
ความคืบหน้า เด็ก 14 กราดยิงพารากอน ล่าสุด กรมพินิจฯหารือครอบครัวเด็ก พ่อแม่ยินยอมให้ สถาบันกัลยาฯ รักษาเด็กต่อแต่ยังไม่ระบุกรอบเวลา
ความคืบหน้า เด็ก 14 กราดยิงพารากอน : เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 1 ม.ค.67 นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้า การปล่อยตัวเด็กชายวัย 14 ปี มือกราดยิงปืนที่ห้างพารากอนจนมีผู้เสียชีวิต หลังตำรวจส่งสำนวนคดีให้อัยการไม่ทันตามกำหนด เป็นเหตุให้หมดอำนาจควบคุมตัวเพื่อรับการรักษาและสอบปากคำที่สถาบันกัลยาณราชนครินทร์ ตั้งแต่เมื่อเที่ยงคืนที่ผ่านมาว่า กระบวนการของอัยการได้หมดหน้าที่นับตั้งแต่คืนสำนวนคดีให้ตำรวจแล้ว
ส่วนเรื่องการรักษาตัวเด็กชายผู้ก่อเหตุที่สถานพยาบาลแห่งนี้ต่อไปนั้น ได้พูดคุยกับหนึ่งในคณะสหวิชาชีพผู้ร่วมรักษาเด็ก ระบุว่า แพทย์ได้ลงความเห็นว่า เด็กยังมีอาการป่วยจิตเวช ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายของเด็กที่อาจก่อกับสังคม และต้องหาสาเหตุการก่อเหตุครั้งนี้ โดยเป็นไปตามหลักนิติจิตเวช แพทย์จึงยืนยันว่า จะต้องแจ้งผู้ปกครองถึงเงื่อนไขเหล่านี้ แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการตามกฎหมาย เนื่องจากการรับการรักษาต่อนั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและผู้ปกครองเอง
- คืนนี้! หมดอำนาจคุมตัว เด็ก 14 กราดยิงพารากอน ให้งดสอบสวนไปก่อน
- กราดยิงพารากอน ล่าสุด พูดคุยได้แต่เมื่อถามเรื่องคดี เด็กตอบ “จำไม่ได้”
- #กราดยิงพารากอน ระอุซ้ำ! หลังสรุปสำนวน ‘ยังเด็กต่อสู้คดีไม่ได้’
นายประยุทธ ยืนยันว่า ในวันนี้มีการประชุมหารือระหว่างผู้ปกครองเด็ก เจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ แพทย์ และส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทราบผลสรุปภายในวันนี้ หากเด็กไม่เจ็บป่วยก็ต้องปล่อยตัวไป แต่เมื่อชัดเจนว่าป่วยก็ต้องรักษาตัวต่อ
ต่อมาเวลา 11.00 น.รถของเจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ แพทย์และผู้ปกครอง ทยอยขับรถออกจากโซนอาคารรักษาตัวของผู้ป่วย ซึ่งปิดกั้นไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไป โดยไม่มีผู้ใดให้ข้อมูล
พ่อแม่ให้รักษาต่อจนกว่าอาการทางจิตจะหาย
น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า กรมพินิจฯ ไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวเด็ก จึงมาแจ้งสถาบันกัลยาณฯ และส่งมอบให้ผู้ปกครองลงนามรับตัวเด็ก ก่อนจะหารือเรื่องการรักษาตัวต่อภายในสถาบันฯ โดยผู้ปกครองยินยอมให้สถาบันฯ รักษาตัวต่อไป โดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ เอง แต่ไม่สามารถระบุกรอบเวลาการรักษาตัวได้ จากนี้ถือว่าหมดอำนาจการควบคุมของกรมพินิจฯ แล้ว
