ฝนตกหนักลมแรง กระโชกต้นทุเรียนหักโค่น ผลร่วงเกลื่อน ชาวสวนเร่งป้องกัน

Home » ฝนตกหนักลมแรง กระโชกต้นทุเรียนหักโค่น ผลร่วงเกลื่อน ชาวสวนเร่งป้องกัน



ยะลา เบตง ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง ทำให้ต้นทุเรียนหักโค่น ผลร่วงหล่นจำนวนมาก ชาวสวนเร่งหาวิธีป้องกัน ต้นทุเรียน ลูกหมอนทอง ใกล้เก็บขายสิ้นเดือนนี้ เกษตรอำเภอรุดสำรวจความเสียหาย

6 ก.ค.65 – ภายหลังจากเกิดฝนตกหนัก และมีลมกระโชกแรงเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุเรียนขนาดใหญ่ที่กำลังออกลูก หักโค่นลงมา ผลทุเรียนร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก

หลังได้รับรายงาน นายอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง พร้อม จนท.เกษตรอำเภอเบตง ลงพื้นที่ ม.2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา สำรวจความเสียหายสวนทุเรียนของ นายวิสุทธิ์ โชตน์ธนานันต์ นายวิสุทธิ์ โชตน์ธนานันต์

นายวิสุทธิ์ เล่าว่า เมื่อคืนฝนตกหนัก มีลมกระโชกแรง ทำให้ต้นทุเรียนหมอนทองขนาดใหญ่ที่กำลังออกลูก หักโค่นลงมา ทำให้ผลทุเรียนร่วงหล่น จำนวน 1 ตัน จากนั้นได้ให้คนงานในสวน ช่วยกันผูกเปลผลทุเรียน เร่งผูกโยงกิ่งต้นทุเรียนป้องกันกิ่งฉีกหัก ป้องกันความเสียหายจากฝนตกหนักลมพัดแรงในระยะนี้ รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย

เนื่องจากยังไม่ไว้ใจต่อสภาพอากาศในช่วงนี้ ที่อาจจะส่งผลกระทบให้กับต้นทุเรียนได้ อย่างน้อยก็ยังช่วยบรรเทาได้บ้าง โดยเฉพาะผลผลิตทุเรียนกำลังใกล้ที่จะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนสิ้นเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเตรียมจะส่งออกขาย ต้องหาทางป้องกันอย่างดีที่สุด เพื่อให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ต้นทุเรียนในสวนของตนหักโค่นลงมา 5 ต้น จากฝนที่ตกหนักและลมกระโชกแรง ส่วนผลทุเรียนที่ร่วงหล่นจะนำไปวางไว้รอบๆ โคนต้นทุเรียนแล้วราดด้วยน้ำ เพื่อทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์มีประโยชน์ต่อต้นทุเรียนอย่างมาก เพราะในผลทุเรียนมีทั้งโปรตีน น้ำตาล เป็นจำนวนมาก สำหรับค่าเสียหายครั้งนี้ ประมาณ 120,000 บาท

นายอารีฟ กล่าวว่า สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556

โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติและผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริงเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ