พปชร. พร้อมแก้รธน. ชี้สว.ไร้ความหมาย ถ้าได้เกิน 250เสียง อู๊ดด้า ย้ำต้องปิดสวิตช์

Home » พปชร. พร้อมแก้รธน. ชี้สว.ไร้ความหมาย ถ้าได้เกิน 250เสียง อู๊ดด้า ย้ำต้องปิดสวิตช์


พปชร. พร้อมแก้รธน. ชี้สว.ไร้ความหมาย ถ้าได้เกิน 250เสียง อู๊ดด้า ย้ำต้องปิดสวิตช์

มติชน จัดเวทีดีเบต เลือกตั้ง 66 พปชร. ยันพร้อมแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ ส.ว.ไม่มีความหมาย ถ้าสภาฯ รวมได้เกิน 250 เสียง ปชป.หนุนปิดสวิตช์

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มี.ค. 2566 ที่โรงแรม พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) เครือมติชนจัดแคมเปญ “มติชน: เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” เปิด 5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์ ซึ่งวันนี้เป็นเวทีแรก ประยันนโยบาย “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” ที่มีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมืองร่วมขึ้นเวทีประชันนโยบาย ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย(ทสท.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

โดยในรอบแรก ตอบคำถามจับคู่ดีเบต นายสนธิรัตน์ ตอบคำถาม หากพรรคของคุณเป็นรัฐบาลจะแก้ไข ร่างใหม่ หรือดำเนินการอย่างไรกับ รัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่เป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน ว่า จุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ หากเรื่องใดของรัฐธรรมนูญเมื่อนำมาบังคับใช้แล้ว ไม่สามารถขับเคลื่อนตามเจตนารมณ์ของผู้ร่าง หรือเกิดข้อถกเถียง ก็สามารถนำประเด็นเหล่านั้นมาพิจารณาเพื่อแก้ไข

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือประโยชน์ของประชาชน ไม่ว่าจะที่มาของอำนาจหรือการบริหารจัดการก็ดี พลังประชารัฐไม่ใช่พรรคสืบทอดอำนาจเหมือนที่หลายพรรคต้องการให้เป็น พลังประชารัฐก่อตั้ง เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และการเลือกตั้งปี 62 ภายใต้กติกาและกฎเกณฑ์เดียวกันทุกอย่าง

สิ่งที่พรรคยึดมั่นและแสดงออกมาแล้ว ผ่านจดหมายน้อยแสดงความรู้สึกของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค เราเคารพหลักการประชาธิไตย และเคารพว่าประเทศจะต้องมีการเปลี่ยนผ่าน เราเคารพและเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องนำไปสู่รัฐบาลที่ดี รัฐบาลที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของพรรคการเมืองต่างๆ และคนในประเทศ

ในส่วนประเด็นอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ นั้น ความจริงแล้ว ส.ว.จะไม่มีบทบาทเลย หากสภาฯ สามารถรวมได้มากกว่า 250 เสียง ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 62 หากพลังประชารัฐรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง ส.ว.ไม่มีความหมาย ตนไม่ได้บอกว่า ตนเห็นด้วยหรือไม่กับการที่ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ แต่นั่นคือกลไกที่เกิดขึ้นแล้ว หากสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคก็สามารถพูดคุยกัน แต่ความจริงบทบาทของ ส.ว.เปลี่ยนไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงออก ส.ว.หลายคนประกาศไม่เลือกนายกฯ บางคนประกาศเคารพเสียงสภาฯ ล่าง

อย่างไรก็ตาม หากสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ พลังประชารัฐพร้อมร่วมปรึกษาหารือ และหากพรรคได้เป็นรัฐบาล เราจะดำเนินการแก้ไขในส่วนที่สร้างความคลางแคลงใจกับประชาชน ในส่วนที่ทำให้การเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยไม่ราบรื่น สิ่งที่พรรคเป็นห่วงคือไม่อยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้ หยิบจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญและพรรคการเมือง แล้วนำจุดอ่อนนั้นสร้างความแตกแยกในประชาชน แล้วนำไปสู่สิ่งที่เกิดขึ้นย้อนหลังไป 17 ปีที่ผ่านมา พลังประชารัฐมีจุดยืนจะทำทุกอย่างเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง

หลังจากนั้น นายสนธิรัตน์ เลือกนายจุรินทร์ ตอบคำถามเดียวกันต่อ โดยนายจุรินทร์ ตอบว่า เมื่อการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ปี 60 พรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดว่าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เพราะไม่เป็นประชาธิปไตยสากลที่ครบถ้วน และมีบทเฉพาะกาลที่จำเป็นต้องแก้ไขหลายประเด็น เมื่อประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลก็ประกาศชัดเจนต้องมีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.ต้องรับนโยบายประกันรายได้เป็นนโยบายรัฐบาล 2.ต้องบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และ 3.ต้องแก้รัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ประชาธิปัตย์มีแค่ 52 เสียง เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่จุดยืนเราชัดเจน เราร่วมกับหลายพรรคการเมือง และเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ แต่ผ่านแค่ร่างเดียวเกี่ยวกับรูปแบบการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม เราเห็นด้วยว่าควรมี 2 สภา แต่วุฒิสภาควรมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และตรวจสอบรัฐบาลเท่านั้น ไม่ควรมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งประชาธิปัตย์จะเดินหน้าแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป หากในอนาคตมีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พรรคไม่ขัดข้อง แต่มีเงื่อนไขสำคัญ คือต้องไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ