จากกรณีที่เกิดข้อถกเถียงปมภาพถ่ายที่ปรากฏในรายการโหนกระแส ที่กลุ่มเพื่อนนำไปเปิด เกิดความสงสัยว่า เวลา 22.06-22.13 น. เหมือนไฟสะพานเปิดอยู่ แต่ตามปกติ ไฟจะปิดในเวลาประมาณ 21.00 น. และมีหลักฐานปรากฏว่า ไฟสะพานวันนั้นปิดในช่วงเวลา 21.00 น. แต่ก็มีกระแสว่า ภาพที่เห็นอาจจะเกิดจากการปรับแสงในกล้อง ส่วนแสงที่กระทบ เป็นแสงอื่นๆรอบๆ สะพานที่สะท้อนไปที่สายสลิง
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ต่อวงศ์ ซาลวาลา หรือ พี่หาว2how ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพและเทคโนโลยีดิจิตอล ให้ความรู้เรื่องภาพถ่ายจากมือถือ โดยระบุว่า ” ภาพที่ถ่ายจาก Smartphone รุ่นใหม่ ๆ นำมาอ้างอิงกับสถานการณ์จริง ๆ ค่อนข้างยากครับ เพราะมันผ่านการปรุงแต่งมาเกินกว่าที่ตาเราเห็น หรือสิ่งที่กล้องบันทึกภาพปกติจะทำได้
ภาพหนึ่งภาพของ Smartphone มันเกิดจากการบันทึกหลาย ๆ ภาพแล้วนำมารวมกัน โดยเลือกบางส่วนของแต่ละภาพด้วย AI แล้วนำมาประมวลผลเป็นภาพสุดท้ายอีกที อย่าง iPhone เวลาที่เราเปิด App Camera ขึ้นมา มันจะเริ่มบันทึกภาพวนไปทันที โดยที่เราไม่จำเป็นต้องกดชัตเตอร์ เพื่อที่มันจะประเมินสภาพแสง สิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ตรงนั้นล่วงหน้า ให้เราเห็นบนจอภาพ สังเกตได้ง่าย ๆ จากภาพที่เราเห็นบนจอ ต่างจากตาที่เราเห็นในหลายกรณี เช่น ภาพถ่ายกลางคืน
เมื่อเรากดชัตเตอร์ กล้องจะนำภาพที่ถ่ายวนไปก่อนหน้าบางส่วนมาร่วมประมวลผลกับภาพหลังจากกดชัตเตอร์ แต่ละภาพจะมีการตั้งค่าต่างกัน เช่น เก็บส่วนมืด ส่วนสว่าง ท้องฟ้า สีแสง ใช้ Lidar จำลองความลึก (Depth Map) การเคลื่อนไหวของวัตถุ ฯลฯ
จากนั้นใช้ AI แบบ ML ประมวลผลให้ เลือกส่วนที่เหมาะสมของแต่ละภาพที่บันทึก นำมาสร้างภาพใหม่ให้เราเห็นอีกที เหมือนในตัวอย่างภาพที่นำมาลง ถ้าถ่ายจากกล้องทั่วไป จะไม่ได้รายละเอียดในส่วนต่าง ๆ มากขนาดนี้ วัตถุ ถนน อาคารบ้านเรือน เห็นแม้กระทั่งรายละเอียดแสงดาวบนท้องฟ้า โดยใช้มือยกขึ้นถ่ายง่าย ๆ ไม่ต้องใช้ขาตั้ง
ลองพิสูจน์ง่าย ๆ จากการค้นภาพใน Album Smartphone ของเราก็ได้ครับ ลองหารูปที่มีคนกระพริบตา จะเห็นว่ามีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนที่ถ่ายจากกล้องปกติ ต้องนับแล้วนับอีก บอกคนในรูปว่าอย่ากระพริบตา แต่ก็ยังมีให้เห็นได้เต็มไปหมด ต่างจากภาพที่ถ่ายจาก Smartphone รุ่นใหม่ ๆ ทั้งนี้เป็นเพราะ AI มันเลือกรูปที่ดีที่สุดให้เราอย่างที่ได้อธิบายไว้
ข้อมูลพวกนี้สามารถหาได้ครับ เป็นข้อมูลที่เปิดเผย Apple เองก็นำเรื่องนี้มานำเสนอตอนเปิดตัว iPhone แทบทุกครั้ง มีคำนิยามเฉพาะว่า “Computational Photography”
กล้องถ่ายภาพในสมัยก่อนไม่กล้าที่จะนำเสนอตรงจุดนี้มาก เพราะดูว่าผิดขนบจากการถ่ายภาพทั่วไป แต่ก็มีใช้กันอยู่เป็นปกติ สำหรับกล้องรุ่นใหม่ ๆ อย่าง Olympus OM-1 ตอนนี้เขียนไว้ในเวบเป็นจุดขายเลยว่าใช้ Computational Photography
ภาพถ่ายจาก Smartphone จึงนำมาเทียบเคียงกับสถานการณ์จริงได้ค่อนข้างยากครับ เพราะมันผ่านการปรุงแต่ง และถูกจัดการด้วย AI มาเกินกว่าสิ่งที่เราเห็นตรงหน้ามากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ AI ที่ถูกฝึกมา อีกเรื่องคือ RAW ไฟล์ของ iPhone เป็นไฟล์ RAW ที่ถูกปรุงแต่งมาแล้ว ไม่ใช่ไฟล์ดิบเหมือนกับที่กล้องทั่วไปใช้ครับ ไม่สามารถตามต้นทางได้
หมายเหตุ : ภาพนี้ถ่ายจาก iPhone 12 Pro Max นานพอสมควรแล้วครับ Edit : เพิ่มเติมเผื่อมีคนสงสัยเรื่องการแก้ข้อมูลภาพบน EXIF file สามารถใช้ App 3rd Party แก้ไขเพิ่มเติมได้ครับ จะบันทึกซ้ำแบบถาวรก็ได้ (ใช้คอมพิวเตอร์ทำ) จึงอ้างอิงอะไรไม่ได้เช่นกัน และการแก้ไขวันเวลาบนภาพจาก Smartphone จะไม่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ เพราะแก้ไขในลักษณะดังกล่าว เป็นเพียงแก้ไขข้อมูลบนฐานข้อมูลของ Album ภาพ ไม่ได้แก้ที่ไฟล์โดยตรงครับ”