บิ๊กป้อม ร่ายบทสรุป ก้าวข้ามขัดแยัง วอนประชาชนเชื่อมั่น พูดไม่เก่ง แต่ใจใหญ่ พร้อมคัดนโยบายทุกพรรค มาทำเพื่อประชาชน เผยการเมืองไม่มีผู้ชนะเด็ดขาด แพ้ราบคาบ
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความบทสรุป “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ว่า ทีมงานได้วิเคราะห์ให้ฟังว่า จดหมายทั้ง 5 ฉบับ ไม่มีใครโต้แย้งในสาระสำคัญในเรื่องของเนื้อหาจากสื่อและสังคม แต่สื่ออาจจะเข้าใจแตกต่างกัน
ทีมงานจึงขอให้ ผมใช้วิธีการสื่อสารด้วยเฟซบุ๊ก จะอธิบายได้ดีกว่า ชัดเจนกว่า เพราะหากทำในสิ่งที่ไม่ถนัด คือการให้สัมภาษณ์ ซึ่งเป็นคนพูดไม่เก่งอยู่แล้ว อาจจะถูกตีความหมายผิดไปจากที่ต้องการสื่อสาร และจะต้องมาตามแก้ไขในภายหลัง ซึ่งไม่เป็นผลดีแต่อย่างใดสำหรับการเมือง และสำหรับความคิดของที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า
พล.อ.ประวิตร ระบุว่า จดหมายฉบับนี้ เป็นบทสรุปสู่ก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งอธิบายไปแล้วว่า ปัญหาความไม่เข้าใจในเรื่องแนวคิด ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับ ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม มีมาอย่างยาวนาน แล้วยังวนเวียนอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องความไม่เข้าใจในเรื่องที่มาของปัญหา ว่าเกิดมาจากอะไร
ทีมงานจึงถือโอกาสนี้อธิบายให้เข้าใจ ว่าประเทศไทยเลือกที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองด้วยเสียงข้างมาก ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน จะถือว่าเป็นมติของประชาชน ส่งผลให้ผู้สมัครคนนั้นได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นส.ส.
และหากพรรคใดรวมเสียงข้างมากได้ ก็จัดตั้งรัฐบาลในสภา เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ในหลักการนับได้ว่าสภานี้เป็นสภาของประชาชน ไม่ใช่เป็นสภาของนักการเมือง เมื่อสภาเป็นของประชาชน การใช้เสียงข้างมากเพื่อหาข้อยุติในความเห็นต่าง บนผลประโยชน์ของส่วนรวม จึงเป็นเรื่องปกติไม่นับว่าเป็นความขัดแย้ง
ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการใช้มติของเสียงข้างมากในสภา บนผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องแล้วไปอ้างว่าเป็นมติพรรค จึงไปฝืนความรู้สึกของ มติประชาชนที่เห็นต่าง และมีการทักท้วงจากสื่อและสังคมในกรณีที่ขัดแย้งกัน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่สภาไม่ฟังทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสภาไม่ใช่เป็นของประชาชนอีกต่อไป แต่เป็นสภาของนักการเมือง จะเอาเป็นที่พึ่งต่อไปไม่ได้แล้ว
ประชาชนก็ตัดสินใจออกมาต่อต้าน มติของสภาและขับไล่รัฐบาล โดยไม่คิดแก้ไขตามกลไกของประชาธิปไตยคือรอให้มีการเลือกตั้ง จึงทำให้เหตุการณ์ลุกลาม กลายเป็นวิกฤตที่ทำให้ฝ่ายทหารต้องนำกำลังออกมาเพื่อยุติปัญหา เท่ากับว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับเข้ามาควบคุมอำนาจอีกครั้งหนึ่ง
นี่คือสิ่งที่ทีมงานพยายามอธิบาย ครั้งแล้วครั้งเล่าให้ผมฟังเพื่อให้เข้าใจว่า ที่มาของปัญหาเกิดจากภายในสภาแต่มาจบกันนอกสภา
หลังจาก ฝ่ายอนุรักษ์นิยมควบคุมอำนาจได้ แต่พ่ายแพ้ทุกครั้ง เมื่อการได้อำนาจต้องผ่านการเลือกตั้ง ในทางตรงข้าม ฝ่ายประชาธิปไตย แม้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่เสมอ แต่พิสูจน์แล้วว่าไม่มีพลังพอที่จะต้านทานการเข้ามาควบคุมจากกลไกที่มีอำนาจอย่างแท้จริง ต่อโครงสร้างอำนาจของประชาชน
เมื่อประเทศต้องอยู่ในสถานะที่ ผู้ล้มเหลวทั้งสองฝ่าย ต่างผลัดเข้ามาควบคุมอำนาจ อาการหมดสภาพที่จะก้าวต่อไปสู่ความเจริญจึงเกิดขึ้นกับประเทศของเรา
นโยบายของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน ผู้นำทั่วโลกของแต่ละยุคแต่ละสมัยต่างก็ปรับเปลี่ยนนโยบาย ขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ ในช่วงเวลานั้นๆ การเมืองไทยก็เช่นกัน นโยบายในการบริหารประเทศของแต่ละพรรค การเมืองที่ต่างเสนอออกมา นับได้ว่าเป็นนโยบายที่ดีเพราะกลั่นกรอง มาจากบุคลากรชั้นนำของแต่ละพรรค แต่น่าเสียดาย หากนโยบายเหล่านั้นจะไม่ได้รับการนำไปใช้เพราะ ต้องไปเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล
“ผมตั้งใจว่า เมื่อพรรคผมเป็นรัฐบาล จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก นำนโยบายดีๆ ของทุกพรรค ที่ใช้รณรงค์หาเสียง เอามาทำและปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ได้มีความรังเกียจ หรือแบ่งแยก หากนโยบายเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ นี่คือการเมืองที่อยู่ในใจผม การเมืองที่ไม่ต้องมีผู้ชนะเด็ดขาด ไม่มีฝ่ายใดต้องแพ้ราบคาบ”
พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ทุกคนทุกฝ่ายต้องตระหนัก ถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกัน ร่วมมือกันฟื้นฟู และพัฒนาประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า พูดไม่เก่ง แต่ มีหัวใจ หัวใจที่ใหญ่พอจะยอมรับความแตกต่างทางความคิด เพื่อนำพาให้ ก้าวข้ามความขัดแย้ง
วิธีที่คิดไว้คือให้ความเคารพอย่างแท้จริงต่อ ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ด้วยความเชื่อมั่นว่าประเทศจะเดินหน้าไปได้ด้วยการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่เป็นประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้ามาร่วมมีบทบาท เคารพในเสียงส่วนใหญ่ เปิดใจรับฟังเสียงส่วนน้อยที่มีความรู้ ความสามารถด้วยเจตนาดีต่อความเป็นไปของประเทศ
อยากจะย้ำ คือขอให้เชื่อผม เหมือนที่ผมเชื่อตัวเอง ว่าผมทำได้ เพราะหัวใจผมใหญ่พอ มาก้าวข้ามความขัดแย้งไปด้วยกัน เราจะอยู่กับความเห็นต่างที่มีมากด้วยความเห็นชอบ ไม่ใช่เห็นชอบกับสิ่งที่ตนเองคิด และจะคอยรับฟังการรายงานข้อสรุป ที่เป็นประโยชน์ โดยมีหลักคิดอยู่ในใจว่า ปัจจุบันคือแก้ไขอดีตที่ล้มเหลว เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่า และนี่คือสิ่งที่นักการเมืองหลายคนกำลังทำ ด้วยหลักคิดเดียวกันคือการย้ายพรรค จากฝ่ายรัฐบาล ไปสู่ฝ่ายค้าน หรือจากฝ่ายค้านไปสู่รัฐบาล ซึ่งคงมองถึงอนาคตที่ดีกว่า และก็คงทำต่อไป แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์
8 ปีที่ผ่านมา สอนให้เรียนรู้และได้คิดว่า อะไรที่ดีกว่าเดิม เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำและจะต้องทำด้วยวิธีคิดใหม่ๆ เพราะการที่จะคิดอยากได้สิ่งใหม่ๆ โดยใช้วิธีเดิมๆนั้นไม่น่าจะได้ผล ส่วนที่ผมคิดจะถูกหรือจะผิด ประชาชนเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสิน