ผู้ว่าฯ โคราช สั่งปิด 12 สถานประกอบการ ล้างถังสารเคมีลงคลอง พร้อมแจ้งดำเนินคดี ไม่มีใบอนุญาต และครอบครองโดยผิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 นายวิเชียร จันทรณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา), สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ, อุตสาหกรรมจังหวัดฯ, ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด, อำเภอสีคิ้ว และ อบต.หนองหญ้าขาว ลงพื้นที่ตรวจสอบหมู่บ้านซับชุมพล หมู่ 9 ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กรณีมีการร้องเรียนจากชาวบ้านหลายรายในพื้นที่บ้านซับชุมพลว่า มีการนำถังคล้ายถังสารเคมีมาล้างและนำกลับไปใช้ใหม่ เกรงว่าจะได้รับผลกระทบเกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
จุดแรกลงพื้นที่ตรวจสอบ คือคลองอีสานเขียว เป็นแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงสถานประกอบกิจการล้างถัง และมีบ่อเก็บน้ำเสียอยู่ติดกัน 2 บ่อ พบมีสภาพดำคล้ำเป็นคราบ มีร่องรอยการรั่วไหลของน้ำเสียลงสู่คลองอีสานเขียว ก่อนหน้านี้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมา ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ และพบว่ามีร่องรอยการรั่วไหลของน้ำทิ้งจากสถานประกอบการล้างถัง ไหลลงสู่คลองอีสานเขียวจริง
ส่วนการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำคลองอีสานเขียวบริเวณใกล้กับสถานประกอบการล้างถัง กลับมีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงเสื่อมโทรมมาก ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนักของน้ำ มีค่าแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานน้ำดื่มที่กรมอนามัยกำหนด บ่งชี้ว่าน้ำในคลองอีสานเขียวมีคุณภาพไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์หรือการบริโภค
จากนั้นไปตรวจบ้านเรือนที่ประกอบกิจการล้างถังสารเคมีที่ติดกับคลองอีสานเขียว โดยผู้ประกอบการ 2 ราย ทำบ่อบำบัดน้ำเสียไม่ได้มาตรฐาน สภาพน้ำในบ่อเกรอะ บ่อกัก บ่อเก็บน้ำทิ้ง ยังมีสภาพดำเสีย และเป็นฟอง มีสารปนเปื้อนโลหะหนักอยู่เป็นปริมาณมาก แม้ว่าจะพยายามทำบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่ม แต่ยังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ รวมทั้งนำปูนขาวมาโรยบริเวณพื้นที่อยู่ติดกับคลองอีสานเขียว เพื่อซับความชื้นให้แห้ง แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ปัจจุบันมีอยู่ 13 ราย ที่ล้างถังสารเคมีเป็นกิจการเป็นครัวเรือน มีเพียง 1 รายที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ส่วนอีก 12 รายไม่มีใบอนุญาต ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า ไปรับถังบรรจุสารพิษมาจากที่ใด และจะหาทางออกร่วมกันกับหน่วยงานและชาวบ้าน เพื่อวางแนวทางปรับปรุงแก้ไขที่ชัดเจนเหมาะสมอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษขึ้นในชุมชน
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวภายหลังการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการ และชาวบ้านในพื้นที่ ว่า จากการตรวจสอบพบว่าถังที่ผู้ประกอบการนำมาล้างเหล่านี้ เกือบทั้งหมดเป็นถังควบคุมที่ปกติจะต้องได้รับอนุญาตให้นำออกจากโรงงานมาเท่านั้น แต่ชาวบ้านไม่มีใบอนุญาตให้นำออกมา จึงถือว่ากระทำผิดกฎหมาย
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.สีคิ้ว เพื่อดำเนินคดีกับผู้ประกอบการทั้ง 12 ราย เนื่องจากนำถังที่บรรจุสารเคมีอันตราย ออกมาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ขณะเดียวกันในพื้นที่บ้านซับชุมพล ม.9 ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว มีผู้ประกอบการล้างถังสารเคมีอยู่ทั้งหมด 13 ราย แต่มี 1 รายเท่านั้นที่มีใบอนุญาตประกอบการตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ประเภท 106 ส่วนอีก 12 รายที่เหลือ ไม่มีใบอนุญาต และขัดต่อ พ.ร.บ.สาธารณสุข ปี 2535
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ตนสั่งการให้ อบต.หนองหญ้าขาว ให้สั่งปิดกิจการล้างถังบรรจุสารเคมีทั้งหมดทันทีโดยไม่มีกำหนด แล้วดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ส่วนปัญหาทางสังคมสำหรับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยากให้มีการตรวจสุขภาพว่าที่ผ่านมาได้รับสารเคมีอะไรไปมากน้อยเพียงใดนั้น จะประสาน รพ.สต.ในพื้นที่มาตรวจสุขภาพให้ชาวบ้านอีกครั้ง และสั่งไม่ให้มีการนำถังบรรจุสารเคมีลักษณะนี้มาล้างในพื้นที่อีกต่อไป
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องลักลอบนำถังสารเคมีมาล้างในระหว่างคำสั่งปิดกิจการนั้น คงจะทำไม่ได้ เพราะเป็นถังขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ทั้ง อบต.หนองหญ้าขาว และเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ตนได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลองไปดูกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือไปหาแหล่งที่มีถังชนิดเดียวกัน ที่ไม่ใช่ถังบรรจุสารเคมีอันตราย เช่น ถังบรรจุน้ำ หรือบรรจุอาหารต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีแหล่งรับซื้อถังเหล่านั้นมาล้างแทนได้ แต่ในการล้างต้องมีการควบคุมระบบบำบัดน้ำเสีย ให้ได้มาตรฐานตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาในภายหลังได้
ส่วนเรื่องผลกระทบด้านอาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพด้านประมงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสีย จนไม่สามารถหาปลา หรือสัตว์น้ำได้เหมือนเดิม หรืออาชีพเกษตรกรรม ก็อาจจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งจะได้ให้หน่วยงานสาธารณสุขไปตรวจสุขภาพให้อีกครั้ง
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น ต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ คือการไม่ปล่อยให้มีถังบรรจุสารเคมีออกมาจากโรงงาน แล้วมากระจายอยู่ตามร้านขายของเก่าทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ตนจะทำเรื่องเสนอต่ออธิบดีกรมควบคุมมลพิษว่า ผู้ที่จะนำถังบรรจุสารเคมีอันตรายออกมาได้ ต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น ถ้าไม่มีใบอนุญาตต้องห้ามนำออกมา เพื่อตัดวงจรต้นเหตุของปัญหาเหล่านี้ออกไป จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ด้านนายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ ว่าพบมีถังบรรจุสารเคมีอันราย ทั้ง 9 ประเภท ที่ถูกควบคุมโดยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2548 เล็ดลอดออกมาสู่ผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน สารเคมีเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อสุขภาพชาวบ้านอย่างรุนแรง ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) จึงจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบคลองอีสานเขียว และอ่างเก็บน้ำซับกระบุตร พบว่ามีสารปนเปื้อนยังไม่เกินมาตรฐาน
นายธนัญชัย กล่าวอีกว่า จากสภาพปัจจุบันหากไม่มีการควบคุมกระบวนการล้างอย่างถูกต้อง ก็มีความน่าเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคต ซึ่งการล้างถังบรรจุสารเคมีอันรายเหล่านี้จะต้องถูกนำมาล้างตามกระบวนการของโรงงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น และจะต้องถูกควบคุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทาง ขนส่ง และกำจัด ไม่สามารถกระจายออกมาสู่ชุมชนภายนอกได้
ส่วนนางดาวันย์ จันทร์หัสดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า การประชุมแก้ไขปัญหาในวันนี้ ตนรู้สึกพบใจในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมายทั้ง 12 ราย และ 2.ให้ อบต.หนองหญ้าขาว สั่งผู้ประกอบการทั้ง 12 รายให้ปิดกิจการอย่างไม่มีกำหนด
นางดาวันย์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนนัก แต่ถือว่ายังดีกว่าไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย ตนรู้สึกเป็นห่วงชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เพราะหลายคนไม่กล้าที่จะออกมาร้องเรียนเพราะกลัวจะถูกคุกคาม ต้องขอให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลในส่วนนี้ด้วย
ขณะที่ น.ส.ปิยะนันท์ ดั้งขุนทด อายุ 34 ปี หนึ่งใน 12 ผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาต กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สั่งให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาตทั้ง 12 ราย หยุดดำเนินการล้างเป็นการชั่วคราวก่อน ตนก็พร้อมที่จะทำตาม แต่ระหว่างนี้อยากจะหาทางออกว่าถังที่สต๊อกอยู่จำนวนมาก เช่นที่บ้านของตนเองก็มีถังสต๊อกอยู่มูลค่ากว่า 50,000 บาท จะให้ทำอย่างไรเพราะเป็นต้นทุนทั้งหมด และทุกคนต้องกินต้องอยู่ จึงปรึกษากับผู้ว่าฯ ซึ่งท่านอนุญาตให้นำไปขายต่อได้ แต่ต้องไม่ผ่านการล้างใดๆ ทั้งสิ้น ก็พอที่จะรับได้
น.ส.ปิยะนันท์ กล่าวต่อว่า ส่วนถังบรรจุสารเคมีเหล่านี้ พวกตนรับซื้อมาจากร้านขายของเก่า ซึ่งไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขาไปรับมาจากไหนบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นถังใส่สารเคมี ที่เป็นสารตั้งต้นสำหรับทำน้ำยาปรับผ้านุ่ม พวกตนเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นสารเคมีอันตรายมากนัก หรืออาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงนำมาล้างขายตามปกติ แล้วนำไปขายให้กับผู้ที่จะนำไปใช้ในการเกษตรทั่วไป ซึ่งพอได้กำไรบ้าง แต่เมื่อมาสั่งให้หยุดกิจการเช่นนี้ ทำให้พวกตนเองได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก