“พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย” ของมันต้องมีในกระบวนการยุติธรรมไทย

Home » “พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย” ของมันต้องมีในกระบวนการยุติธรรมไทย
“พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย” ของมันต้องมีในกระบวนการยุติธรรมไทย

ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างการซ้อมทรมาน กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายอีกครั้ง จากกรณีของ “ผู้กำกับโจ้” หรือ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ที่ก่อเหตุทำร้ายผู้ต้องหาค้ายาเสพติด โดยการใช้ถุงขยะคลุมศีรษะจนเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นหลายครั้งในประเทศไทย ทว่ากลับไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดถูกดำเนินคดี ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะประเทศไทยมีเพียงแต่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้บนกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดเท่านั้น แต่เรายังไม่มีกฎหมายลูกหรือกฎหมายลำดับรองที่จะมาบังคับใช้โดยเฉพาะเจาะจงกับกรณีเหล่านี้ ได้เพียงแต่อ้างอิงจากกฎหมายอาญาฉบับอื่น ทำให้ยังคงมีข่าวการละเมิดสิทธิให้เห็น และส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าที่คิด

  • ผบ.ตร. เร่งสอบคลิปกลุ่มชายหัวเกรียน ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะเหยื่อรีดไถเงินในสำนักงาน
  • ผบ.ตร. แถลง ผู้กำกับโจ้อาจถึงขั้นถูกขับออกราชการ ลั่นนิ้วไหนไม่ดีต้องตัดทิ้ง!
  • คุมตัว 5 ตำรวจแก๊งผู้กำกับโจ้ฝากขัง ร่ำไห้บอกสื่อ “โปรดให้ความเป็นธรรมกับผมด้วย”
  • คุมตัว “ผู้กำกับโจ้” ถึง สภ.นครสวรรค์ ฝากบอกถึงคนปล่อยคลิป (มีคลิป)

การทรมานคืออะไร

องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ระบุว่า การทรมาน คือการที่เจ้าหน้าที่รัฐสร้างความเจ็บปวดต่อผู้เสียหาย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ให้ยอมรับสารภาพ หรือเพื่อข่มขู่ให้กลัว อาจก่อให้เกิดบาดแผลทางร่างกายจากการถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย หรือในทางจิตใจ หรือสร้างความอับอาย รวมทั้งการทรมานรูปแบบใหม่ที่ทำให้ไม่เกิดรอยแผลบนตัวผู้เสียหาย แต่สร้างความเจ็บปวดอันสาหัส และทำให้การตรวจสอบร่องรอยการทรมานทำได้ยากขึ้น ซึ่งการทรมานถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดประเภทหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ถูกห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บ่อนทำลายขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ทั้งไม่มีเหตุผลหรือกรณีใดๆ ที่สามารถรับรองความชอบธรรมของการทรมานได้

คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในผู้ที่ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการทรมานและการบังคับสูญหาย เล่าว่าการทรมานเป็นเครื่องมือที่บางประเทศยังเลือกใช้อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใช้จะเป็นประเทศหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจในประเทศ เพื่อการปราบปรามการก่อการร้าย หรือการแบ่งแยกดินแดน และในบางบริบท ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการทรมาน มักจะเป็นกลุ่มคนที่ด้อยกว่าทางด้านชาติพันธุ์หรือศาสนา ซึ่งโดยทั่วไป การทรมานจะมีวิธีการที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้อับอาย เสียศักดิ์ศรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดกับผู้ชาย

สำหรับประเทศไทยเอง คุณพรเพ็ญมองว่าเรามีพัฒนาการในเรื่องนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ จากในสมัยโบราณที่ใช้วิธีการรุนแรงในการบังคับสารภาพหรือรีดข้อมูล ทว่าพัฒนาการดังกล่าวกลับหยุดชะงักและแย่ลงหลังจากเหตุการณ์ 9/11 และกระแสความกลัวอิสลาม (Islamophobia) ที่ทำให้คนเชื่อว่ามีภัยความมั่นคงเกิดขึ้น วิธีการทรมานจึงมักจะถูกนำมาใช้ในคดีความมั่นคง รวมทั้งคดีอื่นๆ เช่น ยาเสพติด คดีอาชญากรรมรุนแรง อย่างคดีข่มขืน หรือคดีที่เป็นที่สนใจของสาธารณะ และมีการใช้หลายระดับ ในปริมาณความรุนแรงที่แตกต่างกัน

ประเทศไทยไม่มีกฎหมายห้ามทรมานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เราห้ามหรือกำหนดโทษทางอาญาเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ทำร้าย มันเป็นการทำร้ายร่างกายและประพฤติมิชอบ ซึ่งเอาตัวคนผิดมาลงโทษได้ยากมาก ยากมากที่จะหาพยาน หลักฐาน และนำตัวเจ้าหน้าที่คนนั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะผู้เสียหายมักไม่มีหลักฐาน” คุณพรเพ็ญกล่าว

นอกจากนี้ แม้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะระบุถึงกระบวนการที่ปกป้องสิทธิในฐานะผู้บริสุทธิ์ ขณะที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว แต่ในทางปฏิบัติ กระบวนการเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบ เพื่อคุ้มครองสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

“ตามกฎหมายไทยก็คือ ตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวเราได้แค่ 48 ชม. ระหว่างนั้น เราได้สิทธิพบญาติ หาทนาย หรือพบแพทย์ ซึ่งบางทีก็ไม่ได้รับสิทธินี้เสมอไป หรือตอนนี้เริ่มมีการจับมาทำร้ายร่างกายเพื่อให้สารภาพก่อน แล้วค่อยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยอาจจะทำแบบไม่มีกฎหมายรองรับ หรือทำโดยอาศัยกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” คุณพรเพ็ญกล่าวถึงกฎหมายพิเศษ ซึ่งอาจเอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิของผู้ที่ถูกควบคุมตัว ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เนื่องจากกฎหมายเหล่านี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจับกุม ควบคุมตัวบุคคลเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าปกติ เช่น กฎอัยการศึกสามารถควบคุมตัวได้ 7 วัน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่สามารถควบคุมตัวได้ถึง 30 วัน

“เวลาทำงาน เราเชื่อว่ามีทั้งคนที่เป็นแพะ และคนที่มีส่วนในการกระทำความผิดจริง แต่หลักการสากลและจารีตประเพณีที่เราใช้กันอยู่ตอนนี้คือ ‘ห้าม’ ต่อให้เขาผิดจริง คุณต้องใช้วิธีอื่นในการได้มาซึ่งข้อมูล คุณทำได้ทุกวิธี แต่สิ่งที่ทำไม่ได้ก็คือการบังคับโดยการใช้ความรุนแรง ที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจ” คุณพรเพ็ญยืนยัน

บาดแผลที่ไม่มีวันหาย

การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการทรมาน ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อสภาพร่างกายของผู้ที่ถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อจิตใจ และกระทบไปถึงการใช้ชีวิตของผู้เสียหาย โดยแหล่งข่าวคนหนึ่งที่เคยตกเป็นผู้ถูกกระทำเปิดเผยว่า เขาถูกจับกุมตัวและละเมิดสิทธิถึง 3 ครั้ง และต้องอยู่กับความหวาดระแวงเรื่องความปลอดภัยเป็นเวลาหลายวันในห้องสี่เหลี่ยม

“สิ่งที่ลำบากและมีผลต่อสภาพจิตใจก็คือ ช่วงเวลาที่มีญาติมาเยี่ยม ถ้าเขาไม่เรียกไปสอบสวน เราก็นั่งลุ้นว่าวันนี้ญาติจะมาไหม มันทำให้เราหูแว่ว บางทีเราคิดไปเองว่าญาติเรามาเยี่ยม พอญาติมา เขาก็จะพาเรานั่งรถกระบะออกไปเจอญาติ เราได้สูดอากาศ ได้สัมผัสลมสัก 2 – 3 นาที ก็มีความสุขแล้ว วันไหนที่เพื่อนได้ออกไป แล้วกลับเข้ามา ก็จะเข้ามาด้วยหน้าตายิ้มแย้ม ถือของกินเข้ามา มันก็จะมีผลกับคนที่ไม่ได้ออกไป” แหล่งข่าวระบุ

แม้ว่าในที่สุด แหล่งข่าวผู้นี้จะถูกปล่อยตัว แต่เรื่องราวกลับไม่ได้จบลงอย่างสวยงาม เพราะประสบการณ์อันเลวร้ายยังคงตามมาหลอกหลอนเขาอยู่ โดยเขายอมรับว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตของเขายังไม่หายเป็นปกติ

“เวลาได้ยินเสียงรถกระบะหลายคันผ่านหน้าบ้าน เราจะรู้สึกว่าเขาจะมาที่บ้านเราไหม จะมาด้วยเรื่องอะไรวะ ถ้าหนักสุดก็คือ รู้สึกไม่ปลอดภัยเวลานอนอยู่ที่บ้าน ต้องไปนอนที่อื่น คือไม่อยากให้ตัวเองโดนจับ ไม่อยากโดนพาตัวไป มันฝังใจ มันเห็นภาพนั้นตลอด คือทำอย่างไรก็ได้ หนีไปก็ได้ ไม่อยากไปอยู่ในนั้น ถ้าเรารู้ตัวว่าจะถูกจับ เราก็จะหนี ไม่ใช่ว่าเราผิด แต่เราไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม เราไม่มั่นใจตรงนั้น เรากลัว กลัวมากๆ มันทำให้เราระแวงอยู่ตลอดเวลา” เขากล่าว

ด้านแหล่งข่าวที่เคยทำงานกับกลุ่มผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็เล่าว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐก่อให้เกิดบาดแผลในจิตใจของผู้เสียหาย และหลายรายต้องเข้ารับการบำบัดเยียวยา

“ทุกคนบอกตรงกันว่า ช่วงแรกๆ จะมือไม้สั่น นอนฝันร้าย บางคนเจอเจ้าหน้าที่ก็เดินหนีเลย บางคนต้องบำบัด คุยกับนักจิตวิทยา ไปตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพจิต ทุกเคสที่ทำงานกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ต้องส่งตัวมาบำบัด เขามีบาดแผล” แหล่งข่าวกล่าว

การทรมานไม่เพียงแต่ส่งผลเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงครอบครัวของผู้เสียหายด้วย ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่า หากสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งถูกจับกุมตัว โดยเฉพาะในคดีเกี่ยวกับความมั่นคง การประกันตัวจะเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากหลักทรัพย์ค้ำประกันสูง รวมทั้งญาติต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเยี่ยมเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถหาเงินค่าเดินทางมาเยี่ยมได้บ่อยๆ และหากผู้ที่ถูกควบคุมตัวเป็นหัวหน้าครอบครัว ปัญหาที่จะตามมาก็นับว่าหนักหนาสาหัสทีเดียว

“ถ้าภรรยาไม่ได้ไปทำงาน สามีเป็นคนหาเลี้ยง พอเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็จะมีผลกระทบด้านรายได้ ด้านจิตใจ และลูกก็จะมีปัญหาตามไปด้วย ต่างจากครอบครัวที่โดนระเบิด ถูกยิง จะมีหน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งการเยียวยาสภาพจิตใจ และการเงิน แต่สำหรับครอบครัวของคนที่เขาคิดว่าเป็นผู้ก่อเหตุ จะไม่มีหน่วยงานรัฐหรือใครก็ตามเข้าไปช่วยดูแล ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้น” แหล่งข่าวระบุ พร้อมเสริมว่า ความไม่เป็นธรรมเช่นนี้อาจก่อให้เกิดความโกรธแค้นและการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐอย่างไม่จบสิ้น กลายเป็นวงจรความรุนแรงได้ในระยะยาว

ด้านคุณพรเพ็ญก็มองว่า การทรมานสามารถส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน เพราะการกระทำเช่นนี้ไม่สามารถให้หลักประกันว่าจะได้ตัวคนผิดมาลงโทษจริง เนื่องจากเป็นการใช้กำลังบังคับ และผู้ที่ถูกควบคุมตัวอาจรับสารภาพเพื่อให้พ้นจากความรุนแรงก็เป็นได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดการยอมรับวิธีการที่นอกกฎหมายปกติ ซึ่งจะทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบือน

ปลายทางที่ไม่จบสิ้น

หลังจากผ่านขั้นตอนการ “สอบสวน” แล้ว ปลายทางของผู้ที่ถูกควบคุมตัวมีอยู่ 2 ทาง คือหากประเมินแล้วว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดี ก็จะถูกปล่อยตัว ส่วนผู้ที่มีพยานหลักฐาน หรือรับสารภาพ ก็จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา และถูกส่งไปฝากขังในเรือนจำ

“ฝากขัง 84 วัน แล้วก็นัดสืบพยานโจทก์ ก็เกือบๆ ปีนั่นแหละ กว่าศาลชั้นต้นจะตัดสิน ต่อ 1 คดี ถ้าหลายคดีก็นานหน่อย ประกันตัวก็ยาก แล้วคำที่ว่าผู้ต้องหาคือผู้บริสุทธิ์ มันก็ไปสวนกับหลักการ เขายังไม่ได้ตัดสินว่าเป็นคนผิด แต่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นคนผิดแล้ว เช่น ใส่ชุดนักโทษ ใส่โซ่ตรวน ไม่ได้รับสิทธิต่างๆ สมมติว่าศาล ตัดสินว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วที่เราไปปฏิบัติต่อเขาก่อนหน้านั้น มันคืออะไร การเยียวยากว่าจะได้มาก็ยากลำบาก บางทีเป็นปีก็ยังไม่ได้” แหล่งข่าวเล่า

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ การถูกปล่อยตัวก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีอิสรภาพ เพราะชื่อของผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะอยู่ใน “แบล็กลิสต์” ที่ถูกเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามไปจนถึงคุกคาม สร้างความหวาดระแวงไม่จบสิ้น และปัญหาที่ตามมาคือเครือข่ายที่ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในบางพื้นที่ ก็ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง และไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ได้ เพราะอาจทำให้ถูกคุกคามและดำเนินคดีหมิ่นประมาทโดยหน่วยงานความมั่นคง ดังนั้น เครือข่ายเหล่านี้จึงหันมาเน้นเรื่องการเยียวยาสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เสียหายและครอบครัวเป็นหลัก ทั้งการพาไปพบจิตแพทย์ ทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งผ่านการเล่าเรื่องของตัวเอง เป็นต้น

“เครือข่ายของผมก็มีการจัดกิจกรรม ให้ความรู้เรื่องสภาพจิตใจ ขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรม และขั้นตอนของกฎหมายพิเศษ มันก็ไม่ค่อยสมบูรณ์แบบ 100% คือเขาต้องการกำลังใจ ต้องการคำแนะนำเพื่อที่จะมีพลังในการเลี้ยงลูกคนเดียว มีความหวังว่าวันหนึ่ง สามีของเขาจะกลับมา ก็จะมีสภาพจิตใจหลายอย่าง เราก็จะประเมินว่าแต่ละคนสภาพจิตใจอยู่ขั้นไหน มีนักจิตวิทยาเข้าร่วมด้วย ส่วนเคสที่จะต้องจ่ายยา ก็จะมีจิตแพทย์มาวินิจฉัย” แหล่งข่าวระบุ

นอกเหนือจากการเยียวยาสภาพจิตใจ แหล่งข่าวยังกล่าวว่า การเยียวยาที่แท้จริงไม่ใช่แค่เงินหรือคำขอโทษ แต่ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายควรเข้าใจและยึดหลักการพื้นฐาน อย่างสิทธิในการประกันตัว อิสระในการออกไปหาพยานหลักฐานมาต่อสู้ในชั้นศาล และการไม่เลือกปฏิบัติในฐานะผู้บริสุทธิ์

เมื่อถามความเห็นว่าจะมีวิธีการใดที่แก้ปัญหาการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้ แหล่งข่าวมองว่าควรจะมี พ.ร.บ. เกี่ยวกับการทรมานและบังคับสูญหาย และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถแจ้งความเอาผิดผู้กระทำได้ และสามารถนำตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาไปไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรม

พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

หลังจากที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานฯ และอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญฯ ของสหประชาชาติ เมื่อปี 2550 ไทยมีพันธสัญญาในการทำให้การทรมานและบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรม นำไปสู่การจัดทำ “ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่มีความผิดจะต้องรับโทษ มีการให้ญาติ อัยการ พนักงานสืบสวนขอศาลให้เจ้าหน้าที่รัฐเปิดเผยสถานที่คุมขัง ระงับการทรมานหรือบังคับให้สูญหาย และให้เจ้าหน้าที่รัฐบันทึกข้อมูลเมื่อมีการคุมขังหรือเคลื่อนย้ายบุคคล ซึ่งคุณพรเพ็ญอธิบายว่า

“ร่าง พ.ร.บ. นี้มีจุดเด่นคือ การเอาคนผิดมาลงโทษ มีเรื่องของการป้องกัน และการเยียวยา ซึ่งถูกร่างโดยนักกฎหมายที่มีความเข้าใจเรื่องอนุสัญญาทั้งสองฉบับ โดยภาพรวมก็คือ มีช่องทางการดำเนินคดีผู้ที่กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้ง่ายขึ้น ตั้งข้อหาได้ง่าย เนื่องจากมันมีกฎหมายแล้ว แล้วก็มีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เราก็หวังว่าการคุ้มครองสิทธิของประชาชนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ยิ่งกว่านั้น คุณพรเพ็ญยังเชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะให้ประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็จะสามารถจัดแนวทางการทำงานได้อย่างเป็นทางการมากขึ้น เช่น แพทย์ที่ตรวจร่างกายเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ หรือหน่วยงานที่เยียวยาผู้เสียหาย ขอเพียงแต่รัฐมีความตั้งใจที่จะทำให้กฎหมายนี้บังคับใช้ได้จริง

“ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจแบบนี้ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกัน ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นมืออาชีพ เคารพสิทธิมนุษยชน และต้องการที่จะยืนหยัดในศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการ เขาก็ไม่อยากที่จะให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น มันก็เลยมีช่องทางที่จะเป็นการป้องปรามไม่ให้บุคลากรในหน่วยงานเดียวกันทำผิดกฎหมายหรือทำสิ่งที่เป็นเรื่องวงจรความรุนแรง” คุณพรเพ็ญเสริม

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การลงนามในอนุสัญญาของสหประชาชาติเมื่อ 12 ปีก่อน จนกระทั่งบัดนี้ การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กลับยังไม่ประสบความสำเร็จ

กระบวนการยุติธรรมคือคำตอบ

ในการทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คุณพรเพ็ญและแหล่งข่าวที่ทำงานเครือข่ายเห็นตรงกันว่าผู้เสียหายนั้นมีทั้งผู้บริสุทธิ์และผู้ที่กระทำผิดจริง แต่การทำผิดจริงหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก สิ่งที่ควรเกิดขึ้นก็คือการลงโทษผู้กระทำผิดควรเป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และพยานหลักฐานที่ได้มา ต้องได้มาด้วยความถูกต้อง ไม่ใช่การล่วงละเมิดทางร่างกายและจิตใจเพื่อให้ได้ข้อมูล

“หลายเรื่องเราก็เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ของเขาเต็มที่ บางทีเขาก็มีหลักฐาน แล้วผู้เสียหายไม่ได้บอกเราทุกเรื่อง และเราก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานที่จะออกรับให้เขาได้ในทุกเรื่อง แต่เราก็จะให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เป็นหลักการที่เรายอมรับได้ ผิดจริงหรือไม่ ไม่เกี่ยว ค้ายาก็ห้ามทำร้าย ข่มขืนจริงก็ห้ามทำร้าย เราไม่คิดว่าวิธีการเหล่านั้นมันช่วยให้นำตัวคนผิดจริงๆ มาลงโทษ ถ้าเขาผิดจริงต้องเอาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมต่อทุกคน” คุณพรเพ็ญยืนยัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ