ธนาธร ย้ำปลดล็อกท้องถิ่น ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ย้อนพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง กักขังประเทศ ไม่ยอมกระจายอำนาจ ฝากก้าวไกลสานต่อ
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2565 ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธ์ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล พร้อมสมาชิกพรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภา คว่ำร่างกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น
นายธนาธร กล่าวว่า ตนขอชี้แจงถึงข้อที่เราคิดว่าไม่สมเหตุสมผลคือ 1.แนวคิดที่ว่าพวกเราสุดโต่งเกินไป เร็วเกินไป แรงเกินไป หลายคนกลัวว่าแนวคิดของเรา จะนำไปสู่การแบ่งแยกประเทศ มันแรงเกินไปหรือไม่ ตนคิดว่าความกลัวของท่าน เป็นความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผล ความกลัวของท่านกำลังกักขังอนาคตของประเทศ และอนาคตของคนรุ่นต่อไปอยู่ การปล่อยให้ปัญหาของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นสิบๆ ปี เป็นการอนุรักษ์นิยมสุดโต่งเกินไปหรือไม่ สิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ต่างหากที่สุดโต่งเกินไปหรือไม่ ตนยืนยันว่าสิ่งที่เราทำและเสนอไม่ได้สุดโต่งเกินไป คนที่กักขังประเทศไว้อย่างนี้ต่างหากที่สุดโต่ง
นายธนาธร กล่าวต่อว่า ส่วนการยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้น ยืนยันว่าร่างแก้ไขฉบับนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยเขียนไว้ว่า ให้จัดทำแผนการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และมาทำประชามติว่าจะรับแผนยกเลิกส่วนภูมิภาคนี้หรือไม่ภายใน 5 ปี โดยให้สังคมไทยได้แลกเปลี่ยนกันว่า ราชการส่วนภูมิภาคควรมีบทบาทอย่างไร
สุดท้ายคือ เรื่องทุจริต คิดว่าทุกรายงานยืนยันตรงกันหมดว่า ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีการทุจริตมากกว่าท้องถิ่น ในช่วง 15 ที่ผ่านมา ส่วนกลางและภูมิภาคมีมูลค่าการทุจริตรวม 4 แสนล้านบาท ท้องถิ่นมี 4 หมื่นล้านบาท และปีที่ผ่านมาท้องถิ่น 7,850 แห่ง มีเรื่องร้องเรียนทุจริต 600 กว่าเรื่อง ขณะที่กระทรวงมหาดไทยมีข้อร้องเรียน 500 กว่าเรื่อง
“ความตั้งใจของเรา ไม่ใช่ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ทำให้การบริหารงานภาครัฐมีประสิทธิภาพ การให้บริการประชาชนของภาครัฐดีขึ้น ข้อกล่าวหาและหลายข้อสงสัยไม่ได้ตั้งอยู่บนความจริง แต่ตั้งอยู่บนอคติที่ผิดๆ เสียดายที่การลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้ถูกปัดตกไป ถ้าเราดูเฉพาะเสียงของส.ส. ผมต้องบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เสียงรับหลักการมากกว่าเสียงไม่รับ จริงๆ แล้วที่มันไม่ผ่านต้องบอกว่ามันไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ได้ถึง 84 เสียงหรือ 1 ใน 3 ตามที่กฎหมายกำหนด จึงน่าเสียดายโอกาสและเวลาของประเทศเป็นอย่างยิ่ง” นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร กล่าวต่อว่า ขอขอบคุณ 8 หมื่นกว่ารายชื่อ และหลายองค์กรที่สนับสนุนในเรื่องนี้ ขอให้ทุกท่านเดินต่อเพื่อผลักดันการกระจายอำนาจต่อไปร่วมกับเรา และขอบคุณ ส.ส.จากทุกพรรค วันนี้ได้รับเสียงจาก ส.ส.ทั้งหมด 248 เสียง และ ส.ว.ทั้ง 6 เสียง แม้จะยังไม่เพียงพอแต่ขอขอบคุณจากใจของพวกเรา ถึงแม้พวกเราจะทำไม่สำเร็จในวันนี้ ตนและคณะก้าวหน้าจะรณรงค์เพื่อเพิ่มความเข้าใจต่อประชาชนในเรื่องการกระจายต่อไป เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าท้องถิ่นมีศักยภาพอย่างที่ท้องถิ่นปัจจุบันเป็น และขอฝากให้พรรคก้าวไกลสานต่อภารกิจนี้ต่อไปด้วย
ด้านนายพิธา กล่าวว่า ยินดีรับฟังและจะนำไปสานต่อ ซึ่งเราจะใช้เป็นนโยบายปราศรัยทุกเขต และยืนยันกับนายธนาธรว่า การกระจายอำนาจหรือการปลดล็อกท้องถิ่นได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันหากไม่มีการแก้กฎหมายต่อไปในครั้งหน้า ไม่มีพรรคที่เอาด้วย ไม่มีส.ว.ที่มากกว่า 6 คน ประเทศไทยก็จะกระจุกตัวต่อไป ฉะนั้น ปัญหาของประชาชนที่ไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือแล้งซ้ำซาก ขยะส่งกลิ่นเหม็น ก็จะไม่มีโอกาสได้แก้ไข เพราะหลักการในการปกครอง คนที่ใกล้ชิดกับปัญหาควรที่จะได้รับโอกาสในการแก้ปัญหา
ขณะที่นายวีรศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีข้อคิด 2 ประเด็น คือ จากผลการลงมติในครั้งนี้ คือความรู้สึกเสียดาย ที่เอาเรื่องการเมืองมาปนกับคุณภาพชีวิตของประชาชน หากได้ฟังคำชี้แจงตลอดสัปดาห์จะทราบว่าการกระจายอำนาจ ปลายทางคือคุณภาพชีวิตของประชาชน โอกาสที่ประชาชนจะได้ดูแล จัดการตัวเอง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เร็วกว่าการรอกลไกของรัฐ แต่หลายท่านกลับมองคุณภาพชีวิตของประชาชนมาที่หลัง เมื่อมองไปเป็นประเด็นการเมือง ทำให้มีอคติ
ประเด็นสุดท้ายคือ เร็วๆนี้จะมีการเลือกตั้ง และตนมั่นใจว่านโยบายการปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญที่พรรคการเมืองจะออกมาชูประเด็นเพื่อหาเสียง ตนจึงอยากให้ติดตามว่าผลจากการลงมติในวันนี้กับสิ่งที่แต่ละพรรค จะหาเสียงต่อไป ไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ มีการกลืนน้ำลายหรือไม่