พรุ่งนี้รู้! กมธ.เคาะสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ สาธิต เร่งกม.ลูกให้เสร็จ สกัดเดดล็อก

Home » พรุ่งนี้รู้! กมธ.เคาะสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ สาธิต เร่งกม.ลูกให้เสร็จ สกัดเดดล็อก


พรุ่งนี้รู้! กมธ.เคาะสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ สาธิต เร่งกม.ลูกให้เสร็จ สกัดเดดล็อก

สาธิต ย้ำ สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ต้องหาร 100 ยึดตามหลักการที่แก้ไขมาแล้ว รับกมธ.แก้รธน.บกพร่อง แก้แค่ ม.91 ชี้เป็นสิทธิ์ที่จะเห็นต่าง-ยื่นศาลรธน.ตีความ

เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 11 พ.ค.2565 ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า วันนี้พิจารณากฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งเหลืออีกหลายมาตรา จะพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว ส่วนวันที่ 12 พ.ค. จะพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ วิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือส.ส.พึงมี แต่ขึ้นอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งต้องยึดโยงมาตรา 91 ที่แก้ไขมาว่ามีหลักการอย่างไร

ส่วนประเด็นความเห็นต่างก็เป็นสิทธิ์ของกมธ.ที่จะสงวนความเห็นหรือยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ แต่ในกมธ.ชัดเจนแล้วว่า การพิจารณาวิธีการคำนวณต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขมาแล้ว ซึ่งจะคำนวณตามสัดส่วนที่สัมพันธ์กันกับพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งในจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน คือการเอา 100 ไปหาร

ทั้งนี้ ตนจะพิจารณาประเด็นหาร 100 หรือ 500 ให้จบภายในวันที่ 12 พ.ค. เพราะมีข้อตกลงกันแล้วว่าการโหวตไม่ต้องนัดล่วงหน้า เพื่อให้การพิจารณาเสร็จตามที่กำหนดไว้ คือวันที่ 22 พ.ค. เราจะเดินหน้าทำให้กฎหมายเสร็จโดยเร็ว เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญของสถานการณ์และนายกฯว่า ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองหรือไม่ หรือครบวาระ หากผ่านวาระ 3 กฎหมายสองฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เมื่อถามว่ามีกมธ.บางคนเห็นว่าการหารด้วย 100 อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะแก้ไขแค่มาตรา 91 นายสาธิต กล่าวว่า เป็นอีกความเห็นหนึ่ง สำหรับการแก้ไขมาตราเดียวนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นความบกพร่องของกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญบางส่วนที่แก้ไขไม่ครบถ้วน แต่ไม่เป็นเหตุต้องไปเปลี่ยนสัดส่วนในการคำนวณ เพราะคำพูดในการแก้ไขมีความชัดเจนแล้ว และเป็นเรื่องอนาคตหากจะยื่นตีความกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งต้องไปติดตามว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาหรือไม่

แต่ในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา มีการนำร่างที่แก้ไขเสร็จแล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งขั้นตอนนั้นไม่ได้มีปัญหา แต่พอมายื่นใหม่จะมีปัญหาก็ต้องมีเหตุผลว่าปัญหาไม่ตรงกับครั้งแรกตอนไหน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ