ที่สหรัฐฯ ต่อให้ในทางปฏิบัติจะแข่งอยู่ที่คิวบาก็ตาม

แน่นอนว่าตอนที่คาสโตรยึดทีมเบสบอลมาเป็นของตัวเอง เขาก็ไม่ได้ใช้วิธีที่ชอบตามหลักการสากล สุดท้าย ฮาวาน่า ชูการ์ คิงส์ ทีมรักของเขาจึงถูกสหรัฐฯ ดึงกลับไป และความสัมพันธ์ด้านเบสบอลระหว่างทั้งสองชาติจึงจบลงตอนนั้นอย่างเป็นทางการ 

9แต่ไม่มีอะไรสามารถหยุดความรักที่ ฟิเดล คาสโตร มีต่อเบสบอลได้ หลังจากการถอนตัวของสหรัฐฯ เขาประกาศตั้งลีกอาชีพของคิวบาในชื่อ Cuban National Series ภายใต้กฎข้อบังคับแบบคอมมิวนิสต์ เช่น แต่ละเมืองมีทีมเบสบอลได้แค่ทีมเดียว เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันทางการค้าระหว่างกัน, แต่ละทีมจะใช้ได้แค่ผู้เล่นที่มีภูมิลำเนาในแต่ละพื้นที่เท่านั้น เรียกได้ว่าถูกออกแบบมาให้เป็นกีฬาของชุมชนอย่างแท้จริง

คาสโตรได้รับคำชื่นชมอย่างมาก กับการพัฒนานักกีฬาเบสบอลในคิวบา ยกระดับให้กลายเป็นกีฬาอาชีพอย่างเต็มตัว จนสามารถส่งคนคิวบาไปเล่นที่ MLB ได้อย่างจริงจัง มากกว่า ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ เสียอีก อีกทั้งเบสบอลทีมชาติคิวบา ยังกวาดแชมป์มาได้มากมาย รวมถึงเหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัย ในช่วงที่คาสโตรเป็นประธานาธิบดีของประเทศ

10มีทั้งเรื่องดีและร้ายเกิดขึ้น กับการที่ ฟิเดล คาสโตร เข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศคิวบาให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาพัฒนาคิวบาอย่างแท้จริง คือเบสบอล ซึ่งเป็นรักแท้ของนักปฏิวัติคนนี้ และทำให้คิวบาเป็นหนึ่งในชาติที่โดดเด่นในกีฬาชนิดนี้มากที่สุดชาติหนึ่งของโลก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ