ผัก 4 ชนิด ที่จะเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการหลายเท่าเมื่อปรุงสุก แต่หลายคนยังเข้าใจผิดว่ากินแบบดิบ ๆ ดีกว่า
วิธีการปรุงและการบริโภคมีผลอย่างมากต่อปริมาณสารอาหารที่ร่างกายได้รับจากผักและผลไม้ บางชนิดควรกินดิบ แต่บางชนิดควรปรุงให้สุก
ดร.เอมี่ ไมเยอร์ส ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของสถาบัน Austin Ultrahealth สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผักแต่ละชนิดมีสารอาหารเฉพาะตัว และวิธีการปรุงมีผลต่อการดูดซึมสารอาหาร
เธอกล่าวว่า “การปรุงที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้สูญเสียสารอาหารและส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่การกินดิบไม่ได้หมายความว่าจะได้รับสารอาหารสูงสุดเสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก”
ผัก 4 ชนิดที่เมื่อปรุงสุกแล้วให้สารอาหารมากขึ้นและดีต่อสุขภาพ แต่กลับถูกเข้าใจผิดว่าควรกินดิบ
1. มะเขือเทศ
การกินมะเขือเทศทั้งดิบและสุกล้วนดีต่อสุขภาพ แต่จากการวิจัยพบว่ามะเขือเทศปรุงสุกให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่ามะเขือเทศดิบ เพราะการปรุงสุกช่วยเพิ่มปริมาณไลโคปีนได้ถึงประมาณ 35% ไลโคปีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมะเร็งบางชนิด อย่างไรก็ตาม ดร.เอมี่ เตือนว่าวิตามินซีในมะเขือเทศจะลดลงเล็กน้อยเมื่อปรุงสุก
วิธีแก้ไขคือปรุงมะเขือเทศในระยะเวลาสั้นๆ หรือทำเมนูซอสและซุป โดยเพิ่มน้ำมันมะกอกเพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดียิ่งขึ้น
Lisa Fotios
2. ผักโขม
ผักโขม จะให้ประโยชน์ทางสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการสูงสุดเมื่อปรุงสุก เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียม และแมกนีเซียม อีกทั้งใยอาหารในผักโขมสุกย่อยง่ายขึ้น และยังช่วยลดกลิ่นเฉพาะตัวที่บางคนไม่ชอบ
นอกจากนี้ ผักโขมดิบยังมีสารออกซาเลตที่ขัดขวางการดูดซึมแร่ธาตุที่มีอยู่ในตัวมันเอง และหากกินมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของตับและไตในระยะยาว หรือทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยและอ่อนเพลียชั่วคราว
ดร.เอมี่ แนะนำว่า การลวกหรือนึ่งจะช่วยให้คุณได้รับสารอาหารจากผักโขมอย่างเต็มที่และปลอดภัยยิ่งขึ้น
Nataliya Vaitkevich
3. แครอท
ดร.เอมี่ กล่าวว่า แครอทปรุงสุกไม่เพียงย่อยง่ายขึ้น แต่ยังช่วยปลดปล่อยเบต้าแคโรทีนมากกว่าการกินดิบ ซึ่งเบต้าแคโรทีนเป็นสารสำคัญที่เปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ
แม้การปรุงสุกจะทำให้วิตามินซีในแครอทสูญเสียไปบ้าง แต่ปริมาณที่สูญเสียไม่มาก โดยเฉพาะหากใช้วิธีนึ่งหรือปรุงให้พอดี ดร.เอมี่ แนะนำให้กินแครอทปรุงสุกเพื่อให้ได้รับสารอาหารสูงสุด
4. หน่อไม้ฝรั่ง
หลายคนเข้าใจผิดว่าการกินหน่อไม้ฝรั่งดิบจะช่วยรักษาสารอาหารได้ดีกว่า โดยเฉพาะในสลัด แต่ ดร.เอมี่ อธิบายว่า หน่อไม้ฝรั่งปรุงสุกให้คุณค่าทางโภชนาการมากกว่า เพราะช่วยปลดปล่อยสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามิน A, C, E และสารต้านอนุมูลอิสระ
การปรุงสุกช่วยทำลายโครงสร้างเซลล์ ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ หน่อไม้ฝรั่งสุกยังนุ่ม ย่อยง่าย และเหมาะสำหรับผู้ที่มีระบบย่อยอาหารอ่อนแอ ควรเลือกวิธีนึ่งหรือนำไปย่างเบาๆ เพื่อคงคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติที่ดีที่สุด