“พายุไลออนร็อค” จ่อเข้าไทย 11 ต.ค.นี้ เข้ามาทางนครพนม บึงกาฬ แต่ที่น่าห่วงคือ “อุดรธานี” เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ให้ดี
นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) TEAMG หรือ ทีมกรุ๊ป วิเคราะห์พายุหมายเลข 17 หรือ ไลออนร็อค เตรียมขึ้นฝั่งล่าช้ากว่าปกติจากเดิมวันที่ 7-9 ตุลาคม 2564 แต่พายุขึ้นไปทางเหนือ อ้อมไปที่เกาะไหหลำ ก่อนจะมาขึ้นเมืองวิญ ประเทศเวียดนาม
ทั้งนี้ การรวมตัวกันช้า เมื่อเข้าไทยจึงมีพลังมากพอ เพราะรวมพลังได้ใหญ่ผ่านทะเลรวบรวมความชื้นมากขึ้น โดยจะเข้าไทยที่ จ.นครพนม ฝนที่นครพนมตกหนักในช่วงวันที่ 11-12 ตุลาคม 2564 เช่นเดียวกับที่ จ.บึงกาฬ จ.อุดรธานี แต่ไม่น่าห่วงเพราะสามารถระบายลงแม่น้ำโขงได้เร็ว
“ที่น่าเป็นห่วงคือ จ.อุดรธานี ต้องระวังให้ดีการระบายน้ำในตัวจังหวัดต้องเร่งจัดการเรื่องท่อ และเตรียมทดลองเครื่องสูบน้ำไว้ให้ดี” นายชวลิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่า พายุหมายเลข 17 “ไลออนร็อค” จะช่วยเติมน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว และอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ให้มีปริมาณน้ำมากขึ้นจากที่ปัจจุบัน ทั้ง 2 อ่างมีปริมาณน้ำกักเก็บไม่มาก สำหรับพายุนี้ มีโอกาสจะข้ามภูเขามาถึง จ.น่าน ทำให้ฝนตกเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งตอนนี้มีน้ำไม่ถึง 40% สำหรับฝนที่ตกใต้เขื่อน ลำน้ำน่าน มีพื้นที่เพียงพอที่จะรับน้ำได้ นับเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย
ด้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์ ข้อมูลคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2564 โดยระบุว่า พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง
- ภาคเหนือ
สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง คีรีมาศ)
พิษณุโลก (อ.วังทอง พรหมพิราม บางระกำ)
เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ)
พิจิตร (อ.บึงนาราง โพธิ์ประทับช้าง โพทะเล สามง่าม)
นครสวรรค์ (อ.พยุหคีรี โกรกพระ เมืองฯ)
อุทัยธานี (อ.เมืองฯ) - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นครราชสีมา (อ.สูงเนิน ด่านขุนทด โนนสูง เมืองฯ พิมาย ปักธงชัย โนนไทย คง พระทองคำ จักราช แก้งสนามนาง สีดา ขามสะแกแสง บ้านเหลื่อม)
ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ ภูเขียว บ้านเขว้า จัตุรัส คอนสวรรค์)
ขอนแก่น (อ.ชุมแพ ภูผาม่าน หนองเรือ แวงน้อย แวงใหญ่ โคกโพธิ์ไชย ชนบท มัญจาคีรี โนนศิลา บ้านแฮด พระยืน เมืองฯ บ้านไผ่)
มหาสารคาม (อ.โกสุมพิสัย กันทรวิชัย เมืองฯ)
กาฬสินธุ์ (อ.ฆ้องชัย กมลาไสย ร่องคำ)
ร้อยเอ็ด (อ.จังหาร เชียงขวัญ ธวัชบุรี โพธิ์ชัย เสลภูมิ ทุ่งเขาหลวง พนมไพร อาจสามารถ)
ยโสธร (อ.เมืองฯ คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย ค้อวัง)
ศรีสะเกษ (อ.กันทรารมย์)
อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ วารินชำราบ) - ภาคกลาง
ชัยนาท (อ.มโนรมย์ วัดสิงห์ เนินขาม หันคา สรรคบุรี สรรพยา เมืองฯ หนองมะโมง)
ลพบุรี (อ.เมืองฯ ชัยบาดาล บ้านหมี่)
สระบุรี (อ.วังม่วง แก่งคอย เสาไห้ บ้านหมอ หนองโดน วิหารแดง พระพุทธบาท เมืองฯ มวกเหล็ก เฉลิมพระเกียรติ ดอนพุด หนองแซง หนองแค)
สุพรรณบุรี (อ.บางปลาม้า สองพี่น้อง)
สิงห์บุรี (อ.เมืองฯ อินทร์บุรี ค่ายบางระจัน พรหมบุรี)
อ่างทอง (อ.เมืองฯ วิเศษชัยชาญ ป่าโมก ไชโย)
พระนครศรีอยุธยา (อ.ผักไห่ เสนา บางบาล พระนครศรีอยุธยา บางไทร บางปะอิน ท่าเรือ นครหลวง)
ปทุมธานี (อ.เมืองฯ สามโคก)
“ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมลำน้ำ อาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมในระดับสูง ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้า รวมทั้งการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านเส้นทาง” ปภ. ระบุ
ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปพร. จิตอาสา เครือข่ายอาสาสมัคร องค์กรสาธารณกุศลได้เตรียมความพร้อมตามแผนเผชิญเหตุ เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ พร้อมประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับชุมชน/หมู่บ้านในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวหรือเสียงตามสายประจำหมู่บ้าน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย