พิธา ย้ำชัด ก้าวไกล ปิดประตูร่วมรัฐบาล 3 ป. สวน “บิ๊กป้อม” เป็นไปไม่ได้ ก้าวข้ามขัดแย้ง ทั้งที่ตัวเองเป็นต้นตอ ชี้ ประเทศไม่ง่ายขนาดนั้น
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ระบุสามารถร่วมรัฐบาลกับทุกพรรคการเมือง รวมทั้งก้าวไกล แบบมีเงื่อนไข ว่า เราไม่มีเจตจำนงในการร่วมพรรคทหารจำแลง อย่างรวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ (พปชร.) เพราะถือว่าเป็นคนทำรัฐประหารสืบทอดอำนาจ และตอนนี้ยังรักษาอำนาจต่อ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ แม้พรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ จะส่งคนมาเจรจาก็ตาม
“ไม่มีครับ และไม่มีวันที่จะได้คุยกัน ปิดประตูแน่นอน เพราะเราตั้งพรรคมาเพื่อปิดสวิตช์ 3 ป. และเปิดแสงสว่างให้กับประเทศไทย เลิกแช่แข็งประเทศไทยให้ไปสู่อนาคต เขาเป็นคนที่มีส่วนร่วมตรงนี้ เราต้องแก้ไขทั้งหมด ยืนยันว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้มากกว่า” นายพิธา กล่าว
เมื่อถามว่า อดีตแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะพันธมิตรกับเพื่อไทย สามารถร่วมงานกันได้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เราไม่ได้ให้ความสนใจ และกระบวนการทำงานของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยก็แตกต่างกัน แต่นโยบายและจุดยืนของพรรคเพื่อไทย จนมาถึงวันนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่จะร่วมงานกันได้ ย้ำว่ากรณีดังกล่าว เป็นเรื่องภายในของกลุ่มสามมิตรและพรรคเพื่อไทย ตนขอโฟกัสเฉพาะเรื่องของพรรคก้าวไกล
เมื่อถามย้ำว่า สามารถทำงานร่วมกับรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ได้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องแยกเป็นคนๆ ไป แต่หากใครที่มาจากพรรคทหารจำแลง ก็น่าจะทำงานด้วยกันยาก สิ่งสำคัญที่สุด คือ นโยบายและจุดยืนของความเป็นประชาธิปไตยเข้มแข็งมากแค่ไหน
ส่วนที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดใจผ่านจดหมายเปิดผนึก อาสาเป็นโซ่กลางในการก้าวข้ามความขัดแย้ง นายพิธา กล่าวว่า เราไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งที่ตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้อง ย้ำว่าการก้าวข้ามความขัดแย้ง และจะมีความปรองดองได้ ต้องมีระบบความยุติธรรม มีการเสาะหาข้อเท็จจริง และต้องทำให้วัฒนธรรมคนผิดลอยนวลหมดไปก่อน จึงจะทำให้เกิดความปรองดองที่แท้จริง
“ส่วนจดหมายที่พล.อ.ประวิตร เขียน ไม่ว่าจะเรื่องการตั้งคณะกรรมการมากรองนโยบาย ก็ต้องเรียนว่า นโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ยังทำไม่ได้หลายเรื่อง รวมถึงนโยบายที่สัญญากับประชาชนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก็ยังทำไม่สำเร็จ ซึ่งการจะทำนโยบายใดนโยบายหนึ่งจะต้องมีกระบวนการ ลงพื้นที่ฟังปัญหากับประชาชนว่าปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วค่อยนำมาปฏิบัติ
ดังนั้น คนที่จะนำนโยบายของแต่ละพรรคมาปฏิบัติได้จริง ต้องเป็นคนที่คลุกคลีกับประชาชน ไม่ใช่แค่ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง แล้วจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ หากต้องการความปรองดองก็ต้องตั้งคณะกรรมการปรองดอง ถ้าอยากจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย ก็ตั้งคณะกรรมการ แต่ประเทศไทยไม่ได้ขับเคลื่อนนโยบายง่ายขนาดนั้น” นายพิธา กล่าว