รู้ไหมว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM 2.5 ไม่เพียงแต่แพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย แต่ยังทำร้ายหัวใจได้ รุนแรงถึงขั้นหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) และหัวใจวาย (Heart Attack) เพราะฉะนั้นการหลีกเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 คือสิ่งที่ต้องตระหนักและระมัดระวัง เพื่อให้หัวใจของเราแข็งแรงไปอีกนาน
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ หัวหน้าศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) หรือฝุ่นในอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ระบุว่า มากกว่า 20% ของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ และทุกๆ ปี มีมากกว่า 3 ล้านคนที่เสียชีวิต โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า หากในอากาศมีฝุ่น PM 2.5 เกิน 10 – 25 ไมโครกรัมใน 1 ลูกบาศก์เมตรแล้วร่างกายได้รับเข้าไปติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการอักเสบ ส่งผลเสียต่อการแข็งตัวของเลือด การทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคปอด และโรคมะเร็ง
ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 กับหัวใจ
หากเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันจะส่งผลให้เส้นเลือดเปราะ เส้นเลือดแตก และในผู้ป่วยโรคหัวใจ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ฝุ่น PM 2.5 นี้ จะเข้าไปกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น ส่วนในระยะยาวผลกระทบจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ กระตุ้นการอักเสบทั่วร่างกาย หลอดเลือดหนาตัวมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อผนังหลอดเลือดเติบโตขึ้น มีอันตรายต่อร่างกายเทียบเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ ในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ
ข้อมูลจากสมาคมโรคหลอดเลือดหัวใจแห่งยุโรป (European Society of Cardiology – ESC) ระบุว่า มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตในยุโรปเพิ่มขึ้น มีอัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 800,000 คนต่อปี ด้วยวิธีการใหม่ของแบบจำลองผลกระทบที่หลากหลายของแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศภายนอกที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต พบว่า 40 – 80% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ(CVD) เช่น หัวใจวายและหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่า มลพิษทางอากาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นประมาณ 8.8 ล้านรายทั่วโลกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.5 ล้านคน นั่นหมายความว่าในแต่ละปีมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากกว่าการสูบบุหรี่ ซึ่งบุหรี่สามารถเลิกสูบได้ แต่มลพิษทางอากาศไม่สามารถเลี่ยงได้ มลพิษทางอากาศมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเกิดความเสียหายและเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย และหัวใจล้มเหลวในอัตราที่สูงขึ้น
วิธีป้องกันหัวใจจากฝุ่น PM 2.5
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีฝุ่น PM 2.5
- สวมหน้ากากหรือใช้ผ้าปิดจมูก
- ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ
- ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างใกล้ชิด 5.หากเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ทั้งนี้ นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ หัวหน้าศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 กับหัวใจ เมื่อร่างกายได้รับในปริมาณมาก จะทำลายหลอดเลือดและเยื่อบุหลอดเลือด เร่งการแข็งตัวของหลอดเลือด เร่งความเปราะของหลอดเลือดให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจล้มเหลว เพราะฉะนั้นการป้องกันตัวเองคือ สิ่งสำคัญ แม้ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจมีหลายข้อ แต่มลพิษทางอากาศคืออีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไม่ควรละเลย หากมีอาการผิดปกติควรเข้ามาพบแพทย์ทันที และถ้ารู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงโรคหัวใจ ควรตรวจเช็กหัวใจกับแพทย์เป็นประจำทุกปี