กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา จริง ๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นอะไร ก็แค่การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลตามธรรมชาติปกติ แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอในช่วงฤดูฝน เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะ “อุทกภัย” ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี จะท่วมมากหรือท่วมน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน ที่ต้องมาดูกันต่อว่าปีนั้น ๆ มีฝนชุก มีพายุชุมแค่ไหน หรือว่าค่อนข้างจะแห้งแล้ง แบบว่าหน้าฝนก็จริง แต่ฝนมาช้าและประมาณการณ์ว่าจะฝนตกน้อยลง โดยในปี 2566 นี้ ก็มีรายงานว่าปรากฏการณ์ลานีญาเริ่มอ่อนกำลังแล้ว ส่วนเอลนีโญเริ่มยกกำลังขึ้น มีผลให้ฝนที่จะตกในปีนี้ตกไม่มากเหมือนเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา
แม้จะดูเหมือนว่าในปีนี้ประเทศไทยน่าจะไม่เจอฝนตกอย่างหนักหน่วงเหมือนเมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว แต่ที่ผ่านมา แค่ฝนตกตามฤดูกาลธรรมดา ก็มีหลายพื้นที่ที่ต้องจมอยู่ใต้บาดาลนานนับเดือน ชุมชนที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำมักจะโดนก่อนเพื่อน สถานการณ์เช่นนั้นสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอยู่เสมอ โดยที่ประชาชนแทบจะไม่ได้เตรียมอพยพขึ้นที่สูงเลย อาจเป็นเพราะเข้าไม่ถึงการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าแบบนานหลาย ๆ วันได้ ว่าน้ำจะเอ่อล้นเข้าท่วมเขตที่อยู่อาศัยในตอนไหน
หน้าฝนปีนี้ พยากรณ์น้ำท่วมล่วงหน้าได้ตั้ง 7 วัน
เพราะอุทกภัยสามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงได้เสมอ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่าง Google จึงได้พัฒนาระบบการพยากรณ์น้ำท่วมขึ้นมาใช้งานตั้งแต่ปี 2018 โดยใช้ชื่อว่า Google Flood Hub เริ่มต้นพยากรณ์น้ำท่วมใหญ่ในอินเดียและขยายไปยังบังกลาเทศ เพื่อลดความเสียหายร้ายแรงจากน้ำท่วมประจำปี ต่อมาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงได้มีการทำแบบจำลองน้ำท่วมโดยอาศัยการคาดการณ์ของ AI และเครื่องมือการพยากรณ์ที่มีอยู่ และเปิดตัวระบบพยากรณ์น้ำท่วมขึ้นในปี 2022 เริ่มแรกมีประเทศที่สามารถใช้งานระบบนี้ได้เพียงแค่ 18 ประเทศ ก่อนที่จะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นทั่วโลกในเวลาต่อมา
ทำให้ปัจจุบันนี้ บริการระบบ AI พยากรณ์น้ำท่วม ได้ขยายเขตพื้นที่บริการครอบคลุมมากถึง 80 ประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกากลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย การเพิ่มพื้นที่บริการใหม่อีกกว่า 60 ประเทศ ได้แก่ประเทศที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมสูงหรือประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างหนัก โดยสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าก่อนเกิดน้ำท่วมได้ถึง 7 วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่พยากรณ์ล่วงหน้าได้แค่ 48 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อให้ระบบนี้เป็นเครื่องมือพยากรณ์น้ำท่วม และเตือนภัยพิบัติที่กำลังจะมาถึงในบริเวณที่อาศัยอยู่ ให้แก่ประชากรทั่วโลกถึง 460 ล้านคน
ปกติแล้ว การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทำให้เราไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นเมื่อไบ้าง และจะมีความถี่หรือมีความรุนแรงแค่ไหน แต่การที่เราสามารถรู้ล่วงหน้าได้นานถึง 7 วันว่าจะเกิดอุทกภัยในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ จะช่วยให้เราเตรียมตัวรับมือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงในความเสียหายท้งชีวิตและทรัพย์สิน ระบบนี้จะพยากรณ์ให้เราทราบว่ามวลน้ำที่อาจเอ่อท่วมในพื้นที่นั้นมีมากแค่ไหน และจะท่วมลึกแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนสูงของคนเรา
Google Flood Hub ทำงานอย่างไร
การทำงานของ Google Flood Hub ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และมีพื้นฐานมาจากรูปแบบการคำนวณตามหลักอุทกวิทยา ซึ่งปกติใช้ในการรายงานและทำนายระดับน้ำในแม่น้ำ ระบบมีรูปแบบการคำนวณตามหลักพยากรณ์น้ำท่วม ใช้ข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ มาวิเคราะห์พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และระดับความลึกของน้ำท่วมมาผสานเข้าด้วยกัน ส่วนการรายงานข้อมูลและการคาดการณ์ระดับน้ำของ Google Flood Hub ทาง Google ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปและหน่วยงานของรัฐสามารถใช้งานได้ฟรี เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการวางแผนอพยพในกรณีฉุกเฉิน
ภายในจะประกอบไปด้วยข้อมูลสาธารณะที่ดึงมาจากฐานข้อมูลต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งการพยากรณ์อากาศและภาพจากดาวเทียม จากนั้นเทคโนโลยี AI จะทำงาน โดยรวมแบบจำลอง 2 แบบเข้าด้วยกัน ได้แก่ “แบบจำลองอุทกวิทยา” ซึ่งคาดการณ์ปริมาณน้ำที่ไหลในแม่น้ำ และ “แบบจำลองน้ำท่วม” ซึ่งจะคาดการณ์พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบและความลึกของน้ำการให้ข้อมูลระดับน้ำในพื้นที่แหล่งน้ำต่าง ๆ ที่มักจะเป็นจุดที่เกิดน้ำท่วม โดยจะแสดงระดับน้ำในปัจจุบัน และข้อมูลคาดการณ์ล่วงหน้าสูงสุด 7 วัน ระบุป้ายตัวเลขกำกับระดับน้ำที่ควรเฝ้าระวัง และระดับน้ำที่เป็นอันตราย เพื่อให้ประชากรกว่า 460 ล้านคนทั่วโลกได้รับข้อมูลในการเตรียมรับมือกับอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที
ปัจจุบัน Google Flood Hub มีให้บริการในรูปแบบของเว็บไซต์ที่ใช้ฐานข้อมูลของ Google Maps มาประกอบ จึงยังไม่สามารถกดดูระดับน้ำจาก Google Maps ได้โดยตรง และยังอยู่ในช่วงพัฒนาขยายระบบพยากรณ์น้ำท่วมให้ทำงานร่วมกับ Google Search และ Google Maps เพื่อให้มีข้อมูลที่พร้อมใช้งานในเวลาที่ประชาชนต้องการมากที่สุด Google Flood Hub จึงเป็นอีกความก้าวหน้าของนวัตกรรมที่ช่วยประชาชนเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ สามารถเข้าไปดูการพยากรณ์น้ำท่วมได้ที่ g.co/floodhub (สามารถดูผ่านมือถือได้ตามปกติ)