พบกลุ่มทุน – กลุ่มอิทธิพล ทำลายโบราณสถาน แต่ชาวบ้านปิดปากเงียบ

Home » พบกลุ่มทุน – กลุ่มอิทธิพล ทำลายโบราณสถาน แต่ชาวบ้านปิดปากเงียบ



สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา เข้าแจ้งความกับตำรวจสภ.สิงหนคร แล้วหลังพบกลุ่มทุน ร่วมกับกลุ่มอิทธิพล ลอบขุดทำลายโบราณสถานเขาแดง แต่ไม่มีใครกล้าให้ข้อมูล

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผอ.สำนักศิลปากร ที่ 11 สงขลา ได้มอบหมายให้นายนิรันดร์ นุ่มนวล นายช่างเทคนิคอาวุโส กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา เข้าแจ้งความกับตำรวจสภ.สิงหนคร กรณีมีผู้ลักลอบทำลายโบราณสถานเขาแดง ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 65 ที่ผ่านมา

นายพงศ์ธันว์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีการทำลายป่าไม้รวมถึงการลอบนำเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำการเปิดทาง ทำถนนบุกรุกเข้าสู่ภูเขา มีความกว้าง 4 เมตร ระยะทางยาว 1-2 กม. ขึ้นไปสู่ยอดเขา ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน เจดีย์องค์ดำองค์ขาว สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสงขลา โดยระหว่างตรวจสอบนั้นไม่พบผู้กระทำความผิดรวมถึงเครื่องจักรกลแต่อย่างใด

โดยคาดว่าน่าจะมีการใช้เวลาในการลักลอบบุกรุกโบราณสถาน แผ้วทางป่าและทำถนนบนภูเขานานนับเดือน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดในพื้นที่รับทราบหรือตั้งข้อสังเกตใด ๆ

นายพงศ์ธันว์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นนั้นพบปัญหาการบุกรุกโบราณสถานเขาแดงหลายจุด แต่ที่เป็นปัญหาและกระทบกับความเป็นโบราณสถานอย่างมากมี 2 จุด คือ การบุกรุกลักลอบขุดทำลายและปรับไถส่วนของภูเขาเป็นทางเดินรถกว้างประมาณ 3-4 เมตรมีจุดเริ่มต้นใกล้เคียงกับต้นทางขึ้นไปยังพื้นที่ขออนุญาตสร้างสถานีเรดาร์ของกองทัพเรือ

โดยลักลอบก่อสร้างเป็นทางประชิดแนวเขตของกองทัพเรือขึ้นไปตามไหล่เขาจนสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากฝั่งตำบลบ่อยางอำเภอเมืองสงขลา และอีกจุด เป็นการขุดทำลายภูเขาน้อยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานเขาแดง ให้เป็นทางเดินรถกว้างประมาณ 4 เมตรยาวประมาณ 220 เมตรมีเนื้อที่ความเสียหายประมาณ 3 ไร่

เหตุเกิดบริเวณพิกัด เหนือหรือบริเวณทางเดินเท้าเชื่อมระหว่างโบราณสถานป้อมหมายเลข 9 กับโบราณสถานบนภูเขาน้อยซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 10 มีโทษตามมาตรา 32 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535

มีความผิดในข้อหาปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ รุกล้ำที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินโดยไม่มีสิทธิ์หรือไม่ได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 ประกอบมาตรา 108 ทวิข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 11 ร่วมกับตัวแทนฝ่ายปกครองอำเภอสิงหนคร และตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนสภ.สิงหนคร ได้ร่วมกันลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบสภาพปัญหาทั้ง 2 จุด ซึ่งพบว่าสภาพป่าในโบราณสถานที่ถูกทำลายแปรสภาพเป็นถนนเข้ามาแทนที่ ซึ่งจากสภาพความกว้างของถนน เชื่อได้ว่าต้องมีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ามาดำเนินการ และใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน

โดยสภาพของโบราณสถานทั้ง 2 จุด นั้นมีชุมชนอยู่โดยรอบ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเชื่อว่าทราบข้อมูลดี ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มทุนร่วมกับกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ แต่ไม่มีใครกล้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ