"พิชัย" จี้ "ประยุทธ์" คืนเงินกองทุนน้ำมัน 2 หมื่นล้าน ฉกโอนเข้ารัฐตอนน้ำมันราคาถูก

Home » "พิชัย" จี้ "ประยุทธ์" คืนเงินกองทุนน้ำมัน 2 หมื่นล้าน ฉกโอนเข้ารัฐตอนน้ำมันราคาถูก
"พิชัย" จี้ "ประยุทธ์" คืนเงินกองทุนน้ำมัน 2 หมื่นล้าน ฉกโอนเข้ารัฐตอนน้ำมันราคาถูก

พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามที่ราคาน้ำมันได้เพิ่มขึ้นสูงมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก โดยตนได้เสนอให้ ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท และ ใช้กองทุนน้ำมันเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา โดยตนได้ทวงให้ พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี คืนเงินจำนวนเป็นหมื่นล้านที่โอนไปจากกองทุนน้ำมันเข้าไปเป็นรายได้ของรัฐคืนมา จากการตรวจสอบพบว่า รัฐบาลได้โอนเงินกองทุนน้ำมันที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันโดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันทั้งหมด 3 ครั้งดังนี้ 

ครั้งที่ 1 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2558 จำนวนเงิน 8,529.42 ล้านบาท

ครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 จำนวนเงิน 1,558 ล้านบาท 

ครั้งที่ 2 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2561 จำนวนเงิน 10,000 ล้านบาท 

รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,087.42 ล้านบาท 

ทั้งนี้ เงินกองทุนน้ำมันดังกล่าวถูกโอนไปให้รัฐในช่วงที่ราคาน้ำมันมีราคาลดลงและราคาอยู่ในระดับต่ำมาตลอด ทำให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจนล้น รัฐบาลจึงถือโอกาสโอนไปเป็นรายได้ของรัฐ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเงินดังกล่าวเป็นของประชาชนที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในช่วงที่ราคาผันผวนเช่นในภาวะปัจจุบัน แต่ในช่วงที่ราคาน้ำมันลดลงพลเอกประยุทธ์ นอกจากจะขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจำนวนที่สูงถึงลิตรละ 5.99 บาทรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วสูงถึง 6.41 บาท แถมยังถือวิสาสะโอนเงินกองทุนน้ำมันที่เป็นเงินของประชาชนไปเป็นรายได้ของรัฐกว่า 20,000 ล้านบาท

ดังนั้นในภาวะปัจจุบันที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนและมีแนวโน้มจะพุ่งขึ้นไปอีก รัฐบาลจึงต้องคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้กับกองทุนน้ำมันเพื่อนำไปใช้ในการแทรกแซงราคาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บกองทุนน้ำมันที่ไม่ได้จะให้เป็นรายได้ของรัฐ ทั้งนี้อยากให้องค์กรคุ้มครองสิทธิประชาชน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค iLaw และ องค์กรนอกภาครัฐ ได้ช่วยกันเรียกร้องและหากจำเป็นก็ควรฟ้องร้องเพื่อให้นำเงินนี้กลับคืนมาเพื่อช่วยแทรกแซงราคาน้ำมันให้กับประชาชนในช่วงนี้

นอกจากนี้ การที่รัฐนำเงินไปสนับสนุนราคาก๊าซแล้วกว่า 17,000 ล้านบาท น่าจะเป็นแนวทางที่สับสนเพราะก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธ์ เคยประกาศลอยตัวราคาก๊าซและประกาศเองว่าเลิกการอุดหนุนข้ามประเภท (Cross Subsidies) โดยเอาเงินคนเติมน้ำมันมาสนับสนุนให้กับคนใช้ก๊าซซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ใช้น้ำมัน และน่าจะเป็นปัญหาทางข้อกฏหมายหากมีผู้ฟ้องร้องเรื่องนี้ 

ทั้งนี้ หากมองย้อนหลังจะพบว่าสาเหตุที่ไทยใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) กันมาก เพราะในอดีต บมจ. ปตท. ผลิตก๊าซ LPG เหลือเป็นจำนวนมาก จากการกลั่นน้ำมัน และจากการแยกก๊าซธรรมชาติของโรงแยกก๊าซ จึงส่งเสริมให้ประชาชนนำไปใช้ในรถยนต์โดยมีรถยนต์ใช้ก๊าซ LPG กว่า 1 ล้านคัน และยังส่งเสริมในการใช้ในอุตสาหกรรมในภาคเหนือ จนมีปริมาณการใช้ก๊าซ LPG พุ่งสูงขึ้นมาก นอกเหนือจากการใช้ในการหุงต้มอาหาร ต่อมาก๊าซ LPG นี้สามารถนำไปใช้ในธุรกิจเปโตรเคมีได้ บมจ. ปตท จึงนำก๊าซ LPG เหล่านี้ไปใช้ในธุรกิจเปโตรเคมีในเครือ และให้รัฐบาลนำเข้าก๊าซ LPG มาทดแทนในราคาที่สูง โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันที่เก็บจากประชาชนมาใช้สนับสนุนราคาก๊าซ LPG ที่ต้องนำเข้าในราคาสูง ซึ่งเป็นความไม่ยุติธรรมและเอาเปรียบ ซึ่ง บมจ. ปตท. ควรจะต้องร่วมรับผิดชอบในการส่งเสริมการใช้ก๊าซ LPG ในปริมาณที่มากตั้งแต่แรก โดยในสมัยที่ผมเป็น รมว. พลังงาน ได้สั่งให้ บมจ. ปตท. ได้จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ในปริมาณก๊าซ LPG ที่นำไปใช้ในธุรกิจเปโตรเคมี กก. ละ 1 บาท ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น และควรต้องรับผิดชอบมากกว่านี้ 

ความเข้าใจในเรื่องพลังงานและประวัติย้อนหลังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และการบริหารพลังงานต้องใช้ความรู้ความเข้าใจหลายด้านทั้ง ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเมือง และ ด้านเทคนิคทางพลังงานในแต่ละประเภท ซึ่งยากที่พลเอกประยุทธ์ จะเข้าใจได้พลเอกประยุทธ์ อาจจะถูกบริษัทพลังงานหลอกได้ง่าย อีกทั้งยังนำคนจากบริษัทพลังงานมาร่วมรัฐบาลและนำมาสนับสนุนรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้เลย ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องพลังงาน เพราะตลอด 7 ปีพลเอกประยุทธ์ บริหารยังทำประเทศไทยเสื่อมถอยทุกด้านได้ขนาดนี้ และถ้าพลเอกประยุทธ์ จะอยู่ต่ออีก 5 ปีตามที่ประกาศเอง ประเทศจะเสื่อมถอยขนาดไหน 

ดังนั้น นอกจากพรรคเพื่อไทย จะเสนอลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท และ การใช้เงินกองทุนน้ำมันเพื่อแทรกแซงราคา รวมถึงการทวงคืนเงินกองทุนน้ำมันที่พลเอกประยุทธ์ โอนไป 20,087.42 ล้านบาทแล้ว พรรคเพื่อไทยยังจะขอเสนอนโยบายในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน และ ราคาพลังงานทั้งหมดเพื่อไม่ให้เอาเปรียบประชาชนจนมากเกินไป และ บริษัทพลังงานก็อยู่ได้ด้วย โดยจะเข้าไปแก้ไขราคาหน้าโรงกลั่นที่ต้องเท่ากับราคาหน้าโรงกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์ และราคาเนื้อน้ำมันที่ขายในประเทศต้องไม่สูงกว่าราคาน้ำมันที่ส่งออก เพราะมีการขยายโรงกลั่นขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก แสดงว่ากำไรมากอยู่แล้ว ค่าการตลาดที่สูงมากบางช่วงสูงกว่าลิตรละ 2 บาท และราคาพลังงานทดแทนที่ทำจากพืชพลังงานที่มีราคาสูงเกินทั้ง เอทานอล และ ไบโอดีเซล และ โครงสร้างราคาไฟฟ้าที่ตอนนี้ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินกว่า 40-50% โดยค่าไฟฟ้ากำลังจะขึ้นตามมา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ตนได้เคยเสนอให้กรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฏรแล้ว ตอนที่ถูกเชิญไปให้ข้อมูล แต่ยังไม่เห็นมีการนำไปแก้ไขแต่อย่างใด ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้มาบริหารประเทศ จะนำนโยบายนี้มาแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกลงและต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ