แม้ว่าอาหารเจจะเป็นอาหารสุขภาพ แต่หากผู้สูงอายุถ้ากินไม่ถูกหลักโภชนาการอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน
ผู้สูงวัยควร “กินเจ” อย่างไรให้ได้สุขภาพดี
-
หลีกเลี่ยงผักผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูง
ในกลุ่มผู้สูงอายุควรจะต้องระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ เพราะมักมีปัญหาท้องอืด อาหารไม่ย่อยเป็นพื้นฐานเดิมตามวัยอยู่แล้ว ดังนั้น หากทานผักผลไม้ที่มีกากใยมากจนเกินไป ก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องท้องอืดมากขึ้นกว่าเดิมได้ จึงอยากแนะนำให้ผู้สูงอายุเลี่ยงการรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยมากๆ รวมไปถึงการทานผักสดๆ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดหอม หากจะรับประทานควรนำมาปรุงให้สุกก่อน
-
หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง และไขมันสูง
สำหรับผู้สูงอายุที่ชอบรับประทานอาหารเจจำพวก ผัด ทอด หรือมีส่วนผสมของแป้งและนำไปทอดในน้ำมันปริมาณมาก แน่นอนว่าร่างกายจะได้รับสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตและไขมันที่สูงเกินความจำเป็น ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงปัญหาโรคไขมันในเลือดสูงอีกด้วย และอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ตามมา
-
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติหวานเค็มจัด
ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร ที่มีส่วนประกอบของแป้ง หรือรสชาติหวานมันมากเกินไป เช่นเดียวกันกับผู้สูงอายุที่เป็นโรคไต ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารเจที่มีรสเค็ม
-
หลีกเลี่ยงอาหารทอด ผัด
การรับประทานอาหารเจสำหรับผู้สูงวัย ควรได้รับสารอาหารครบถ้วนและมีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่พอเหมาะ เน้นรับประทานอาหารเจจำพวก ต้ม นึ่ง ย่าง ยำ หลีกเลี่ยงอาหารทอด หรือผัด ร่วมกับการรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ ก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีทั้งกายและใจตลอดช่วงเทศกาลกินเจ