พบ “ไข่นกกระจอกเทศ” อายุ 4,000 ปี หลักฐาน “เมนูไข่” ยุคก่อนประวัติศาสตร์
พบ “ไข่นกกระจอกเทศ” – ซินหัว องค์การโบราณวัตถุอิสราเอล (ไอเอเอ) เปิดเผยการค้นพบ ไข่นกกระจอกเทศ เก่าแก่จำนวน 8 ฟอง ที่มีอายุย้อนไปกว่า 4,000 ปี ข้างหลุมไฟโบราณบริเวณจุดตั้งค่ายของชนเผ่าเร่ร่อน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในพื้นที่เนินทรายทางตอนใต้ของทะเลทรายเนเกฟ
รายงานระบุว่าไข่ฟองหนึ่งถูกพบในหลุมซึ่งบ่งชี้ถึงการนำมาปรุงอาหารที่ค่ายดังกล่าว โดยคณะนักวิจัยคาดการณ์ว่าการค้นพบนี้ถือเป็นร่องรอยทางโบราณคดีชิ้นแรกของการใช้ไข่ทำอาหารในยุคนั้น
องค์การโบราณวัตถุอิสราเอลระบุอีกว่าแหล่งโบราณคดีประเภทนี้ถูกเนินทรายกลบคลุมอย่างรวดเร็ว และสัมผัสกับการเคลื่อนตัวของทรายเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปี ทำให้ไข่อยู่ในสภาพสมบูรณ์เป็นพิเศษ
ขณะเดียวกันตำแหน่งและความใกล้กันของไข่แต่ละฟอง แสดงให้เห็นว่าไข่เหล่านี้ถูกรวบรวมอย่างตั้งใจมากกว่าจะเป็นการพบโดยบังเอิญ นอกจากนี้ยังมีการพบหินเผา หินเหล็กไฟ เครื่องมือหินและเศษเครื่องปั้นดินเผาใกล้กับไข่ด้วย ซึ่งทั้งหมดอาจถูกทิ้งไว้โดยกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อน
คณะนักโบราณคดีอธิบายว่าไข่นกกระจอกเทศถูกใช้ในพิธีฝังศพและพิธีบูชาสมัยโบราณ รวมถึงใช้เป็นของตกแต่ง กระติกน้ำ และอาหาร โดยไข่นกกระจอกเทศ 1 ฟองมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับไข่ไก่ปกติประมาณ 25 ฟอง
การค้นพบไข่นกกระจอกเทศส่วนใหญ่มักไม่พบกระดูกนกกระจอกเทศ จึงสันนิษฐานได้ว่ามนุษย์ยุคโบราณไม่ต้องการเผชิญหน้ากับนกกระจอกเทศ จึงเก็บเพียงไข่ของนกกระจอกเทศมาทำเป็นอาหารหรือสิ่งของต่างๆ ที่ต้องการเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อิสราเอลพบร่องรอย “การใช้ไฟ” ของมนุษย์โฮมินินโบราณ-เก่าแก่กว่า 8 แสนปี!
- อิสราเอลพบ “ซากท่อส่งน้ำโบราณ” เก่าแก่ 2,000 ปี-ยาวกว่า 21 กิโลเมตร