ผู้ว่าฯ อุบลราชธานี เผยผลตรวจโรงงานผลิตน้ำดื่ม หลังเจอปลาตัวเป็น ๆ ว่ายอยู่ในถังน้ำดื่มขนาด 10 ลิตร กำชับเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วย
จากกรณีมีการแชร์คลิปปลาอยู่ในถังน้ำดื่มขนาด 10 ลิตร โดยระบุเป็นน้ำดื่มธรรมชาติที่นำมาขายให้กับชาวบ้านในตำบลท่าลาด อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จนกลายเป็นกระแสวิจารณ์ถึงความไม่สะอาดของการผลิตน้ำดังกล่าว ต่อมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าตรวจสอบพร้อมทั้งสั่งหยุดขบวนการผลิตทั้งหมด จนกว่าจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของ อย.ก่อน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น อ่านข่าว : สสจ.อุบลฯ เต้น สั่งหยุดขาย ไปตรวจถึงที่ หลังเจอปลาในถังน้ำดื่ม โรงงานปิดเงียบ
ล่าสุดวันที่ 27 ธ.ค.2564 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านใน ต.ท่าลาด อ.วารินชำราบ พบปลาว่ายอยู่ในถังน้ำดื่มขนาด 10 ลิตร ซึ่งผลิตมาจากโรงงานผลิตน้ำดื่มกองทุนหมู่บ้านตามโครงการเศรษฐกิจฐานรากพลังประชารัฐ จำหน่ายให้สมาชิกในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่สำนักงาน อย. ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเข้าตรวจสอบพบว่า เป็นเรื่องจริง
นายพงศ์รัตน์ กล่าวต่อว่า จึงติดตามไปตรวจสอบที่โรงงานผลิตน้ำดื่ม พบใช้ระบบการผลิตแบบ RO ซึ่งถือมีมาตรฐาน และใช้น้ำดิบจากน้ำบาดาลต่อท่อเข้ามาบรรจุลงถัง เมื่อตรวจตามท่อไม่พบรอยรั่ว จึงเป็นไปได้ว่า ผู้ที่ซื้อน้ำดื่มไปกินเอาถังไปใส่ปลาเลี้ยงแล้วเอาออกไม่หมด เมื่อโรงงานรับถังกลับมาบรรจุใหม่ ซึ่งต้องล้างถังฆ่าเชื้อ ก่อนนำเข้าสู่ระบบบรรจุใหม่ แต่คาดว่าอาจไม่ได้ล้างถังให้สะอาด ทำให้ยังมีปลาตัวเป็น ๆ ติดอยู่ที่ก้นถัง อ่านข่าว : น้ำดื่มธรรมชาติมาก! สั่งน้ำดื่มมากิน เจอลูกปลาตัวเป็นๆ ว่ายน้ำอยู่ในถัง
นายพงศ์รัตน์ กล่าวอีกว่า เมื่อตรวจสอบปรากฏโรงงานไม่มีใบอนุญาตการผลิตตามกระบวนการของ อย. จึงสั่งหยุดให้ปรับปรุงและดำเนินการขออนุญาต เพื่อผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐาน และผู้ควบคุมการผลิตต้องเข้ารับการอบรมก่อนเปิดดำเนินการ เพราะถือเป็นของใช้บริโภค และเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของประชาชนผู้บริโภค
“ปัจจุบันจังหวัดมีโรงผลิตน้ำบรรจุขวดและถังปิดสนิทได้รับอนุญาตจำนวน 390 โรง และเป็นโรงงานผลิตน้ำแข็งอีก 40 โรง จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกพื้นที่ตรวจสอบ หากพบโรงงานผลิตน้ำหรือน้ำแข็งที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการผลิตและเข้ามารับคำแนะนำวิธีการปรับปรุงกระบวนการ เพื่อขอใบอนุญาตผลิตให้ถูกต้องก่อน” นายพงศ์รัตน์ กล่าว