เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สมรสเท่าเทียม ซึ่งผ่านการพิจารณาในชั้น ส.ส. และคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 69 มาตรา โดยพิจารณาเป็นรายมาตรา
ทั้งนี้ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ส.ว.ที่ขอสงวนคำแปรญญัตติแทบทุกมาตรา โดยพยายามเปลี่ยนนิยามของคำ เช่น คำว่าคู่สมรส เปลี่ยนเป็นสามีภรรยาหรือคู่สมรส , คำว่า บุคคล เปลี่ยนเป็นชายและหญิง หรือผู้หมั้น
พล.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับวิธีการ และหลักการในการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ การเอาคำว่า สามีภรรยา เพศชาย เพศหญิงออกไป และใช้คำอื่นมาแทน เช่น คู่สมรส คู่หมั้น ซึ่งไม่ได้ระบุเพศที่ชัดเจนมาแทนโดยอ้างว่า เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม การแก้ไขแบบนี้ ตนถือว่า เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันครอบครัวอย่างรุนแรงที่สุด เพราะสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญของสังคมไทย และอยู่ในสภาพที่เปราะบาง การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สถาบันครอบครัวพังทะลายลงเร็วขึ้น
“ถ้าถามว่า ครอบครัวประกอบด้วยใครบ้าง ถามเด็ก ถามใคร ถามผู้ใหญ่ ถามที่โรงเรียน ก็จะบอกว่าประกอบด้วยพ่อแม่ ลูก พ่อคือผู้ชายแม่คือผู้หญิงหรืออาจจะบอกว่า ประกอบด้วยสามีภรรยาและบุตร สามีคือผู้ชายภรรยาคือผู้หญิง บุตรก็ว่าไป คำพวกนี้ เขามีความหมาย และระบุเพศไว้ชัดเจนว่า เพศอะไร เพศกำเนิด ที่สำคัญคือคำว่า สามีภรรยา จะปรากฏอยู่ในกฎหมายฉบับนี้เป็นที่แรก เพราะเกิดจากการสมรส ถ้าเอาออกไปจะหายไปจากสารบบภาษาไทย จะสะเทือน ถึงสถาบันครอบครัว ไปถึงเรื่องเพศชาย เพศหญิง” พล.อ.วรพงษ์ กล่าว
พล.อ.วรพงษ์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขตรงนี้ จะบานปลายต่อไปอีก เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ดี ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ตนจึงบอกว่า การแก้กฎหมายแบบนี้ ไม่ได้เป็นการยกระดับ LGBTQ ขึ้นมาให้เท่าเทียมกับเพศชายเพศหญิง แต่เป็นการกดเพศชายเพศหญิงลงไปให้เข้ากับ LGBTQ จะทำให้ภาพเบลอไม่ชัด เพราะใช้คำว่าคู่สมรส คู่หมั้น
“ทำให้ผมมั่นใจว่า หากกฎหมายฉบับนี้ออกไป ทางกลุ่ม LGBTQ ก็จะไปเรียกร้องให้แก้ไขโครงสร้างทางสังคม องค์ประกอบของสถาบันครอบครัว ของแบบเรียน ของมหาดไทยต่างๆ เพื่อให้เข้าไปในกลุ่มของท่าน ทะเบียนสมรสก็ออกแบบใหม่อีกแล้ว ไม่มีผู้ชายชื่ออะไร ผู้หญิงชื่ออะไร มันก็แปลกๆ แล้วสังคม จะเป็นอย่างไรผมติดใจการแก้ไขกฎหมาย ทำไมกมธ.ถึงไม่เอะใจ ว่า กฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง การแก้ไขกฎหมายแบบนี้ได้ 10 เสีย 90 สังคมและสภาพครอบครัวถูกเซาะกร่อนทำลาย ถ้าไม่ตั้งใจก็ถือว่าดี แต่ถ้าตั้งใจก็ถือว่า แย่มาก ผมขอให้พอยังกลับตัวทัน และขอให้เพื่อนสมาชิกฟังผมอธิบายด้วยความรอบคอบก่อนที่จะลงมติ” พล.อ.วรพงษ์ กล่าว