พนักงาน เช็กเลย สิทธิการลางาน ใน 1 ปี ที่ทำงานให้ลาอะไรได้บ้าง

Home » พนักงาน เช็กเลย สิทธิการลางาน ใน 1 ปี ที่ทำงานให้ลาอะไรได้บ้าง

สิทธิการลางาน

เช็กเลย สิทธิการลางาน ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน ใน 1 ปี พนักงาน มีสิทธลาอะไรบ้าง และทางที่ทำงานให้วันหยุดอะไรบ้างตามกฎหมาย

หลายคนอาจสงสัยว่า ใน 1 ปี ทางบริษัท หรือ อ็อฟฟิต ที่เราทำงานอยู่นั้น ให้สวัสดิการตามกฎหมาย ในเรื่องของวันหยุด ร่วมไปถึง สิทธิการลางาน ทั้ง ลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน หรือ ลาคลอด เป็นต้นอย่างไร ซึ่งตามกฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้มีการกำหนดขั้นต่ำไว้ดังนี้

สิทธิการลางาน-1

สิทธิลาป่วย

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32 ประกอบมาตรา 57 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี ซึ่งการลาป่วยตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไปลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ดังนั้นหากเรายังใช้สิทธิ์ลาป่วยไม่ถึง 30 วันทำงานต่อปี และเป็นการลาที่ถูกต้องตามระเบียบของบริษัท บริษัทจะไม่มีสิทธิ์หักค่าจ้างในวันที่ลาป่วยนั้น

สิทธิลากิจ

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 34 ประกอบมาตรา 57/1 กำหนดให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี โดยมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 3 วันทำงานต่อปี แต่องค์กรสามารถกำหนดให้สิทธิ์พนักงานลากิจกี่วันก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี

สิทธิลาพักร้อน

ในทางกฎหมายเรียกว่า “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30 ประกอบมาตรา 56 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิ์หยุดพักผ่อนประจำปีได้ ปีละไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โดยลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติ ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวหรือตามที่บริษัทจะตกลงกับพนักงานก็ได้ นอกจากนี้ บริษัทอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พนักงานมากกว่า 6 วันทำงานก็ได้

  • ทนายรณณรงค์ ชี้ ขาดงาน 1 วัน พี่กบ บีบบังคับลูกจ้างลาออกไม่ได้
  • ย้อนคลิปซึ้ง น้องพลอยดูแลแม่ ก่อนถูก ‘พี่กบ’ หัวหน้าตามให้เซ็นใบลาออก
  • คุ้มครองแรงงาน ลุยโรงแรมดัง ร่วมสอบสวน คุณกบ ไล่พนักงานออก

สิทธิลาคลอด

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 41 ประกอบมาตรา 59 กำหนดให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์สามารถลาคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วันโดยให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย สิทธิการลาคลอดนี้พนักงานสามารถที่จะลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร การคลอดบุตรและพักฟื้นหลังคลอดบุตร  โดยพนักงานจะได้รับค่าจ้างจากองค์กรไม่เกิน 45 วัน และอาจเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากประกันสังคมได้ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนฐานเฉลี่ย (ถ้าเงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาทต่อ จะคิดจาก 15,000 บาทเท่านั้น) เป็นระยะเวลา 90 วัน

สิทธิลาทำหมัน

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 33 “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อทำหมันได้และมีสิทธิลาเนื่องจากการทำหมันตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนดและออกใบรับรอง” โดยการลาเพื่อทำหมันกฎหมายให้สิทธิ์เท่าเทียมกันทั้งชายและหญิง

สิทธิลาเกณฑ์ทหาร

มาตรา 35 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลา เพื่อรับราชการทหาร ในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบเพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ค่าจ่างการลาเพื่อรับราชการทหาร มาตรา 58 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ่างในวันลาเพื่อรับราชการทหารตามมาตรา 35 เท่ากับค่าจ่างในวันทํางานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินหกสิบวัน

สิทธิการลางาน-2

สิทธิวันหยุดประจำสัปดาห์

นายจ้างต้องจัดให้หยุด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับลูกจ้างรายวันไม่ได้รับค่าจ้าง งานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร นายจ้างลูกจ้างอาจจะตกลงสะสมวันหยุดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 4 สัปดาห์นั้น ตามมาตรา 28

สิทธิวันหยุดตามประเพณี

นายจ้างต้องประกาศกำหนดวันหยุด อย่างน้อยปีละ 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติแล้ว โดยได้รับค่าจ้าง ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ลูกจ้างจะได้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป กรณีนายจ้างไม่อาจหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลักษณะหรือสภาพงานตามที่กฎหมายกำหนด คือ งานในโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล สถานบริการท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง เป็นต้น นายจ้างลูกจ้างอาจตกลงได้ว่า จะให้ลูกจ้างหยุดวันอื่นชดเชยหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แทนก็ได้ ตามมาตรา 29 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 4

กรณีไม่กำหนดวันหยุด

นายจ้างมีความผิดและมีโทษทางอาญา ตามมาตรา 146 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 64 ว่าด้วย ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 62 และมาตรา 63 เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ