พระประวัติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เจ้าชายนักแข่งรถชื่อก้องโลก

Home » พระประวัติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เจ้าชายนักแข่งรถชื่อก้องโลก

ในโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพเก่าในอดีต และพูดคุยถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์กันอย่างกว้างขวาง หนึ่งในนั้นคือภาพของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ที่ทรงฉายกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

ร้อยเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช มีพระนามลำลองว่า พระองค์ชายพีระ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประสูติแต่หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 ประชาชนมักรู้จักพระบิดาของพระองค์พีระ ในพระนามว่า “สมเด็จวังบูรพา” ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดกิจการไปรษณีย์ไทย และทรงเป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์

เมื่อแรกประสูติมีพระอิสริยยศที่ หม่อมเจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยอีตัน, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ก่อนเปลี่ยนไปทรงศึกษาด้านประติมากรรม ที่ โรงเรียนศิลปะบายัม ชอว์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เสกสมรสกับซิริล เฮย์คอคชาวอังกฤษ (หม่อมซิริล ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา) เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2480 ก่อนจะหย่าขาดกันใน 11 ปี ต่อมา ทรงสมรสใหม่กับหม่อมชลิต้า โฮวาร์ด ชาวอาร์เจนตินา ต่อมาพระองค์พีระทรงสมรสอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2500 กับหม่อมสาลิกา กะลันตานนท์ และหย่าขาดกันใน พ.ศ. 2506 จากนั้นทรงสมรสกับ หม่อมอรุณี จุลทะโกศล และหม่อมชวนชม ไชยนันท์ 

พระองค์มีพระโอรสธิดาทั้งหมด 3 คน ได้แก่

  • หม่อมราชวงศ์พีรเดช ภาณุพันธุ์ (ราวพ.ศ. 2497 – พ.ศ. 2514) เกิดแต่เซเลีย โฮวาร์ด
  • หม่อมราชวงศ์ระพีพร บุญยะมาน (เกิด 28 มีนาคม พ.ศ. 2510) เกิดแต่ชวนชม ไชยนันท์
  • หม่อมราชวงศ์พีรานุพงศ์ ภาณุพันธุ์ (เกิด 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) เกิดแต่ชวนชม ไชยนันท์

ความสัมพันธ์ต่อ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

พระองค์เจ้าพีระและพระองค์จุล ต่างก็เดินทางไปศึกษาที่อังกฤษ โดยพระองค์จุลเสด็จมาก่อนในปี 1920 (พ.ศ. 2463) ก่อนที่พระองค์พีระจะเสด็จตามมาเมื่อเดือนเมษายน 1927 (พ.ศ. 2470) ทว่าการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพระองค์เจ้าพีระเสด็จมาเพื่อต่อเรือไปยังอังกฤษ ขณะที่พระองค์จุลเสด็จมาพักร้อนหลังหยุดเรียน ทั้งคู่เพียงได้เห็นหน้าค่าตากันเฉยๆ ยังไม่ได้มีเหตุการณ์ใดที่พิเศษนัก

กระทั่ง 2 ปีต่อมา ในเดือนสิงหาคม 1929 (พ.ศ. 2472) ทั้งสองพระองค์ก็ได้ทำความรู้จักอย่างเป็นทางการ โดยมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ หรือ พระองค์เจ้าอาภัส พระเชษฐาของพระองค์เจ้าพีระ ที่เสด็จมาศึกษาต่อที่อังกฤษเช่นกันเป็นสื่อกลาง

 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

พระองค์เจ้าอาภัสและพระองค์เจ้าพีระ คือพระโอรสของ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่พระองค์จุลเป็นพระโอรสของ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากนับตามลำดับญาติแล้ว พระองค์เจ้าอาภัสและพระองค์เจ้าพีระ คือพระปิตุลาของพระองค์จุล แต่ด้วยความที่พระองค์จุลมีพระชันษาที่มากกว่า พระองค์จุลจึงเปรียบเสมือนพระเชษฐาของเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์ไปโดยปริยาย

ทว่านอกจากจดหมายจากเจ้าฟ้าภาณุรังษีผู้เป็นบิดาของพระองค์เจ้าอาภัสและพระองค์เจ้าพีระ ที่เขียนเพื่อฝากฝังให้พระองค์จุลดูแลสองพี่น้อง ก่อนจะถึงแก่ทิวงคตในปี 1928 (พ.ศ. 2471) แล้ว อุปนิสัยส่วนตัว ยังมีส่วนช่วยให้พระองค์พีระสนิทสนมกับพระองค์จุลเป็นอย่างยิ่ง

“ในไม่ช้าหลังจากที่ได้รู้จักพีระอย่างสนิทสนมก็สังเกตได้ว่า ดูเขาชอบพอในตัวข้าพเจ้า ชอบฟังข้าพเจ้า คุย และแสดงความไหวพริบ ชอบถามนู่นถามนี่เพื่อแสวงหาความรู้ใส่ตัว” นี่คือส่วนหนึ่งที่พระองค์จุลบันทึกถึงความรู้สึกที่มีต่อพระองค์เจ้าพีระในหนังสือ เกิดวังปารุสก์

เส้นทางนักแข่งรถ

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ทรงเริ่มแข่งขันขับรถ โดยได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทั้งสองพระองค์เป็นที่รู้จักในหมู่นักแข่งรถในชื่อ Prince Bira และ Prince Chula ทรงขับรถยี่ห้อ อี.อาร์.เอ. (English Racing Automobiles – E.R.A.) ทาสีฟ้าสดใส รถที่ใช้ในการแข่งขัน ชื่อ อี.อาร์.เอ. รอมิวลุส (Romulus) อี.อาร์.เอ. รีมุส (Remus) และ อี.อาร์.เอ. หนุมาน (Hanuman) สีฟ้าของรถแข่งปัจจุบันเรียกว่า ฟ้าพีระ (Bira blue)

การแข่งขันรายการแรกอย่างเป็นทางการของพระองค์เจ้าพีระ หรือ พ.พีระ (B. Bira) เกิดขึ้นในปี 1935 (พ.ศ. 2478) ที่สนามบรู๊คแลนด์ส โดยใช้รถยี่ห้อ ไรลี่ย์ ที่พระองค์จุลซื้อไว้เป็นคอลเลคชั่นในการแข่ง ซึ่งแม้จะไม่ได้รับชัยชนะ แต่ก็เพียงพอที่สโมสรนักแข่งอังกฤษ หรือ British Racing Drivers Club (BRDC) จะรับพระองค์เจ้าพีระเข้าเป็นสมาชิก

แม้พระองค์เจ้าพีระจะมีพระปรีชาสามารถด้านการขับรถมากขึ้น จนพระองค์จุลยอมให้ลงแข่งในรายการระยะทางไกลๆ ได้ แต่เมื่อการแข่งขันรถยนต์เป็นการประสานงานระหว่าง Man & Machine หรือคนกับเครื่องจักรฉันใด นักแข่งก็ไม่อาจคว้าชัยชนะได้หากขุนศึกคู่ใจไม่ดีพอ เรื่องดังกล่าวทั้งพระองค์เจ้าพีระกับพระองค์จุลผู้เป็นผู้จัดการทีมได้ลองผิดลองถูกกับการซื้อรถอยู่หลายครั้ง กระทั่งในที่สุดก็ได้รถคู่ใจ เมื่อพระองค์จุลสั่งรถยี่ห้อ ERA รุ่น R2B ให้พระองค์เจ้าพีระ ในโอกาสฉลองพระชันษาครบ 21 ปี เมื่อเดือนกรกฎาคม 1935 (พ.ศ. 2478)

เพราะแค่เพียงสนามแรกที่ลงทำการแข่งขัน พระองค์เจ้าพีระก็นำรถแข่งคันใหม่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 หลังจากนั้นพระองค์จุลก็สั่งรถรุ่นเดียวกันอีกคันสำหรับใช้สลับในการแข่งขันในปีถัดมา เหตุดังกล่าวทำให้พระองค์เจ้าพีระเลือกที่จะตั้งชื่อรถ 2 คันนี้ว่า “รอมิวลุส” กับ “รีมุส” ตามเทพเจ้าฝาแฝดผู้สร้างกรุงโรม นอกจากนี้ ยังซื้อรถ ERA รุ่น R12B/C มาอีกคัน ซึ่งพระองค์จุลตั้งชื่อรถคันนี้ว่า “หนุมาน” ตามลิงตัวเอกในนิยาย รามเกียรติ์ ที่พระองค์จุลทรงโปรด 

ฉายา เจ้าดาราทอง

พระองค์เจ้าพีระนำรถทั้ง 3 คัน สลับกันคว้าชัยชนะในสนามต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รอมิวลุส รถคู่ใจอันดับ 1 ที่นำพระองค์เจ้าพีระคว้าแชมป์แรกในฐานะนักแข่งอาชีพที่โมนาโก ผลงานโดดเด่นอันสม่ำเสมอทำให้พระองค์เจ้าพีระทรงชนะเลิศการแข่งรถกรังด์ปรีซ์ในยุโรปอีกหลายครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 1936, 1937 และ 1938 จนได้รางวัล ดาราทอง (BRDC Road Racing Gold Star) จากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร 3 ปีซ้อน ทรงได้รับการบรรจุพระนามในหอเกียรติยศของสมาคมนักแข่งรถอังกฤษ อันนำมาซึ่งฉายา “เจ้าดาราทอง” จากสื่อมวลชนของไทย

พระองค์เจ้าพีระ และ พระองค์จุล ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเมื่อปลายปี ค.ศ.1937 (พ.ศ. 2480) และทรงนำรถรอมิวลุสมาทรงขับโชว์ และทรงจัดประลองความเร็วที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2480 โดยราชยานยนต์สมาคมแห่งสยาม และจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมที่วังจักรพงษ์ ขณะนั้นอยู่ในช่วงงานฉลองรัฐธรรมนูญ มีผู้คนเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก

แม้เส้นทางชีวิตในฐานะนักแข่งจะขาดช่วงอยู่บ้าง เมื่อกิจกรรมการแข่งขันรถยนต์ทั่วโลกต้องถูกยุติลงชั่วคราวจากผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1939-1945 ซึ่งทำให้พระองค์เจ้าพีระต้องเปลี่ยนไปทำหน้าที่ครูฝึกสอนนักบินเครื่องร่อนให้กองทัพอังกฤษ ได้ยศเรืออากาศโท เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง จึงกลับมาขับรถสูตรหนึ่ง แข่งขันกรังด์ปรีซ์ในช่วง ค.ศ. 1950 – 1954

การแข่งขันครั้งที่ดีที่สุดของพระองค์ คือ เฟรนช์กรังด์ปรีซ์ ในปี ค.ศ. 1954 ทรงขับรถ Maserati 250F ในรอบสุดท้ายทรงอยู่ในอันดับที่ 3 ซึ่งจะได้ขึ้นโพเดียม แต่น้ำมันหมดถังก่อนจะเข้าเส้นชัยเพียงเล็กน้อย จึงทรงได้อันดับที่ 4 และเป็นสถิติที่ดีที่สุดในการแข่งขันรถสูตรหนึ่งของพระองค์

ตามคำบอกเล่าของ หญิงหมัด หรือ ม.ร.ว. มาลินี จักรพันธุ์ ผู้เขียนหนังสือ เจ้าชายดาราทอง : ต้นกำเนิดที่เกิดเหตุ เมื่อพระองค์เจ้าพีระเกือบมีโอกาสได้เป็นนักแข่งของทีม เฟอร์รารี่ หลังเป็นนักแข่งอิสระได้ไม่นาน แต่โอกาสนั้นก็หลุดลอยไปเนื่องจากความไม่มั่นใจในไลฟ์สไตล์ของพระองค์ท่าน ถึงกระนั้น เส้นทางชีวิตในฐานะนักแข่งรถก็ยังดำเนินต่อไปอย่างมั่นคง จนที่สุดแล้ว พระองค์เจ้าพีระก็ได้จารึกชื่อตัวเองในอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ กับการเป็นนักแข่งรถสูตรหนึ่งคนแรกของไทยในปี 1950 ปีแรกที่มีการแข่งขัน F1 นั่นเอง

พระองค์ทรงเลิกแข่งรถสูตรหนึ่งในปลายปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสายพระเนตรสั้น ต้องทรงฉลองพระเนตรแบบพิเศษ และทรงมีปัญหาในการขับเวลาฝนตก

สิ้นพระชนม์

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2528 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน โดยทรงล้มลงที่สถานีรถไฟบารอนส์คอร์ต ที่ลอนดอน ขณะที่ผู้คนกำลังซื้อข้าวของต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส ไม่มีใครทราบว่าพระองค์เป็นใคร ไม่มีหลักฐานอะไรในพระองค์ นอกจากจดหมายภาษาไทยที่ตำรวจลอนดอนอ่านไม่ออก จึงส่งจดหมายไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญทางภาษาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ก่อนจะทราบว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช สิ้นพระชนม์เสียแล้ว สิริพระชันษา 71 ปี

ข่าวสิ้นพระชนม์ถือเป็นข่าวใหญ่ เผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก ลงข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับ รวมทั้งต่างประเทศที่พระองค์ทรงทำชื่อเสียงไว้ สถานทูตจัดพิธีสวดพระอภิธรรมถวายอย่างสมพระเกียรติ พระราชวงศ์ไทยที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษได้รับแจ้งข่าวนี้ทั้งหมด

เมื่อพระศพถูกเคลื่อนย้ายไปที่สุสานเพื่อพระราชทานเพลิง นักแข่งรถดัง ๆ สมัยเดียวกันรวมตัวกันทั่วยุโรป เดินทางมาร่วมแสดงความคารวะ โดยหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นผู้อัญเชิญธูปเทียนพระราชทานมาร่วมงาน ข้าราชการไทยในสถานทูตไปร่วมงานกันหมด

ทั้งนี้ หม่อมราชวงศ์มาลินี จักรพันธุ์ ผู้รวบรวมประวัติของพระองค์ ส่งท้ายไว้ว่า “ดวงพระวิญญาณลอยละล่องขึ้นสู่สรวงสวรรค์ พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างโดดเดี่ยว เพียงแค่จดหมายภาษาไทยหนึ่งฉบับที่ทรงทิ้งไว้เพื่อส่งท้ายให้ได้ทราบว่าพระองค์คือใคร เทพส่งพระองค์ท่านลงมาจุติอย่างงามสง่า พระนามขจรขจายก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปทั่วโลก และเทพได้นำพระองค์ท่าน “เจ้าดาราทอง” เสด็จกลับขึ้นไปอย่างเดียวดาย เหมือนสวรรค์แกล้งให้โลกลืม”

สนามพีระเซอร๋กิต

พีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต (พัทยา) หรือ พีระเซอร์กิต (Bira International Circuit) เป็นสนามแข่งรถมาตรฐานแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์กีฬาแข่งรถนานาชาติ (F.I.A.) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 164 ไร่ ในเขตตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ห่างจากเมืองพัทยา 20 กิโลเมตร

สนามพีระเซอร์กิต เดิมชื่อ พัทยาเซอร์กิต สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2528 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น พีระเซอร์กิต ตามพระนามของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช อดีตนักแข่งรถสูตรหนึ่งที่มีชื่อเสียงของไทย ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2531 เวลา 9.00 น. ก่อนหน้าการแข่งขันรถประวัติศาสตร์ “กรุงเทพกรังด์ปรีซ์ 2531” 

สนามพีระเซอร์กิต บริหารงานโดย บริษัท พีระเซอร์กิต จำกัด ประกอบด้วยสนามแข่งรถ ความยาว 2,410 เมตร และสนามแข่งโกคาร์ท และมีโครงการปรับปรุงสนามหลักให้มีความยาวไม่ต่ำกว่า 3,600 เมตร 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ