ฝรั่งเศสเรียกตัวทูตกลับจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เพื่อตอบโต้การถูกยกเลิกคำสั่งซื้อเรือดำน้ำ 12 ลำจากทางการออสซี่ที่จะเปลี่ยนไปใช้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แทน
กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯ และออสเตรเลีย กลับประเทศ เพื่อประท้วงการที่ 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ (AUKUS) มีการทำข้อตกลงด้านความมั่นคง และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลีย ทำให้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ 7 ในโลกที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และยกเลิกคำสั่งซื้อเรือดำน้ำ 12 ลำของฝรั่งเศส มูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
BRENDAN ESPOSITO / POOL / AFP
นายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ระบุในแถลงการณ์ว่า การตัดสินใจในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ตัดสินใจเรียกทูตฝรั่งเศสกลับประเทศ เนื่องจากสถานการณ์มีความน่ากังวล
ทั้งนี้ ในการแถลงข้อตกลงเมื่อวันพุธ (15 ก.ย.) โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร และนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย ทางการฝรั่งเศสได้รับแจ้งเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะมีการประกาศต่อสาธารณะ ซึ่งทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสเปรียบเทียบว่าเป็น “การแทงข้างหลัง” และถือเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ระหว่างพันธมิตร เพราะข้อตกลงระหว่าง 3 ประเทศมีผลโดยตรงต่อวิสัยทัศน์ที่ฝรั่งเศสมีต่อพันธมิตร ความเป็นหุ้นส่วน และยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกในยุโรป
ขณะที่ นายเคลมองต์ โบน รัฐมนตรีกิจการยุโรปของฝรั่งเศส กล่าวว่า ออสเตรเลียกำลังมีการเจรจาการค้ากับยุโรปในหลายประเด็น แต่ฝรั่งเศสไม่สามารถไว้วางใจพันธมิตรชาวออสเตรเลียได้อีกต่อไป
ด้านทำเนียบขาวสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนรู้สึกเสียใจกับท่าทีของฝรั่งเศสและจะมีการชี้แจงต่อฝรั่งเศสในเร็วๆ นี้ ส่วนนางมารีส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า ตนเข้าใจความผิดหวังของฝรั่งเศส และหวังว่าจะได้ชี้แจงกับฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม การเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศ ถือเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมากระหว่างพันธมิตร และยังเป็นครั้งแรกที่ฝรั่งเศสเรียกทูตกลับจากทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ นักการทูตชาวฝรั่งเศสในวอชิงตันยังยกเลิกงานกาลาเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และฝรั่งเศส ในคืนวันศุกร์ (17 ก.ย.) ด้วย