'พิธา' ถกส.อ.ท.ชื่นมื่น หารือทุกฝ่ายปรับค่าจ้างเหมาะสม-ลดหย่อนภาษี ช่วยผู้ประกอบการ

Home » 'พิธา' ถกส.อ.ท.ชื่นมื่น หารือทุกฝ่ายปรับค่าจ้างเหมาะสม-ลดหย่อนภาษี ช่วยผู้ประกอบการ



‘พิธา’ ถกส.อ.ท.ชื่นมื่น ยินดีทำงานร่วมกัน หารือทุกฝ่ายปรับค่าจ้างเหมาะสม-ลดหย่อนภาษี ช่วยผู้ประกอบการ เล็งเดินสายพบสภาหอฯ หน่วยงานอื่น

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่าบรรยากาศกาศหารือในวันนี้ราบรื่นดี ซึ่งในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล หารือในประเด็นเศรษฐกิจร่วมกัน ลงลึกในหลายเรื่องทั้งทรัพยากร ต้นทุน ภาวะเศรษฐกิจโลก ต้องมาพูดคุยกันว่าภาคเอกชนต้องการอะไรบ้าง

ที่เห็นชัดอีกเรื่องคือการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับยุโรปที่มีความล่าช้า ค่าไฟฟ้าที่มีต้นทุนแพง และการเพิ่มทักษะแรงงานในประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมไปต่อไปได้ อะไรที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เศรษฐกิจสั่นคลอนต้องค่อยๆ เดินหน้าทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้ ส.อ.ท.สอบถามประเด็นที่เห็นว่ายังไม่ชัดเจน ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

นายพิธา กล่าวต่อว่า โดยหลังจากนี้จะเริ่มลงในรายภาคทั้งยานยนต์ สิ่งทอ ปิโตรเคมี และการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีมีแต้มต่อ ต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าการปรับค่าจ้างแรงงานต้องมีความเหมาะสมกับการเพิ่มทักษะแรงงาน ไม่ใช่การมองด้านเดียว แต่ควรมีนโยบายช่วยเหลือด้านภาษี เช่น การเพิ่มอัตราลดหย่อนภาษี 2 เท่า รวมทั้งยังพูดคุยถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ดังนั้น อยากให้ส.อ.ท.สบายใจว่า การปรับขึ้นค่าแรงไม่ใช่มองด้านเดียว แต่มีนโยบายช่วยเหลือเรื่องการลดหย่อน เหมือนมาตรการสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เคยมีแนวคิดจะเพิ่มสภาพคล่องอะไรได้บ้าง ซึ่งกรอบตัวเลขการขึ้นค่าแรงงานตอนนี้อยู่ในสถานะการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาล ต้องพูดคุยกันต่อ โดยหลังจากนี้จะหารือกับสภาแรงงาน สภาเอสเอ็มอี คำนวณอัตราให้รอบคอบ

“สิ่งสำคัญคือไม่ได้มองแค่ตัวเลขอย่างเดียว ซึ่งทั้งพรรคก้าวไกลและผู้ประกอบการมองร่วมกันว่า ไม่อยากให้ปรับขึ้นค่าแรงกระชากเกินไป อยากให้ขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ หรือแม้แต่ประสิทธิภาพแรงงาน โดยค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาค่าแรงปรับขึ้นมา 1%

ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัว 2% ซึ่งค่าแรงจะขึ้น 450 บาทหรือไม่นั้น ยังเป็นกรอบที่ต้องพูดคุยกันกับสภาแรงงานก่อน และต้องผ่านกระบวนการคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาให้เหมาะสม ซึ่งคงต้องหลังจากที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อน” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสม จำเป็นต้องพูดคุยเรื่องตัวเลขยังไม่อยากลงในรายละเอียด เพราะไม่ต้องการให้มีความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ โดยจะรับฟังอย่างรอบคอบทั้งส.อ.ท. หอการค้าไทย สภาเอสเอ็มอี สภาแรงงาน

สำหรับประเด็นค่าไฟฟ้านั้น เข้าใจว่าทางกกร.แก้สูตร โดยยืดภาระจ่ายหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมแล้ว 22 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งลดลงได้ 7 สตางค์แล้ว รวมถึงการทบทวนค่าพร้อมจ่ายให้โรงไฟฟ้า ที่ผ่านมายังมีความเห็นไม่ตรงกัน ในกรณีของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมถึงไม่เพิ่มกำลังการผลิตใหม่ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดผ่านความเห็นชอบแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 1 หมื่นเมกกะวัตต์ อาจต้องชะลอออกไปก่อน

“เบื้องต้นจะเข้าไปตรวจสอบว่ามีปัญหาผูกขาดอุตสาหกรรมพลังงานอะไรบ้าง เพื่อลดปัญหาในระยะยาว โดยปริมาณสำรองไฟฟ้าต้องอยู่ในหลักคิดของความมั่นคงพลังงานและต้นทุนการผลิตที่สมดุล ไม่ใช่มองเฉพาะความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่ม

ส่วนตัวเลขที่เอกชนขอให้ลดค่าไฟ 70 สตางค์ต่อหน่วย มีความเป็นไปได้ เพราะขณะนี้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ก็ปรับลดลงมามาก นอกจากนี้ หลังจากนี้จะเดินสายไปพบกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น รวมถึงภาคราชการด้วย” นายพิธา กล่าว

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีได้มีการพูดคุยกัน โดยเฉพาะประเด็นค่าแรงงาน เป็นความกังวลตั้งแต่แรกที่พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 และ 2 มีนโยบายขึ้นค่าแรง ทั้งพรรคก้าวไกลขึ้น 450 บาททุกปี ส่วนพรรคเพื่อไทยปรับ 600 บาทในระยะ 4 ปี

ซึ่งต้องบอกก่อนว่าคุณพิธาเป็นสมาชิก ส.อ.ท. รู้ปัญหาทุกปัญหา อยู่ในฐานะเป็นผู้จ่ายค่าแรงงาน เพราะฉะนั้นหากปรับขึ้นในอัตราที่เสนอกันไว้อาจ ‘ช็อก’ เป็นยาแรงเกินไป ซึ่งคุณพิธาแจ้งในที่ประชุมว่า ยินดีรับฟังทุกคนและนำปรึกษากับพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องคุยกัน ดังนั้นทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมด้วยกันทุกคน

“สิ่งที่เห็นตรงกันคือจากนี้ไปภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันใกล้ชิดในทุกมิติ เราจะมีคณะทำงานร่วมกัน เพื่อลงรายสาขาว่า ต้องการอะไร เพื่อร่วมกันแก้ปัญหากับส.อ.ท” นายเกรียงไกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีนโยบายหลายเรื่องที่เอกชนยังไม่เข้าใจในแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งปัญหาที่เตรียมส่งการบ้าน โดยเฉพาะการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่อุตสาหกรรมดั้งเดิมและเอสเอ็มอีจะช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ในช่วงเปราะบางเพื่อให้ประเทศขับเคลื่อน ซึ่งจะมีเรื่องการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ(Ease Of Doing Business) รองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ