พลังประชารัฐย้ำจุดยืน ไม่เอาบัตรเลือกตั้งใบเดียว ชี้ 'บิ๊กป้อม' ก็หนุนบัตร 2 ใบ

Home » พลังประชารัฐย้ำจุดยืน ไม่เอาบัตรเลือกตั้งใบเดียว ชี้ 'บิ๊กป้อม' ก็หนุนบัตร 2 ใบ



พลังประชารัฐย้ำจุดยืน ไม่เอาบัตรเลือกตั้งใบเดียว ชี้ ‘บิ๊กป้อม’ ก็หนุนบัตร 2 ใบ จ่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ สูตรหาปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 ขัดรธน.หรือไม่

เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 2 ก.ค.65 ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงถึงกระแสที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวว่า

พรรคมีนโยบายชัดเจนคือ ไม่สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวทั้งสิ้น โดยมีเหตุผลคือ เราเคยแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว เพื่อเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จากที่ปรากฎเป็นข่าวที่จะเสนอให้กลับไปแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อกลับไปเลือกบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น อาจมีฝ่ายต่างๆ ที่มีความประสงค์ที่อยากจะได้ ขอยืนยันจุดยืนของพรรคพปชร. ซึ่งเป็นการหารือร่วมกันของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ก็สนับสนุนเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เมื่อถามว่าในเรื่องสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 พร้อมยื่นศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ถูกต้อง ตนไม่สามารถเห็นชอบกับร่างหาร 500 ได้ ทั้งนี้ เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้อีกแล้ว โดยจะยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรง ซึ่งตนเห็นชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 91 นั้น เพื่อให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และต้องหารด้วย 100 เท่านั้น แต่การที่ไปบิดเบือนเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยเอาบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ และเมื่อลงคะแนนเสร็จ นำมาหารด้วยจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และส.ส.เขต 400 คน รวมเป็น 500 คน เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นเรื่องนี้ต้องชัดเจน

เมื่อถามว่า จากกรณีพรรคฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์จะยื่นแยกใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยื่นแยกได้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องการเข้าชื่อ 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา โดยประเด็นที่ตนจะยื่นนั้น โดยยื่นในฐานะอดีตประธานกมธ. ดังนั้นประเด็นของตนจะมีแต่ข้อกฎหมาย ที่จะชี้ว่าการหาร 500 นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดทั้งบทบัญญัติที่เขียนให้สัมพันธ์โดยตรง รวมถึงขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งชัดเจนว่าจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ให้เหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ปี 2550 และปี 2554 ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ชัดเจนว่ามาตรา 93 และมาตรา 94 ไม่มีผลที่จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ได้ และมาตรา 91 ที่แก้ไขก็เป็นที่มาของการแก้ไขการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้น การกลับไปไม่ใช้สูตรหาร 100 ก็เป็นการขัดเจตนารมณ์

“คนทั่วไปก็ดูแล้วก็คงเข้าใจ ในเมื่อเป็นการส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยใช้บัตรคะแนนของส.ส.บัญชีรายชื่อที่ประชาชนเลือก ก็จะต้องใช้จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นตัวคำนวณ ไม่เช่นนั้นประชาชนเลือกส.ส. พรรคการเมืองหนึ่ง ปรากฏว่าเมื่อหารออกมาแล้วกลับไม่มีพรรคการเมืองที่เลือกเลย ก็ถือว่าเป็นการบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนผู้ออกเสียงผ่านบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 ซึ่งเหล่านี้ก็จะต้องไปพิสูจน์ที่ศาลรัฐธรรมนูญ” นายไพบูลย์ กล่าว

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ