พ่อค้าเทน้ำยาล้างจานแช่ปลา อ้างช่วยเพิ่มออกซิเจน อ.เจษฎ์ ตอบแล้วอันตรายไหม

Home » พ่อค้าเทน้ำยาล้างจานแช่ปลา อ้างช่วยเพิ่มออกซิเจน อ.เจษฎ์ ตอบแล้วอันตรายไหม
พ่อค้าเทน้ำยาล้างจานแช่ปลา อ้างช่วยเพิ่มออกซิเจน อ.เจษฎ์ ตอบแล้วอันตรายไหม

พ่อค้าเทน้ำยาล้างจานผสมน้ำแช่ปลา อ้างช่วยเพิ่มออกซิเจน ถ้ามีฟองเยอะก็จะไม่น็อคน้ำ อ.เจษฎ์ ตอบแล้วอันตรายไหม

เป็นไวรัลถกเถียงกันในโลกออนไลน์ จากกรณีเพจดัง Red Skull เผยคลิปพ่อค้าเท “น้ำยาล้างจาน” ใส่ในกระบะขนส่งปลาเป็นๆ และเขียนแคปชั่นระบุว่า ที่เห็นตามหลังรถกระบะส่งปลาที่น้ำมันฟองฟอดๆ ก็คือทำแบบนี้สินะ เห็นมีคนถามในติ๊กต๊อกได้คำตอบว่าถ้าในน้ำมีฟองเยอะปลาก็จะมีอากาศไม่น็อคน้ำ แล้วน้ำยาล้างจานมันเป็นสูตรสกัดจากธรรมชาติ

ต่อมามีคนมาคอมเมนต์ว่า แล้วคนเอาไปกินมันไม่อันตรายเหรอ อีกฝั่งก็ตอบว่าล้างจานทุกวันแล้วเอาไปกินข้าวนั่นอันตรายไหม อีกฝั่งก็สวนกลับว่าล้างจานด้วยน้ำยาล้างจานแต่ล้างน้ำเปล่าอีกรอบ ก่อนเอาไปกิน ฝั่งที่แย้งก็บอกอย่าดัดจริตเมืองนอกก็เห็นล้างจานฟองฟอดแล้วคว่ำเลยไม่ล้างน้ำเปล่า เอามาใส่อาหารกินยังไม่ตายเลย

ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเรื่องดังกล่าวว่า “ไม่สนับสนุนให้เอาน้ำยาล้างจาน ไปผสมน้ำแช่ปลาครับ”

กรณีที่มีคลิปวีดีโอไวรัล การเอา “น้ำยาล้างจาน” ยี่ห้อหนึ่ง มาผสมในน้ำที่สำหรับแช่ปลาระหว่างขนส่ง โดยอ้างว่า ฟองของน้ำยาจะช่วยให้น้ำมีอากาศเยอะ ปลาจะไม่ตายง่าย แต่ก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคหรือไม่ ถึงแม้จะอ้างว่า “น้ำยาล้างจาน” นั้น เป็นสูตรสกัดจากธรรมชาติก็ตาม

หากกิน “น้ำยาล้างจาน” เข้าไปโดยตรง นับว่าเป็นเรื่องอันตราย เพราะสารเคมีในน้ำยาจะทำให้เกิดความระคายเคืองสูง ทั้งจากการที่มันเป็นสารซักล้างและความที่มันมีค่า pH เป็นด่าง ทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง เกิดอาการปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนได้ โดยขึ้นอยู่กับปริมาณของสารที่กินเข้าไป

ทั้งนี้ การนำเอา “น้ำยาล้างจาน” ไปผสมกับน้ำที่ใช้แช่ปลานั้น แม้จะมีไม่มาก ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ “น้ำยาล้างจาน” ไม่ได้แค่เคลือบผิวของตัวปลา แต่จะสามารถเข้าปากปลาไปอยู่ในร่างกายของปลาได้ด้วย ส่วนเรื่องที่บอกว่าทำให้เกิดฟองน้ำยาขึ้น แล้วจะกักอากาศไว้ได้นั้น

ก็ไม่น่าจะได้มากอย่างที่คิดกัน น่าจะเป็นความเชื่อผิดๆ ที่ส่งทอดตามกันมามากกว่า ควรใช้เครื่องปั๊มอากาศลงไปในน้ำ จะได้ประโยชน์ตรงไปตรงมามากกว่าครับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ