จากกรณี เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกเอกสารผลการประชุม ในคดีขอให้ พิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งมี กกต. เป็นผู้ร้อง โดยมีนัดหมายพิจารณาคดี วันที่ 12 มิถุนายนนี้ พร้อมออกคำสั่งให้คู่กรณีงดการแสดงความคิดเห็นก่อนมีคำวินิจฉัย
ล่าสุดวันที่ 9 มิ.ย. 2567 เวลาประมาณ 09.00 น. พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้มีการแถลงแนวทางการต่อสู้คดียุบพรรค กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคําสั่งยุบพรรคก้าวไกล
โดยระบุว่า ข้อเสนอไว้ 9 ข้อ โดยเน้นที่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่ กระบวนการ ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ ดังนี้
- ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้
- กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.67 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้
- การกระทำที่ถูกกล่าวหาไม่ใช่การล้มล้าง
- การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.2567 ไม่เป็นมติพรรค
- โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
- ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
- จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมืองต้องได้ สัดส่วนกับความผิด
- การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา
โดย นายพิธา ได้กล่าวว่า ตนขอยืนยันในสิ่งที่พวกเราต่อสู้ตั้งแต่การยุบพรรคอนาคตใหม่ ในเรื่องขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 ระบุชัดเจนว่า อำนาจเฉพาะของศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่และอำนาจ 3 ข้อต่อไปนี้ 1.พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายและร่างกฎหมาย 2.พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจ และหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ 3.หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการศึกษาก็ไม่มีอำนาจข้อไหนที่ระบุไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสิทธิการเมือง
ในการยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค อย่างพรรคอนาคตใหม่ พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคก้าวไกล มีความแตกต่างกัน โดยหลักเกณฑ์และวิธีของ กกต. เกี่ยวกับมาตรา 93 ได้เปลี่ยนไปในเดือนก.พ. 2566 สมัยพรรคอนาคตใหม่และพรรคไทยรักษาชาติไม่มีเกณฑ์นี้
- ‘ก้าวไกล’ ยืนยัน เดินหน้าแถลงเปิดแนวทางสู้คดีศาล รธน. 9 มิ.ย.นี้ แน่นอน
- ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล 12 มิ.ย.นี้
- เน่าเฟะ! ก้าวไกล แฉ ‘ส่วยทุเรียน’ แชทหลุดสั่งหามาต้อนรับ ตร.ชั้นผู้ใหญ่
ระเบียบ กกต. 2566 ระบุไว้ชัดเจนในข้อ 7 ว่า การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง บุคคลและคณะบุคคลที่นายทะเบียนแต่งตั้ง ต้องให้ผู้ร้องหรือพรรคการเมือง มีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานของตน ก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณา
กกต.ยังใช้คำวินิจฉัยในคดีวันที่ 31 ม.ค. เป็นเพียงหลักฐานเดียวในการยื่นยุบพรรคในครั้งนี้ แล้วหวังว่าจะมีความผูกพันคดี สำหรับการยุบพรรคจะเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็นหรือฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีทางอื่นแก้ไขในระบอบประชาธิปไตย
อีกทั้งสภาฯ ยังสามารถยับยั้งแก้ไขได้ หากการแก้มาตรา 112 เข้าสภาและมีการอภิปรายในเรื่องนี้ ก็ยังสามารถยับยั้งแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่น ด้วยระบบนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้สิทธิ์วีโต้ได้ ทั้งก่อนและหลังกฎหมายผ่านการบังคับใช้จากสภา แสดงให้เห็นว่าระบบนิติบัญญัติสามารถยับยั้งได้ด้วยตนเอง
และการพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับชุด กก.บห. ในระยะเวลาที่ถูกกล่าวหา ในกรณีของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการสั่งชะลอจาก กกต. ระบบนิติบัญญัติ และการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้น และเมื่อมีคำวินิจฉัยในเดือนม.ค. พรรคก้าวไกลก็หยุดการกระทำ ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการสุดท้ายในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหากมีการใช้ ก็เท่ากับว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตยเสียเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ