"ผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี" โรคพบบ่อยที่รักษาได้ แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

Home » "ผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี" โรคพบบ่อยที่รักษาได้ แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว



"ผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี" โรคพบบ่อยที่รักษาได้ แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

  • นิ่วในถุงน้ำดีอาจมีอาการคล้ายกับโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะอาหารอักเสบ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้องเป็นๆ หายๆ หากไม่แน่ใจควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

  • โรคนิ่วในถุงน้ำดี มีทั้งที่ไม่แสดงอาการและแสดงอาการ กรณีตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดี แต่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษา แต่มีโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดโรคอะไรหรือเกิดขึ้นเมื่อใด

  • การผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี จะมีแผลขนาดเล็กบริเวณช่องท้อง 3-4 แผลเท่านั้น ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย และฟื้นตัวได้เร็วกว่า จึงสามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทันทีภายใน 2-3 วันหลังผ่าตัด

ถุงน้ำดี (Gallbladder) เป็นอวัยวะบริเวณช่องท้องทำหน้าที่กักเก็บน้ำดีที่สร้างจากตับและถูกดูดซึมส่วนที่เป็นน้ำออกไป ทำให้น้ำดีเข้มข้นเพื่อพร้อมสำหรับย่อยอาหารประเภทไขมัน

นพ. ชินวัตร วิสุทธิแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อนุสาขาเวชบำบัดวิกฤต รพ. สมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า หากถุงน้ำดีเสียสมดุลหรือเกิดความผิดปกติอาจจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ที่พบบ่อยคือ โรคนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) ซึ่งโรคนิ่วในถุงน้ำดีสำหรับคนเอเชียนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ขณะที่โรคนี้ที่เกิดกับชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะเกิดจากการสะสมของคลอเลสเตอรอล แม้ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีบางคนอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลยตลอดช่วงชีวิต แต่หากนิ่วในถุงน้ำดีส่งผลให้ถุงน้ำดีทำงานผิดปกติและไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ ติดเชื้อ หรือรุนแรงถึงขั้นถุงน้ำดีเน่า ทำให้การรักษาซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น 

อาการแสดงของโรคนิ่วในถุงน้ำดี

  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง อาการเป็นๆ หายๆ คล้ายๆ กับอาการของคนที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะอาหารอักเสบ
  • ปวดท้องรุนแรงบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา จากการที่ถุงน้ำดีอักเสบเนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีไหลเลื่อนไปอุดตันท่อของถุงน้ำดี ทำให้น้ำดีที่เก็บอยู่ในถุงน้ำดีไม่สามารถไหลลงสู่ลำไส้เล็กได้
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง เนื่องจากนิ่วหลุดไปในท่อนน้ำดีทำให้ท่อน้ำดีอุดตัน
  • บางรายอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ   

ปัจจัยเสี่ยงของโรคนิ่วในถุงน้ำดี

  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • คนที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน
  • ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมัน และคลอเรสเตอรอลสูง
  • ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • การรับประทานยาลดไขมันบางชนิด
  • การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว
  • โรคเลือดบางชนิดที่มีการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงเร็วกว่าปกติ เช่น โรคธาลัสซีเมีย

การวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดี

เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ ร่วมกับการตรวจร่างกายและเจาะเลือด หากผลออกมาพบว่าผู้ป่วยเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยอัลตราซาวนด์บริเวณช่องท้องส่วนบน ซึ่งต้องงดอาหารล่วงหน้าอย่างน้อย 6 ชั่วโมง วิธีนี้เป็นวิธีที่แม่นยำมากกว่า 80% รวมถึงยังให้ผลที่รวดเร็วอีกด้วย

การรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี

  • การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด  เป็นการรักษาโดยใช้ยาละลายนิ่ว ซึ่งสามารถรักษาเฉพาะนิ่วที่เกิดจากคลอเลสเตอรอลเท่านั้น ส่วนใหญ่จึงไม่เหมาะกับการรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีของคนเอเชีย รวมถึงต้องใช้ยาในการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจสลายก้อนนิ่วไม่หมด และมีโอกาสกลับมาเป็นนิ่วซ้ำอีกได้เมื่อหยุดยา  ส่วนการใช้เครื่องสลายนิ่วก็ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากเครื่องสลายนิ่วใช้ได้ผลดีกับนิ่วในท่อไต แต่ไม่ได้ผลสำหรับนิ่วในถุงน้ำดี ดังนั้นการรักษาด้วยเครื่องสลายนิ่วและยาละลายนิ่วจึงไม่เป็นที่นิยม
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดีที่สุด ปัจจุบันสามารถทำการผ่าตัดได้ 2 วิธี คือ

    • การผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดโดยการส่องกล้องได้ เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ เคยผ่าตัดช่องท้องด้วยโรคอื่นๆ หรือมีความผิดปกติบริเวณรอบถุงน้ำดี เป็นต้น โดยศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดช่องท้องในแนวเฉียงบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือในแนวดิ่งบริเวณกลางท้องด้านบน ขนาดและความยาวของแผลจะขึ้นอยู่กับรูปร่างของผู้ป่วยและพยาธิสภาพของถุงน้ำดี
    • การผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง เป็นการเจาะรูเล็กๆ บริเวณช่องท้อง 3-4 แผล ขนาดเล็กเพียง 1-3 เซนติเมตร เพื่อใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปทำการรักษา

การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยการส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy)

ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดแบบ Minimal Invasive Surgery หรือ MIS เป็นการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย และฟื้นตัวได้เร็วกว่า จึงสามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทันทีภายใน 2-3 วันหลังผ่าตัด

ทั้งนี้ โอกาสของการผ่าตัดผ่านกล้องได้สำเร็จนั้นมีสูงถึง 95% แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีภาวะถุงน้ำดีอักเสบ มีพังผืดรอบถุงน้ำดีเป็นจำนวนมากหรือมีความผิดปกติอื่นๆ หลายภาวะอาจส่งผลต่อการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งแพทย์ไม่สามารถทราบล่วงหน้า อาจทำให้ระหว่างการผ่าตัดถุงน้ำดีต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจการพิจารณาของศัลยแพทย์ผู้ดูแลการผ่าตัด

การรักษานิ่วในถุงน้ำดีในปัจจุบัน ไม่แนะนำให้ใช้วิธีการเจาะเอานิ่วจากถุงน้ำดีออกโดยไม่ตัดถุงน้ำดี เนื่องจากนิ่วจะเกิดขึ้นใหม่ในเวลาไม่นาน ยกเว้นกรณีผู้ป่วยมีภาวะถุงน้ำดีอักเสบรุนแรง ร่วมกับมีร่างกายอ่อนแอมากจนไม่สามารถทนต่อยาสลบในการผ่าตัดใหญ่ได้ เช่นเดียวกับมีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้เลเซอร์เข้ามาช่วยในการผ่าตัด ซึ่งเลเซอร์เป็นเพียงเครื่องมือในการผ่าตัดเท่านั้น สามารถยิงทำลายเนื้อเยื่อผิดปกติหรือห้ามเลือด ไม่ใช่วิธีการผ่าตัดถุงน้ำดี

การดูแลหลังผ่าตัด

  • เมื่อผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ฟื้นจากยาสลบดีแล้ว อาจดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารเหลวได้เล็กน้อย
  • สามารถรับประทานยาแก้ปวดชนิดทานได้
  • กรณีการผ่าตัดมีความซับซ้อนมาก แพทย์อาจให้งดอาหารและน้ำต่ออีกประมาณ 24-48 ชั่วโมง
  • หากมีอาการเจ็บแผลมาก อาจได้รับยาแก้ปวดชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือทางสายน้ำเกลือเข้าสู่หลอดเลือดดำ
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และพบแพทย์ตามนัด

ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี

เมื่อตัดถุงน้ำดีออกแล้วมักไม่มีผลกระทบใดๆ กับการทำงานของร่างกายหรือการดำเนินชีวิตประจำวัน สำหรับภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดอาจเกิดขึ้นน้อยมาก เช่น

  • ท่อน้ำดีรั่ว
  • ภาวะตกเลือดในช่องท้อง
  • ท่อน้ำดีใหญ่อุดตัน จนเกิดอาการดีซ่าน
  • แผลติดเชื้อบริเวณใต้สะดือ

โรคนิ่วในถุงน้ำดี มีทั้งที่ไม่แสดงอาการและแสดงอาการ กรณีตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดี แต่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษา เพียงแต่ว่ามีโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดโรคอะไรหรือเกิดขึ้นเมื่อใด แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยอายุยังไม่มากและมีสุขภาพแข็งแรง หรือมีโรคเบาหวานร่วมด้วย เนื่องจากหากเกิดโรคแทรกซ้อนแล้วจะมีอาการรุนแรง หรือในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ เพราะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย ทั้งนี้การจะผ่าตัดหรือไม่จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วยเอง

การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญที่จะช่วยให้ตรวจพบโรคตั้งแต่เริ่มต้น เช่นเดียวกับกรณีมีอาการปวดท้องรุนแรง หรือมีภาวะบ่งชี้ หากไม่แน่ใจ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ   

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ