จากที่วันนี้(18 มิ.ย.67) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ….. หรือที่รู้จักกันในชื่อ ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการออกเสียงในวาระสุดท้ายของรัฐสภาไทย
กลุ่มฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกมาแถลงถึงวินาทีประวัติศาสตร์นี้ว่า เพื่อประกันสิทธิในการสมรสและสิทธิอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของคู่รักหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ทางการไทยควรเร่งดำเนินการในเชิงรุกเพื่อประกันให้มีการบังคับใช้ตามกฎหมายนี้ทันที หลังมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
“กฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับใหม่ของไทย ถือเป็นชัยชนะในแง่ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของประเทศ” มุกดาภา ยั่งยืนภราดร เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว “การเดินทางมาจนถึงจุดนี้เป็นเส้นทางที่ยาวไกลและเต็มไปด้วยอุปสรรคท้าทาย แต่การออกเสียงเพื่อรับรองสมรสเท่าเทียมในวันนี้ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การเฉลิมฉลอง”
วันนี้ วุฒิสภาไทยได้ออกเสียงรับรองร่างพระราชบัญญัตินี้ในการพิจารณาวาระสุดท้าย โดยมีผู้ออกเสียงรับรอง 130 คน ผู้คัดค้าน 4 คน และผู้ไม่ออกเสียง 18 คน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรเองก็ได้ออกเสียงเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัตินี้ด้วยคะแนนเสียง 400 ต่อ 10
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะได้ถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการลงพระปรมาภิไธยในลำดับถัดไป หลังมีการเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการหลังผ่านไป 120 วัน
ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาขั้นสุดท้ายใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามี” และ “ภรรยา” และคำว่า “บุคคล” แทนที่คำว่า “ชาย” และ “หญิง” ตามมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การแก้ไขนี้ไม่เพียงส่งผลในเชิงคำศัพท์ที่ใช้เรียก หากยังทำให้คู่สมรสเพศหลากหลายสามารถเข้าถึงสิทธิการสมรสได้อย่างเท่าเทียม ทั้งการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ การรับบุตรบุญธรรม การให้ความยินยอมต่อการรักษา การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การรับมรดก การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของการลดหย่อนภาษีและบำนาญของคู่สมรส กฎหมายใหม่นี้ยังมีข้อบทที่ประกันว่า คู่รักหลากหลายทางเพศจะได้รับสิทธิเหมือนคู่สมรสอื่น ๆ โดยทันที นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก โดยเพิ่มอายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี
ข้อ 23 และ 26 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) คุ้มครองสิทธิการมีครอบครัวและการสมรสโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ หลักการไม่เลือกปฏิบัติยังถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายจารีต
ประเพณีระหว่างประเทศ และมีผลบังคับใช้กับรัฐทุกแห่ง ในทำนองเดียวกัน มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ห้ามการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบเช่นกัน
“หลังจากนี้ รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างรวดเร็วและเป็นผล เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ” มุกดาภา ยั่งยืนภราดร กล่าว “สมรสเท่าเทียมเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีของมนุษย์ และประเทศไทยจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิเหล่านี้โดยเร็วและไม่เลือกปฏิบัติ”