พบบ่อยในเด็ก! หมอเผยสัญญาณเตือน 'โรคติกส์' กล้ามเนื้อกระตุกแบบซ้ำๆ

Home » พบบ่อยในเด็ก! หมอเผยสัญญาณเตือน 'โรคติกส์' กล้ามเนื้อกระตุกแบบซ้ำๆ


พบบ่อยในเด็ก! หมอเผยสัญญาณเตือน 'โรคติกส์' กล้ามเนื้อกระตุกแบบซ้ำๆ

หมอเผยสัญญาณเตือน “โรคติกส์” ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกซ้ำๆ ทั้งกะพริบตา ยักคิ้ว กระตุกตามส่วนต่างๆ ร่างกายควบคุมไม่ได้ พบในเด็กวัยเรียน ควรรีบหาหมอ

เมื่อวันที่ 25 ต.ค.65 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคติกส์ เป็นโรคในกลุ่มการเคลื่อนไหวผิดปกติ (movement disorders) มักพบในเด็กวัยเรียน 5-7 ปี โดยมาในรูปแบบของการเคลื่อนไหวซ้ำรูปแบบเดิมที่ไม่มีจุดประสงค์ เช่น กะพริบตา ยักคิ้ว แสยะยิ้ม พยักหน้า ยักไหล่ กระโดดหรือมีอาการกระตุกตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ควบคุมไม่ได้

โดยส่วนมากผู้ป่วยมักมีความรู้สึกภายในบางอย่างนำมาก่อนที่จะเกิดอาการเคลื่อนไหว และเมื่อเคลื่อนไหวแล้วจะทำให้ความรู้สึกนั้นหายไป เหมือนได้รับการปลดปล่อย หากผู้ป่วยพยายามบังคับไม่เคลื่อนไหวจะทำให้รู้สึกอัดอั้นไม่สบายใจ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถที่จะอดกลั้นต่อความต้องการที่จะเคลื่อนไหวผิดปกติได้ในระยะเวลาสั้นๆ (temporary suppression) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคติกส์ โรคนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเสียบุคลิก ขาดความมั่นใจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเกิดความผิดปกติอื่นตามมา ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ผู้ป่วยบางรายอาจมาในรูปแบบการส่งเสียงที่ผิดปกติ เช่น กระแอม เสียงกลืนน้ำลาย หรือกรณีที่มีอาการมากอาจเป็นลักษณะการพูดซ้ำ พูดเลียนแบบ หรือพูดคำหยาบคาย เป็นต้น ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการแสดงทั้งการเคลื่อนไหวและการส่งเสียงผิดปกติ จะเรียกว่าโรคทูเร็ตต์ ในโรคกลุ่มนี้อาจมีอาการของกลุ่มโรคจิตเวชนำมาก่อน เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดโรคติกส์ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเกิดจากโรคเฉพาะตัวบุคคลที่เกิดภายหลัง เช่น เกิดจากการติดเชื้อในสมองตอนเด็กหรือเป็นโรคออทิสติก เป็นต้น โรคติกส์ที่เกิดในผู้ใหญ่ มักมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคติกส์ตอนเด็ก หรือผู้ป่วยบางคนมีรายงานว่าเกิดจากรอยโรค หรือเนื้องอกบางตำแหน่งในสมองได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อลดปัญหาหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ที่อาจตามมาในภายหลังได้

การรักษาที่ดีที่สุดคือการปรับพฤติกรรม เพื่อลดอาการที่นำมาก่อนการเคลื่อนไหว และเพิ่มระยะเวลาที่สามารถยับยั้งการเคลื่อนไหว หากยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ การใช้ยากลุ่มจิตเวช (anti-psychotics) เพื่อช่วยระงับการเคลื่อนไหวผิดปกติ เป็นทางเลือกที่มีประโยชน์

แต่ต้องติดตามผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยากลุ่มนี้ด้วย เช่น กลุ่มอาการพาร์กินสันเทียม กลุ่มอาการบิดเกร็ง เป็นต้น และควรรักษากลุ่มโรคจิตเวช (OCD, ADHA) ที่มาพร้อมโรคติกส์ด้วย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ