พิษเผด็จการ : "ลูกาเชนโก้" กับอิทธิพลวงการกีฬาเบลารุสที่ทำให้นักกีฬาต้องลี้ภัย

Home » พิษเผด็จการ : "ลูกาเชนโก้" กับอิทธิพลวงการกีฬาเบลารุสที่ทำให้นักกีฬาต้องลี้ภัย
พิษเผด็จการ : "ลูกาเชนโก้" กับอิทธิพลวงการกีฬาเบลารุสที่ทำให้นักกีฬาต้องลี้ภัย

เบลารุส อาจไม่ใช่ประเทศที่คนไทยคุ้นหูหรือรู้จักมากนัก แต่ถ้าเราบอกว่า “เบลารุสคือเผด็จการประเทศสุดท้ายในยุโรป” หลายคนอาจพอจินตนาการความเป็นอยู่ในประเทศออก เมื่อเทียบกับประสบการณ์ตรงของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเผด็จการ แนวคิดอำนาจนิยมย่อมแทรกซึมไปทุกภาคส่วนของประเทศ แม้แต่ วงการกีฬาที่หลายคนมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเบลารุสแสดงให้เห็นว่า กีฬาคงหนีการเมืองไม่พ้น เมื่ออำนาจเผด็จการคุกคามนักกีฬาเป็นเงาตามตัว

Main Stand เล่าเรื่องของ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ ผู้นำแห่งเบลารุสที่บริหารประเทศด้วยยุทธศาสตร์อันแน่วแน่ตลอด 24 ปี จนความเป็นเผด็จการแทรกซึมทุกมิติของสังคม ส่งผลให้นักกีฬาคนหนึ่งต้องลี้ภัย เพียงเพราะไม่อยากลงแข่งขันตามคำสั่งของใคร

รู้จักกับผู้นำเผด็จการแห่งเบลารุส

ก่อนจะทำความเข้าใจเรื่องราวของนักวิ่งโอลิมปิกที่ลี้ภัยออกนอกประเทศ เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศเบลารุส และผู้นำที่ชื่อ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ เสียก่อน

เบลารุส หรือ สาธารณรัฐเบลารุส ถือเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 แต่ครั้งหนึ่ง ชื่อของเบลารุสกลับหายไปจากแผนที่โลก เมื่อถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และถูกปกครองด้วยฐานะหนึ่งในสิบห้ารัฐของสหภาพ ภายใต้ชื่อ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบียโลรัสเซีย

1เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 1991 เบลารุสประกาศตนเป็นรัฐเอกราชอีกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น แนวคิดคอมมิวนิสต์ตามลัทธิมากซ์-เลนิน ยังคงไหลเวียนภายในประเทศอย่างเข้มข้น พรรคการเมืองที่มีอิทธิพลต่อชาวเบลารุสมากที่สุดในช่วงก่อตั้งประเทศ คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเบลารุส (Communist Party of Belarus)

เช่นเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต มีไว้เพื่อสนับสนุนเผด็จการ โจเซฟ สตาลิน ขึ้นสู่อำนาจ … พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเบลารุส ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ หลังลูกาเชนโก้เอาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปี 1994

เหตุผลที่ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ ถูกเลือกเป็นผู้นำคนแรกของเบลารุส ไม่มีอะไรยุ่งยากและซับซ้อน หากพิจารณาความจริงที่ลูกาเชนโก้ ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองตั้งแต่ปี 1977 โดยเริ่มทำงานในตำแหน่งเลขานุการสำนักงานคณะกรรมการอาหารแห่งเมืองโมกีลอฟ โดยลูกาเชนโก้คลุกคลีกับการดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน เช่น ฟาร์มของรัฐ, ฟาร์มรวม หรือโรงงานวัสดุก่อสร้าง จนถึงปี 1990

2อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ จึงเริ่มสร้างภาพลักษณ์ตนเองในฐานะ “นักการเมืองของประชาชน” เนื่องจากผลงานในอดีตที่แสดงให้เห็นถึงการเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของประชาชน ลูกาเชนโก้ยังถูกเรียกขานด้วยฉายา “ประธานาธิบดีของคนธรรมดา” และถูกเรียกด้วยคำว่า “Batka” ซึ่งมีความหมายว่า “พ่อ” ตามภาษาเบลารุส

แต่สำหรับนานาประเทศ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ ถูกเรียกขานภายใต้ฉายาเดียวเท่านั้น นั่นคือ “เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป” เพราะนับตั้งแต่เขาครองตำแหน่งประธานนาธิบดีของเบลารุส เขาปกครองประเทศด้วยคำสั่งเด็ดขาด และกฎหมายที่มีไว้เพื่อกำจัดคนเห็นต่างโดยปราศจากหลักมนุษยธรรม

อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ ใช้วิธีพื้นฐานของเผด็จการที่ซ่อนตัวอยู่หลังการเลือกตั้ง และระบอบที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ในปี 1996 ลูกาเชนโก้ยุบรัฐสภาชุดเก่า หลังสมาชิกหลายคนไม่พอใจในนโยบายรวมความเป็นรัสเซียเข้ากับเบลารุส เมื่อปี 1995 จนเกิดการลงประชามติครั้งใหญ่ขึ้นมา

เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ลูกาเชนโก้จึงเริ่มหยิบนักการเมืองที่ภักดีต่อเขาเข้าสู่รัฐสภา ในที่สุด เขาจึงมีอำนาจเหนือการเมืองเบลารุสเพียงผู้เดียว ซึ่งอำนาจตรงนี้ปูทางให้เขาก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยสอง ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย 75 เปอร์เซ็นต์ แม้จะเห็นกันชัด ๆ ว่าเป็นการเลือกตั้งแบบโกงถึงที่สุด

3หากคุณคิดว่า อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ จะละอายกับการกระทำของตัวเอง ? เราคงต้องบอกว่าคุณคิดผิด เพราะลูกาเชนโก้พร้อมจะให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการปกครองประเทศของเขาอย่างเต็มใจ เมื่อปี 2003 ลูกาเชนโก้เคยเปิดเผยถึงแนวคิดการปกครองประเทศของเขาว่า

“ผมไม่สามารถเป็นผู้นำเผด็จการได้หรอก เพราะตำแหน่งของผมและรัฐไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น แต่ผมยอมรับว่า การปกครองด้วยแนวคิดอำนาจนิยม ถือเป็นคาแรกเตอร์ของผม เพราะถ้าคุณต้องการจะปกครองประเทศ สิ่งสำคัญที่คุณต้องทำคือไม่ทำลายชีวิตของประชาชน”

แน่นอนว่า อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ ประพฤติตัวตรงกันข้ามกับทุกอย่างที่เขาพูด เพราะในปี 2004 เขาสั่งแก้กฎหมายที่กำหนดให้ประธานาธิบดีครองตำแหน่งสูงสุด 2 สมัย กลายเป็นสามารถครองตำแหน่งได้ไม่จำกัด ส่งผลให้เขาครองตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 6 สมัย ตลอด 24 ปีที่ผ่านมา หรือพูดง่าย ๆ คือ เบลารุสไม่เคยมีผู้นำประเทศรายอื่น นอกจาก อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้

4ส่วนของอำนาจที่มีไว้เพื่อดูแลประชาชนนั้น ลูกาเชนโก้ใช้มันเพื่อไล่เล่นงานคนเห็นต่างเสียมากกว่า นับตั้งแต่ปี 1998 เบลารุสถูกจัดอยู่ในประเทศไม่มีเสรีภาพ และยังเป็นประเทศที่เสรีภาพสื่อแย่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปี 2000s โดยอยู่อันดับ 158 ของโลกในปัจจุบัน ขณะที่นักข่าวจำนวนมากถูกสั่งจับเข้าคุก ทันทีที่เอ่ยปากวิจารณ์รัฐบาล

ความสัมพันธ์ของ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ และประชาชน จึงแตกหักหลังการเลือกตั้งในปี 2020 เพราะประชาชนไม่อาจทนกับความไม่โปร่งใสของการเลือกตั้งอีกต่อไป ประชาชนกว่า 2 แสนคนออกมาประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ลูกาเชนโก้จึงเป็นประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งโดยไม่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ ยกเว้นเพื่อพ้องน้องพี่สายเผด็จการ อย่าง รัสเซีย, จีน, อิหร่าน, ซีเรีย, เวเนซุเอลา และคิวบา

ลี้ภัยหนีอำนาจเผด็จการ

ด้วยอำนาจเผด็จการที่ไหลเวียนทั่วเบลารุส ไม่ใช่เรื่องแปลกหากวงการกีฬาภายในประเทศจะเต็มไปด้วยแนวคิดอำนาจนิยม หากไม่นับความจริงที่ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก้ ครองตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งเบลารุส ตั้งแต่ปี 1997 ก่อนส่งต่อให้แก่บุตรชายคนโต วิคเตอร์ ลูกาเชนโก้ ลูกชายคนโตในเวลาต่อมา เพื่อกอบโกยผลงประโยชน์จากงบประมาณตรงนี้เข้ากระเป๋า

5คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งเบลารุสยังถือเป็นหน่วยงานที่มีแนวคิดอำนาจนิยมอัดแน่น เห็นได้ชัดจากการดูแลนักกีฬาแบบ “คำสั่งและกฎระเบียบ” นักกีฬาต้องแบกรับหน้าที่ชัดเจนตามคำสั่งของภาครัฐ นั่นคือ โฆษณาชวนเชื่อที่มีชีวิตและสามารถเคลื่อนไหว เมื่อพวกเขาคว้าชัยชนะเพื่อรัฐบาล และเกียรติยศของประเทศ

นักกีฬาคนใดก็ตามที่เริ่มเลี้ยงไม่เชื่อง และออกมาวิจารณ์รัฐบาล พวกเขามีทางเลือกเพียง 2 ทาง หนึ่งคือหลบหนีออกนอกประเทศ สองคือโดนจับเข้าคุก โดยในเดือนสิงหาคม 2020 มีนักกีฬาชาวเบลารุสมากกว่า 1 พันคน ลงชื่อเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า นักกีฬาทั้งหมดถูกคุกคามโดยองค์กรของนักกีฬาเอง

Sports Solidarity Foundation รายงานว่า นักกีฬาชาวเบลารุส 95 คน ถูกจับคุม หลังเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีลูกาเชนโก้ โดยนักกีฬา 7 คนถูกแจ้งข้อหาทางการเมือง ขณะเดียวกัน มีนักกีฬาอย่างน้อย 124 คน ที่ถูกปราบปรามและควบคุมโดยองค์กรของรัฐ ส่งผลให้นักกีฬาและทีมงานรวม 35 คน โบกมือลาจากทีมชาติเบลารุส

ท่ามกลางความคุกรุ่นที่เกิดขึ้นในประเทศ นักกีฬาชาวเบลารุส 114 คน เดินทางสู่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อลงแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 โดยในใจลึก ๆ แอบหวังว่า นี่อาจเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่พวกเขาจะได้ทำตามความฝัน และหันหลังให้กับเรื่องเลวร้ายในบ้านเกิด

6แต่ความเลวร้ายของอำนาจเผด็จการตามติดพวกเขาราวกับเป็นเงา คริสติน่า ซิมานอสกาย่า นักกีฬากรีฑาหญิงคือคนที่พบเจอประสบการณ์นี้โดยตรง หลังเธอได้รับคำสั่งให้ลงแข่งขันในรายการวิ่ง 4×400 เมตร แทนที่นักกีฬารายหนึ่งที่ไม่ผ่านการตรวจสารกระตุ้น

แน่นอนว่า ซิมานอสกาย่า ปฏิเสธเสียงแข็ง เพราะเธอเป็นนักกรีฑาในระยะ 100-200 เมตร ไม่มีทางที่เธอจะสามารถวิ่งในระยะทาง 400 เมตร โดยไม่เกิดความเสี่ยงกับสุขภาพของเธอที่ไม่เคยซ้อมในระยะนี้ได้ แต่อย่างที่บอกไปว่า คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งเบลารุส ปกครองนักกีฬาด้วยแนวทางคำสั่งและกฎระเบียบ ซิมานอสกาย่าจึงต้องลงแข่งขันในรายการ 4×400 เมตร

เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจ ซิมานอสกาย่า จึงโพสต์วิดีโอผ่านอินสตาแกรม แสดงความไม่พอใจที่ถูกบังคับให้ลงแข่งขันรายการ 4×400 เมตร แม้ว่าเธอจะไม่เต็มใจ โดย ซิมานอสกาย่า ไม่รู้เลยว่า การกระทำครั้งนี้จะเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

“โค้ชใส่ชื่อของฉันเข้าสู่ทีมวิ่งผลัดโดยที่ฉันไม่รู้เรื่อง และเมื่อฉันเปิดเผยเรื่องนี้สู่สาธารณะ เฮดโค้ชเข้ามาพบฉันแล้วบอกว่า ตอนนี้มีคำสั่งจากเบื้องบนให้ถอดชื่อฉันออกจากทีม” ซิมานอสกาย่า เปิดใจกับผู้สื่อข่าว ขณะได้รับการคุ้มครองจากตำรวจญี่ปุ่น

7ความจริงที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลเบลารุสรู้สึกเสียหน้าที่การใช้อำนาจเผด็จการจนเคยตัวของพวกเขา กลายเป็นเสียงวิจารณ์ไปทั่วโลก เพื่อแสดงให้เห็นว่าใครคือของจริง รัฐบาลเบลารุสจึงสั่งตัดชื่อ ซิมานอสกาย่า จากการแข่งขันทุกรายการในโอลิมปิก และเรียกตัวกลับประเทศโดยเร็วที่สุด

วันที่ 1 สิงหาคม 2021 ก่อนการแข่งขันวิ่ง 200 เมตร และ 4×400 เมตร ซิมานอสกาย่า ถูกพาตัวไปยังสนามบินฮาเนดะ เพื่อตีตั๋วเที่ยวพิเศษกลับสู่บ้านเกิด เธอรู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองหากก้าวเท้าขึ้นเครื่องบิน เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2020 เยเลน่า ลูแชนก้า นักบาสเกตบอลหญิงที่เคยผ่านเวทีโอลิมปิก 2 สมัย ถูกจับขังคุก หลังออกไปประท้วงและเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยสงบ (ปัจจุบันลูแชนก้าลี้ภัยออกจากเบลารุส ไปเล่นให้กับ พานาธิไนกอส ในประเทศกรีซแล้ว)

เมื่อถึงสนามบินฮาเนดะ ซิมานอสกาย่าจึงชิ่งหนีเจ้าหน้าที่ของเบลารุส และขอความช่วยเหลือจากตำรวจญี่ปุ่นในสนามบิน เคราะห์ดีของเธอที่ตำรวจชาวญี่ปุ่นทำงานอย่างเต็มที่ และให้ความคุ้มครองเธอในเทอร์มินอลของสนามบิน และปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่เบลารุสเอาตัวเธอกลับไป

“ฉันจะไม่กลับไปยังเบลารุส” นี่คือคำพูดของเธอที่กลายเป็นพาดหัวข่าวกีฬาทั่วโลกในวันดังกล่าว ซิมานอสกาย่า กล่าวผ่านสื่อทุกสำนัก โดยขอร้องให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง จึงมีรายงานออกมาว่า ซิมานอสกาย่า อาจได้ลี้ภัยไปอาศัยในประเทศโปแลนด์

8ซิมานอสกาย่าใช้เวลาหนึ่งคืนในโรงแรมสนามบิน ก่อนได้รับข่าวดีว่า รัฐบาลโปแลนด์อนุมัติวีซ่ามนุษยธรรมให้กับเธอ แม้ต้องรอถึงวันที่ 4 สิงหาคม จึงจะได้เดินทางสู่กรุงวอร์ซอ ท่ามกลางความช่วยเหลือมากมายจากประเทศยุโรปตะวันตก แต่ซิมานอสกาย่าเลือกลี้ภัยไปโปแลนด์ เนื่องจากรัฐบาลโปแลนด์จะสนับสนุนความฝันของเธอ ในฐานะนักกีฬาอย่างเต็มที่

หลังจากการเดินทางอันยาวนาน ซิมานอสกาย่า เดินทางถึงประเทศโปแลนด์อย่างปลอดภัย โดยเธอจะอาศัยอยู่ที่ประเทศแห่งนี้ร่วมกับสามีของเธอ ซึ่งลี้ภัยจากเบลารุสเช่นเดียวกัน นับเป็นตอนจบของเรื่องราวอันวุ่นวายที่สวยงามของนักกีฬาหญิงคนหนึ่ง

แต่สำหรับอีกหลายคนในประเทศเบลารุส พวกเขาต้องต่อสู้กับอำนาจเผด็จการต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่รัฐบาลเบลารุสโกหกผู้คนในประเทศว่า ซิมานอสกาย่า มีปัญหาทางจิตจึงต้องส่งตัวกลับประเทศ และโจมตีเธอในฐานะนักกีฬาที่ขาดจิตวิญญาณของความเป็นชาติ เรื่องเหล่านี้สะท้อนภาพอันโหดร้ายว่า นักกีฬาผู้บอบช้ำสามารถถูกเหยียบย่ำ ผ่านการชี้นำความคิด และข่าวสารที่หลอกลวงเพื่อปกป้องอำนาจเผด็จการได้มากเพียงใด

9เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ คริสติน่า ซิมานอสกาย่า เป็นเพียงตัวอย่างของอำนาจเผด็จการที่แข็งแกร่ง และสามารถกุมเสรีภาพของใครสักคนเหมือนเงาตามตัว สำหรับใครที่ไม่โชคดีแบบนักกรีฑาโอลิมปิกที่ได้โอกาสไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังต่างแดนเช่นนี้ พวกเขาควรทำเหมือนชาวเบลารุส คือออกมายืนหยัดต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ และทวงคืนความเป็นธรรมแก่ประชาชน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ