“อนุสรณ์ ธรรมใจ” คาด เศรษฐกิจไตรมาสสองอาจทรุดหนักถึงขั้นติดลบ จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกสาม ฉุดทั้งปีโตไม่เกิน 2%
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต คาดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสสองอาจทรุดหนักถึงขั้นติดลบได้ เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามและทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีไม่น่าจะถึง 2% ทั้งนี้ ต้องดำเนินมาตรการไม่ให้เกิดการตื่นกลัวเกินกว่าเหตุจนเกิดความชะงักงันทางเศรษฐกิจรุนแรง พร้อมมองว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไตรมาสสามอาจไม่เกิดขึ้น หากการแพร่ระบาดระลอกสามไม่สามารถควบคุมได้ภายในเดือนพฤษภาคม
ในสถานการณ์ที่ปัญหารุมเร้าเช่นนี้ จึงขอเสนอให้มีการใช้ยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ชดเชยรายได้ ชะลอการปิดกิจการรักษาการจ้างงาน โดย ข้อเสนอแรก ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 6% ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงอีก 1-2%
2 เก็บภาษีทรัพย์สินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตน้ำมัน
3.)ชดเชยรายได้ให้กับกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาทและได้รับผลกระทบไม่สามารถทำงานได้จากคำสั่งของรัฐเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
4.) ออกพันธบัตรระยะยาว 20-30 ปีกู้เงินเพื่อลงทุนทางด้านการศึกษา การวิจัย การสร้างนวัตกรรม ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่และผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม New S Curve
5.) ต้องยกระดับภาคเกษตรกรรมให้ผลิตสินค้ามูลค่าสูง แปรรูปเพิ่มมูลค่า ลงทุนระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ
6.) เร่งรัดในการออกกฎหมายเพื่อให้มีการพักการชำระหนี้สำหรับภาคท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง รวมทั้งธุรกิจที่เป็นหนี้เสียไม่สามารถชำระหนี้ได้จากผลกระทบของมาตรการของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาด
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การระบาดระลอกสามและการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด สะท้อนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในไทยและความเหลื่อมล้ำในเกือบทุกมิติ ซึ่งทุกๆ ครั้งจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา ไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย และ มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่มักจะก่อปัญหา ทำให้คนทั้งสังคมและเศรษฐกิจทั้งหมดเดือดร้อน การกระทำเหล่านี้เป็นการแสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อสังคม สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ