พุกาม คือ อนุสรณ์สถานที่โดดเด่นอีกแห่งของเมียนมา อาณาจักรโบราณแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์แรกของเมียนมา โดยพระเจ้าอโนรธา ซึ่งก่อตั้งเป็นอาณาจักรแห่งแรกในดินแดนแห่งนี้
แม้ว่าเมืองพุกามมีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์มานานพอสมควร แต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 วันเวลาที่ชาวเมียนมารอคอยมาแสนนาน ก็เพิ่งจะมาถึงอย่างเป็นทางการ เพราะเมืองที่ได้รับฉายาว่า เป็นดินแดนแห่งเจดีย์สองพันองค์ ได้รับสถานะเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโกเสียที
ในช่วงยุคทองระหว่างศตวรรษที่ 11 ถึง 13 พุกามนับว่าเป็นอาณาจักรที่ร่ำรวยมาก และอาณาเขตก็แผ่ไปจรดศรีลังกา อินเดีย ไทย และจีน ความมั่งคั่งถูกทุ่มเทลงในศาสนสถาน สันนิษฐานว่ายุคแห่งความรุ่งเรืองนั้นมีเจดีย์นับหมื่นองค์ ก่อนจะพังทลายไปตามกาลเวลา จากผลของสงคราม และภัยธรรมชาติ จนเหลือแค่ราว 2,000 องค์ ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิด แต่ถ้าเทียบอายุ และขนาดซากที่เห็น ก็นับว่ายิ่งใหญ่อลังการชวนให้นึกถึงความรุ่งเรืองในนครวัดของเขมร
หากได้ลองปั่นจักรยานหรือจะนั่งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไปตามทางที่อุดมด้วยฝุ่นหนาไม่นาน ก็จะเห็นเจดีย์นับพันองค์เรียงรายตลอดริมน้ำอิระวดี มีหลายขนาดต้ังแต่สูงแค่สองสามเมตร จนถึงสูงหกสิบเมตร ส่วนมากรูปทรงเหมือนระฆัง
แต่มีบางแห่งท่ีแตกต่างอย่างเช่นเจดีย์ธรรมายางจี ที่มีบันไดขึ้นเหมือนวัดของพวกมายัน ในขณะที่เจดีย์อนันดาสร้างเป็นสัญลักษณ์แทนเทือกเขานันทมูล ภูเขาในหิมาลัยซึ่งสวยไปอีกแบบ
ยามอาทิตย์อัสดง อิฐแดงตามวัดในพุกามแปรเปลี่ยนเป็นสีชมพู ตัดกับดงมะขามสีเขียว ยามที่พระอาทิตย์จมลงใต้เส้นขอบฟ้า สายลมก็พัดพาความสดช่ืนมากระทบระฆังเหนือเจดีย์ดังกรุ๊งกริ๊ง และบริเวณซากเจดีย์โบราณ ที่โดดเด่นราวกับเกาะแก่งในทะเลหมอก ยามสัมผัสแสงแรกก็เป็นความงามที่เกิดขึ้นวันแล้ววันเล่าราวกับไม่มีสิ้นสุด
สมัยก่อนนักท่องเที่ยวสามารถปีนป่ายขึ้นไปชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตกบนเจดีย์ได้เลย แต่ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งล่าสุด รวมถึงเรื่องความปลอดภัย ทั้งตัวนักท่องเที่ยวและโบราณสถาน ทางการไม่อนุญาตให้ขึ้นไปอีก แต่ได้สร้างเนินดินเฉพาะให้ยืนชมความงามยามอาทิตย์ทาบทาทะเลเจดีย์ ส่วนใครที่มีงบมากหน่อย ยังสามารถขึ้นบอลลูนชมทิวทัศน์ในมุมสูงได้
นอกจากเรื่องโบราณสถานที่โดดเด่นแล้ว เกือบสิบปีที่แล้ว อองซาน ซูจี เคยเดินทางมาที่เมืองพุกาม เพื่อพูดคุยกับประชาชน และให้ความสนับสนุนศิลปินพื้นบ้านซึ่งในวันหน้าต้องเชื่อมโยงกับเรื่องของการท่องเท่ียว โดยเธอยังแวะไปที่โรงงานทำเครื่องเขิน
เครื่องเขินเป็นสินค้าที่ผลิตในพุกามมาต้ังแต่ศตวรรษที่ 11 และประชากรประมาณ 80% ของเมือง ก็เก่ียวข้องกับการผลิตนี้ นับเป็นงานท่ีต้องใช้ความอุตสาหะอย่างสูง มีหลายขั้นหลายตอน ท่ีเปลี่ยนจากไม้ไผ่ และเรซิ่นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประณีต มีความแข็งแรง และสวยงาม แปรรูปมาเป็นกาน้ำชา ถาด แก้ว ชาม และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้อย่างงดงาม
More Information
พุกาม ตั้งอยู่ห่างจากมัณฑะเลย์ ประมาณ 145 กม.
นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนมาก นิยมนั่งเครื่องบินตรงไปจากกรุงเทพฯไปเมืองมัณฑะเลย์ก่อน จากนั้นนั่งรถบัสโดยสาร หรือนั่งสายการบินภายในประเทศเมียนมาต่อไปยังพุกาม