เฉลยข้อสงสัย ทำไมไม่เคยมีการค้นพบซากกระดูกผู้คนบน “เรือไททานิก” ที่ประสบอุบัติเหตุจมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อ 112 ปีก่อน ทั้งที่มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 1,500 คน
เชื่อว่าเป็นคำถามที่หลายคนก็สงสัยว่าทำไมจึงไม่มีโครงกระดูกใด ๆ เหลืออยู่ท่ามกลางเฟอร์นิเจอร์ จานชาม และสมบัติล้ำค่าที่จมลงไปพร้อมกับเรือสำราญสุดหรู “ไททานิก” ซึ่งประสบอุบัติเหตุชนภูเขาน้ำแข็ง จนจมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก ในปี พ.ศ. 2455
คาดว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,517 ราย และหลายคนถูกดึงเข้าไปในกระแสน้ำขณะที่เรือจมลงใต้น้ำที่เย็นจัด รวมถึงศพที่ติดอยู่ภายในเรือ ทำให้ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ร่างของพวกเขาจะถูกกระแสน้ำหรือซากสัตว์พัดพาไป
แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น ภาพจากเศษซากของเรือไททานิกก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีโครงกระดูกใด ๆ อยู่
สาเหตุของเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความลึกที่ซากเรือตกลงไปในน้ำ ซึ่งอยู่ลึกลงไป 3,800 เมตรในมหาสมุทรแอตแลนติก เพราะแบคทีเรียในทะเลที่ระดับน้ำลึกมาก ๆ นั้นสามารถย่อยสลายสารอินทรีย์หรือก็คือเนื้อหนังของผู้เสียชีวิตออกจากโครงกระดูก
ส่วนสาเหตุที่ทำให้แม้แต่กระดูกของผู้เสียชีวิตก็ยังไม่มีเหลือนั้น ก็เนื่องมาจากองค์ประกอบทางเคมีของน้ำทะเลที่จะเปลี่ยนแปลงตามระดับความลึกเป็นตัวการสำคัญ
โรเบิร์ต บัลลาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจทะเลลึก ผู้ค้นพบซากเรือไททานิกเป็นคนแรกในปี พ.ศ. 2528 อธิบายว่า น้ำทะเลที่อยู่ลึกลงไปจนถึงระดับหนึ่งนั้น สามารถสลายกระดูกมนุษย์ได้
เพราะน้ำทะเลที่อยู่ลึกมาก ๆ จะอยู่ในสภาพที่พร่องสารแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของน้ำทะเล ไม่เหมือนน้ำทะเลที่อยู่ด้านบนที่ผิวน้ำจะอิ่มตัวด้วยสารนี้
เนื่องจากสารแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูกคนและสัตว์ ดังนั้น เมื่อมีสิ่งมีชีวิตที่ตายหรือตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าและโดนกินเนื้อหนังจนหมด เหลือแต่กระดูก น้ำทะเลก็จะทำให้ชิ้นส่วนกระดูกละลายหายไปกลายเป็นหนึ่งเดียวกับน้ำทะเล
แต่ถึงแม้จะไม่พบซากชิ้นส่วนใด ๆ ที่บ่งบอกว่าเคยมีคนจำนวนมากที่จมลงพร้อมกับเรือไททานิก แต่ทีมสำรวจกลับยังคงพบเห็นข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ หลายชิ้นที่ยังคงทนทานต่อการกัดกร่อนของน้ำทะเลลึก เช่น รองเท้า เป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่ง พวกเขาเคยมีชีวิตอยู่บนเรือแห่งโศกนาฏกรรมลำนี้