นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ให้สัมภาษณ์ ด็อยท์เชอเว็ลเลอ (DW หรือ Deutsche Welle) สื่อเยอรมัน ที่ได้ตั้งประเด็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง” นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง ซึ่งเสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงในระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจากการถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112
โดยเริ่มจากที่พิธีกรถามนายพิธาว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกับการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร และคิดว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเธอ
นายพิธาจึงได้กล่าวว่า มันเป็นการสูญเสียที่น่าเศร้าสำหรับประเทศไทยที่กลุ่มเยาวชนนักเคลื่อนไหวอย่าง น.ส.เนติพรที่เรียกร้องหลักนิติธรรม (the rule of law) แทนที่หลักนิติวิธี (the rule by law) การจับกุมคุมขังก่อนการพิจารณาคดีและสิทธิในการประกันตัวของผู้ที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ นี่เป็น 3 สิ่งสำคัญที่ น.ส.เนติพรต่อสู้ ซึ่งแน่นอนว่าการปฏิรูปมาตรา 112 ยังอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่เธอถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว นั่นทำให้มีคนรุ่นใหม่หลายคนที่ถูกจับกุมก่อนจะมีการพิจารณา อดอาหารประท้วง ซึ่ง น.ส.เนติพรไม่ใช่คนแรก ตนรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดภายในสำหรับครอบครัวที่เธอต้องฟันฝ่าไปด้วยวิธีนี้ ซึ่งน่าจะมีวิธีการเจรจาเพื่อไม่ให้มีการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้น
และเมื่อพิธีกรถามว่า น.ส.เนติพร ควรถูกคุมขังหรือไม่ จากการไปสอบถามความเห็นเกี่ยวกับสถาบัน นายพิธาตอบว่า ในประเทศไทยกฎหมายไม่อนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบัน แต่อารมณ์ความรู้สึกของยุคสมัยอาจเปลี่ยนไป เราในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ พยายามจะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้มีความเหมาะสมในการปกป้องประมุขแห่งรัฐและปกป้องสิทธิเสรีภาพในการพูด เพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมายมีความเหมาะสมเมื่อพูดถึงการละเมิดเสรีภาพ ถึงแม้ว่ามันจะผิด เธอก็มีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว ซึ่งเป็นการสันนิษฐานว่าเธอยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่เธอจะต้องผ่านการพิจารณาคดีก่อน ที่จะตัดสินความถูกผิด แต่ น.ส.เนติพรกลับไม่ได้แม้กระทั่งสิทธิประกัน นั่นทำให้เธออดอาหารประท้วง
พิธีกรถามถึงการแก้ไขมาตรา 112 ที่เป็นหนึ่งในการรณรงค์หาเสียงของนายพิธาและพรรคก้าวไกลว่า ยังมีจุดยืนเหมือนเดิมที่จะให้มีการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ยังคงเป็นประเด็นว่าจะรักษาประเทศไทยให้คงอยู่ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างไร นอกเหนือจากการปฏิรูปแล้ว ยังเป็นทางสายกลางระหว่างขั้วความคิดเห็นหรืออารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ว่าบทบาทของกฎหมายและสถาบันในศตวรรษ 21 ควรเป็นอย่างไร เราในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ เราไม่ต้องการเห็นการแบ่งขั้วความคิดเห็นนอกรัฐสภา แต่ต้องการเห็นทางร่วมกัน
ซึ่งด้านพิธีกรถามย้ำในจุดยืนนายพิธาว่ายังต้องการให้มีการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ นายพิธากล่าวตอบรับว่า ครับ แต่เป็นไปภายใต้ขอบเขตที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
ต่อประเด็นคำถามว่าพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้ที่นั่งมากที่สุด แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ หากผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนอย่างนายพิธาในการแก้ไขกฎหมาย แต่ไม่สามารถทำได้ แล้วจะแก้ได้อย่างไร นายพิธากล่าวว่า ผมคิดว่าสิ่งเดียวที่ทำได้คือทำสิ่งเดียวกัน และอธิบายกับฝ่ายที่ต่อต้านว่าเรามีเจตนาดีต่อสถาบัน และในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เราต้องการให้กษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง และเราไม่ต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองใช้กฎหมายมาตรา 112 ในการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา ต้องใช้การอธิบาย และหวังว่านั่นคือสิ่งที่เราทำในคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนนี้
พิธีกรถามนายพิธาถึงความเป็นไปได้ที่พรรคก้าวไกลจะถูกยุบ และเขาจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งนายพิธาตอบว่า เมื่อดูจากอดีตแล้ว นี่ถือเป็นวงจรอุบาทว์ครั้งที่ 5 ในรอบ 20 ปีที่มีเรื่องราวเช่นนี้ สถิติในอดีตไม่ได้เข้าข้างผมเลย แต่ผมจะพยายามให้ถึงที่สุดและเชื่อมั่นเอาไว้ มันก็ยังมีโอกาสที่พรรคก้าวไกลจะถูกยุบเหมือนพรรคอนาคตใหม่ แต่เราก็จะพยายามต่อสู้และชี้แจงว่านี่ไม่ได้กระทบแค่ผมหรือพรรคเพียงอย่างเดียวแต่ยังกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยของไทยโดยรวมอีกด้วย
ทางนายพิธาชี้แจงต่อคำถามของพิธีกรว่า เขาให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้เกินจริงหรือไม่ ที่จะขจัดอิทธิพลของกองทัพ และปฏิรูปกฎหมาย ม.112 ว่าตนไม่คิดว่าได้ให้คำมั่นสัญญาไว้เกินจริง สิ่งที่ผมอยากจะทำคือปฏิรูปประเทศไทยในขณะที่ยังรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ เราอยากที่จะเอาทหารออกจากการเมือง ลดการผูกขาด และกระจายอำนาจ มันเป็นวิธีที่เรียบง่ายในการขึ้นสู่อำนาจในระบอบประชาธิปไตย ผมชนะการเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลผสมแต่ก็ถูกสมาชิกวุฒิสภาขัดขวาง
- คนไทยว่าไง ? คมนาคม เตรียมหารือ ยกเลิก ประเพณี บั้งไฟ หลังทะยานเฉียดเครื่องบิน
- พิรุธเพียบ! กรมอุทยานฯ ลุยตรวจฟาร์ม ไลเกอร์ พ้นสี กลายเป็น ไทเกอร์
- เหนื่อยใจ! ลูกชายคลั่งยา คว้ามีดไล่ฟัน พ่อต้องใช้ดัมเบลทุบหัวดับคาที่
ต่อจากคำถามของพิธีกรว่านายพิธาได้ตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคเพื่อไทยที่ได้ที่ 2 ในการเลือกตั้ง แต่เป็นพรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจพูดได้ว่าเพื่อไทยไม่ได้รับอาณัติจากประชาชนเหมือนกับที่คุณมี นั่นทำให้รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไม่มีความชอบธรรมใช่หรือไม่
นายพิธาได้ตอบกลับว่า “ผมคิดว่าจะเกิดวิกฤตไม่ชอบธรรมขึ้นอยู่กับว่าคุณทำผลงานได้ดีหรือไม่ดี มันมีความคาดหวังในตัวรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาหลังรัฐบาลทหาร ให้นำความเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป และปรับเปลี่ยนโครงสร้าง แต่ 7 เดือนผ่านไปกลับไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเลย”
และพิธีกรถามว่านายพิธาต่อว่า คิดว่าตนถูกขโมยผลการเลือกตั้งนี้ไปจากคุณหรือไม่ ซึ่งนายพิธาตอบว่า มันเป็นไปตามที่คาด มันเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์สถานการณ์ว่าต่อให้คุณชนะก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะขึ้นเป็นรัฐบาลได้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ดังนั้นผมรู้เรื่องนี้อยู่แล้วก่อนการเลือกตั้ง แต่ผมพยายามทุกวิถีทางตามหลักจริยธรรมเพื่อพยายามรักษาความซื่อสัตย์ทางการเมืองให้มากที่สุด และผมเลือกเดินบนเส้นทางนี้เพื่อผันตัวเป็นฝ่ายค้านของรัฐบาล
ต่อจากคำถามว่าตอนนี้รัฐบาลชุดเดิมกำลังพูดถึงการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายพิธาคิดว่ารัฐบาลมีความจริงใจหรือไม่ในการพูดถึงเรื่องอยากทำประชามติ ซึ่งนายพิธาให้ความเห็นว่าก็ต้องรอดูกันต่อไป ตนหวังว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจ เพราะหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในไทยตอนนี้ก็เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว คุณจะมีประชามติ 2 หรือ 3 ครั้งก็ได้แต่สำคัญอยู่ที่คำถามในการทำประชามติเป็นอย่างไร ซึ่งอาจฟังดูง่ายแต่แท้จริงแล้วในรายละเอียดมีความซับซ้อนและอาจเกิดปัญหาได้ เราก็ต้องดูกันต่อไป แต่ในฐานะฝ่ายค้านแล้วเราต้องทำให้แน่ใจว่ารัฐบาลจะทำตามที่รับปากไว้
ทางด้านพิธีกรของรายการได้ย้อนว่าวันที่ 22 พฤษภาคม ของปีนี้จะเป็นการครบรอบ 10 ปีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก่อรัฐประหาร นายพิธามีความคิดเห็นอย่างไรกับช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยในประเทศมีความก้าวหน้าต่อไปหรือไม่ เพราะหลังจากนั้นก็มีการเลือกตั้งหลายครั้งตามมา
ซึ่งทางด้านนายพิธาให้ความคิดเห็นว่ามันเป็นทศวรรษที่สูญหาย ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเรียกประเทศไทยว่า ระบอบเผด็จการที่มีการแข่งขัน ที่กลุ่มอำนาจเบื้องหลังอนุญาตให้มีการจัดเลือกตั้งบ้างนานๆ ครั้ง และถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นตามต้องการ แต่จะมีกลไกอิสระของการปกครองแบบเผด็จการที่มีส่วนน้อยเพียง 1% จะหยุดไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง การต่อต้านความเปลี่ยนแปลงยังคงมีอยู่ตลอดในหลายรูปแบบ แต่พวกเขาก็ฉลาดขึ้นมากตอนนี้ ในอดีตคุณอาจพบเห็นการทำรัฐประหารของทหารเพื่อหยุดความเปลี่ยนแปลง หรือคุณอาจเห็นการทำสงครามและความรุนแรงบนท้องถนน แต่ปัจจุบันคุณจะเห็นการทำรัฐประหารทางตุลาการ คุณอาจเห็นนิติสงคราม การต่อสู้ในชั้นศาล มันเกี่ยวกับความสามัคคีของฝ่ายประชาธิปไตยทั่วเอเชียและทั่วโลกในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่มีการแข่งขันที่เกิดขึ้นไปทั่ว
สำหรับในคำถามสุดท้ายว่านายพิธารู้สึกเจ็บปวดหรือไม่ที่ชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี นายพิธาตอบว่า “ผมคิดว่าเวลาของผมจะมาถึง นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อนะ ท้ายที่สุดแล้วเวลาของผมจะมาถึงและผมก็รอได้ ผมต้องยึดถือความซื่อสัตย์ทางการเมือง มิเช่นนั้นคงนอนไม่หลับ นั่นคือสาเหตุที่ผมเลือกเดินเส้นทางนั้นและผมไม่เสียดายเลย“