นับแต่อดีต จังหวัดภูเก็ตเป็นอีกจุดหมายหนึ่งที่ชาวจีนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพ โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาค้าขายและทำเหมืองดีบุก สิ่งที่ตามชาวจีนฮกเกี้ยนเหล่านี้เข้ามาคือ ศรัทธาความเชื่อ ที่ก่อให้เกิดเป็นศาลเจ้ามากมายในจังหวัดนี้ และหนึ่งในศาลเจ้าเก่าแก่ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องชาวภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงก็คือ ศาลเจ้าปุดจ้อ
- 6 พิกัด ไหว้ขอความรัก 2567 ใกล้ BTS , MRT เดินทางง่ายสะดวกสบาย ลุยเลย!
- 8 พิกัดวัดดัง “แก้ชง” เสริมดวงต้อนรับปีมังกร 2567
- มูอย่างไรให้ตรงจุด! รวมสถานที่มูเตลู ตะลอนไหว้ขอพรรับปีใหม่ 2567
ประวัติ ศาลเจ้าปุดจ้อ
ศาลเจ้าปุดจ้อตั้งอยู่ที่ตำบลตลาดเหนือ ซึ่งเดิมเป็นลำคลองขนาดใหญ่ มีท่าเรือทำมาค้าขาย กลายเป็นชุมชนสำคัญและมีศาลเจ้าสำคัญๆอยู่หลายศาล ล้วนแล้วแต่มีประวัติอันยาวนาน
ศาลเจ้าปุดจ้อ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปุดจ้ออ๊าม มีอายุเก่าแก่นับร้อยปีตามหลักฐานพบว่าก่อตั้งขึ้นในปี 2451 โดยหันหน้าศาลเข้าหาคลองที่เดิมเป็นศาลเจ้าเต้กุ๊น หรือศาลเจ้าพ่อกวนอูอยู่แล้ว ต่อมามีพ่อค้าชาวจีนที่เดินทางเข้ามา ค้าขาย เห็นทำเลศาลเจ้านี้ดี จึงอัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมที่ตนนำติดตัวมาประดิษฐานไว้ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ให้คนสักการบูชา เมื่อมีผู้มากราบไหว้เจ้าแม่กวนอิมแล้วได้ตามคำที่ขอ ก็ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่กวนอิมกลายเป็นที่เลื่องลือ ศาลเจ้าเต้กุ๊นเดิมจึงค่อยๆ เปลี่ยนชื่อเป็น ศาลเจ้าปุดจ้อ ไปในที่สุด
กวนอิมประทานบุตร หรือ กวนอิมปุดจ้อ
เจ้าแม่กวนอิมในคติจีนนั้นมีหลายปาง หนึ่งในปางยอดนิยมคือ “ปางประทานบุตร” มีลักษณะอิริยาบถคือ อุ้มเด็กอยู่ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีคติการขอ ลูกกับเจ้าแม่กวนอิมที่ศาลเจ้าปุดจ้อแห่งนี้ ว่ากันว่าการขอลูกกับเจ้าแม่กวนอิมที่ศาลเจ้าปุดจ้อนี้ได้ผลชะงัดนัก โดยมีผู้สัมผัสประสบการณ์จริงมากมาย หลายคน มีบุตรยาก พอมาขอกับองค์กวนอิมปุดจ้อไม่นานก็ตั้งครรภ์
คำว่า ปุดจ้อ (สำเนียงฮกเกี้ยน) ก็คือ ฮุกโจ้ว หรือองค์พระ นั่นเอง กวนอิม หรือพระอวโลกิเตศวรนั้น น่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีผู้คนรู้จักกันอย่างกว้างขวาง และท่านก็ได้ชื่อว่า มีเมตตาอันหาประมาณมิได้ พระนามกวนอิมหรือกวนซีอิม เป็นพระนามจีนของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร โดยในภาษาสันสกฤต พระนามของพระองค์แปลว่า “ผู้ยิ่งใหญ่ที่มองลงมายังโลก” แต่ทางจีนกลับแปลว่า ผู้ยิ่งใหญ่ที่สดับฟังความทุกข์ของโลก
พระอวโลกิเตศวร หรือกวนซีอิมนั้น ต่อมาถูกความเชื่อและเรื่องเล่าแบบชาวบ้านทำให้กลายเป็นเทพของจีนไปโดยปริยาย หรือในอีกเรื่องเล่าของ “พระราชธิดาเมี่ยวซ่าน” ก็เล่าว่า พระราชธิดาอุทิศพระองค์เองเพื่อช่วยชีวิตพระราชบิดาเมี่ยวจวงผู้โหดร้าย จนที่สุดได้บรรลุเป็นเจ้าแม่กวนอิ่ม
การขอลูกจากเจ้าแม่กวนอิม ที่ศาลเจ้าปุดจ้อ
การมาขอลูกที่ศาลเจ้าปุดจ้อ นอกจากไหว้ขอพรกับองค์เจ้าแม่กวนอิมแล้วควรไหว้เจ้าแม่จู้เชิงเหนียงเหนียง เจ้าแม่บังเกิดเกล้าที่อยู่ในศาลเดียวกันนี้เสริมด้วย เคล็ดลับอีกอย่างคือ การเติมน้ำมันตะเกียงที่หน้าตั๋ว หรือโต๊ะหน้าองค์ปุดจ้อเพราะการเติมน้ำมันตะเกียงในภาษาจีน พ้องเสียงกับคำว่า มีบุตรเพิ่ม ดังสำนวนที่ว่า “เติมน้ำมันเติมบุตรให้ตระกูล” นั่นเอง
ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ยังมีพิธีกรรมความเชื่ออีกหลายอย่างที่ทำแล้วมู ทำแล้วปังไม่ว่าจะเป็นการเดินลอดตั๋วหรือโต๊ะองค์ปุดจ้อเพื่อสะเดาะเคราะห์ การเสี่ยงเซียมซี ยาสำหรับผู้มีปัญหาเรื่องสุขภาพ นอกจากนี้ คนภูเก็ตยังนิยมนำลูกที่อายุถ้วน 1 เดือนมาไหว้ถวายตัวกับองค์ปุดจ้อ แล้วเสี่ยงเซียมซีขอชื่อจีนให้ลูก โดยเชื่อกันว่าเมื่อทำแล้วลูกจะเลี้ยงง่าย ไม่เจ็บป่วย อีกอย่างที่คนนิยมมาขอจากองค์ปุดจ้อคือขอเรื่องคู่รักคู่ชีวิต
อีกอย่างที่แอบกระซิบคือ องค์จี้กงที่ศาลแห่งนี้ ขอโชคลาภได้ผลดีนัก ก่อนจะเดินไปเผากิ้ม (กระดาษเงินกระดาษทอง) จะพบกับรูปเคารพของท่านจี้กง ที่มือซ้ายของท่านจะถือก้อนทองอยู่ ให้เราเปิดกระเป๋าสตางค์แล้วใช้มือลูบก้อนทองเข้าหากระเป๋าของเรา เสมือนโกยเงินโกยทองจากมือท่านเข้ากระเป๋าเรานั่นเอง
ที่มา ตำราศาสตร์แห่งโหร 2567 เขียนโดย สมชาย แซ่จิว